จะเห็นได้ว่าร้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย จะต้องมีป้ายชื่อร้าน หรือป้ายตั้งหน้าร้านเพื่อให้ผู้คนเห็นร้านชัดเจน และโฆษณาร้านของตนเองด้วย ไม่เว้นแม้แต่ร้านเสริมสวยก็มีป้ายชื่อร้าน ป้ายโฆษณาหน้าร้านอยู่ทุกร้าน เหมือนเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของร้านเสริมสวยที่สืบต่อกันมา โดยลืมเรื่อง ภาษีป้ายร้านเสริมสวย ไปอย่างสิ้นเชิง
กล่าวคือร้านเสริมสวยส่วนใหญ่ไม่ได้เสียภาษีป้ายเลย ซึ่งตามกฎหมายถือว่ามีความผิด จะต้องเสียภาษีป้ายเพิ่มจากที่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว ในอัตราค่าปรับคือ
– ไม่ยื่นแบบภายในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียค่าปรับ 10% ของค่าภาษี
– ไม่ชำระเงินค่าภาษี หลังจากที่ยื่นแบบภายใน 15 วัน จะต้องเสียค่าปรับ 2% ต่อเดือนของค่าภาษี
– ถ้ายื่นภาษีไม่ตรงตามความเป็นจริง จะต้องเสียค่าภาษีที่ขาดไป และเสียค่าปรับอีก 10% ของค่าภาษี
เจ้าของร้านเสริมสวยต้องเข้าใจ และไม่ลืมจ่าย ภาษีป้ายร้านเสริมสวย ทุกปี หากลักษณะป้ายร้านของตนเองเข้าหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยมีรายละเอียดดังนี้
ภาษีป้ายคืออะไร
“ภาษีป้าย” เป็นภาษีที่จัดเก็บจากป้ายโฆษณาสินค้าต่างๆ เช่น ป้ายชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือโลโก้บนวัตถุต่างๆ ที่ประกอบด้วยอักษร ภาพ ไม่ว่าจะเป็นป้ายทั่วไป ป้ายบนทางด่วน ป้ายผ้าใบ รวมถึงป้ายไฟที่ใช้เพื่อหารายได้หรือการโฆษณา
โดยผู้ที่เป็นเจ้าของป้ายที่นำมาติดจะต้องเป็นผู้ที่เสียภาษีป้าย แม้จะเป็นป้ายขนาดเล็ก หรือเป็นป้ายผ้าใบขนาดใหญ่ ก็ต้องเสียภาษีป้ายทั้งคู่ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือเจ้าหน้าที่ไม่สามารถหาเจ้าของป้ายได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้เสียภาษี
หรือถ้าหากไม่สามารถหาตัวผู้ครอบครองป้ายได้ หากป้ายติดอยู่ที่ไหน เช่น หน้าอาคาร บนที่ดินที่ติดตั้ง ให้ถือว่าเจ้าของสถานที่นั้นๆ เป็นเจ้าของป้าย และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายนั่นเอง
ลักษณะป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี
เนื่องจากลักษณะป้ายที่นำมาติดหรือวางไว้ตามสถานที่ต่างๆ นั้น มีหลากหลายรูปแบบและสถานที่ว่างแตกต่างกัน บ้างตั้งติดถาวร หรือบางแห่งก็เคลื่อนยายได้ตามวาระและโอกาส ตามงานที่ใช้ป้ายเป็นครั้งคราวก็มี ซึ่งกฎหมายได้มีข้อยกเว้นไม่เก็บภาษีป้ายที่ติดตามพื้นที่ต่างๆ สำหรับป้ายที่มีเข้าข่าย ดังนี้
1) ป้ายที่ติดในอาคาร
2) ป้ายที่มีล้อเลื่อน (ต้องมีการเลื่อนป้ายเข้าออก)
3) ป้ายตามงานอีเวนท์ที่จัดเป็นครั้งคราว
4) ป้ายของทางราชการ
5) ป้ายของโรงเรียนทั้งรัฐและเอกชน
6) ป้ายวัด สมาคม มูลนิธิ
7) ป้ายที่ติดหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์
8) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจากข้อ 7) โดยมีพื้นที่ไม่เกิน 500 ตร.ซม.
และอื่นๆ ตาม พ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 กำหนด
ภาษีป้ายร้านเสริมสวย และป้ายทั่วไป แบบไหนเสียภาษีเท่าไร
1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
1.1 ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม.
1.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 1.1 อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น
2.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 2.1 อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
3.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 3.1 อัตราภาษีป้าย 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
วิธีการยื่นเสียภาษีป้ายร้านเสริมสวย และป้ายอื่นๆ
เจ้าของกิจการร้านเสริมสวยเมื่อติดตั้งป้ายใหม่หรือแสดงป้ายใหม่ จะต้องชำระภาษีป้ายร้านเสริมสวย และป้ายอื่นๆ ต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 15 วัน และจะต้องยื่นชำระภาษีป้ายทุกปีที่ยังติดตั้งป้าย ซึ่งสามารถทำการยื่นขออนุญาตติดตั้งได้ตามวิธีการดังนี้
1.ขอคำอนุญาต โดยแจ้งขนาด พร้อมด้วยภาพถ่ายหรือภาพสเกตช์ของป้าย และแผนผังที่ตั้งของป้ายกับสำนักงานเขตที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่ หรือพื้นที่ต่างจังหวัด ให้ยื่นที่สำนักงานเทศบาล หรือสุขาภิบาล หรือ อบต.ที่ดูแลพื้นที่ที่ป้ายนั้นติดตั้งอยู่
2.ยื่นแบบฟอร์มชำระภาษีป้าย (ภ.ป.1) ซึ่งประกอบด้วย
– บัตรประจำตัวประชาชน
– สำเนาทะเบียนบ้าน
– เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ทะเบียนการค้า
– หนังสือรับรองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (กรณีนิติบุคคล)
– รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดกว้าง x ยาว
– ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
ในกรณีที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้ว ให้นำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายจากปีก่อนมาแสดงด้วย
3.ชำระภาษีป้ายที่สำนักงานเขต หรือผ่านธนาคารกรุงไทย
– หากเป็นป้ายที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน
– หากเป็นป้ายที่ชำระภาษีต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี
– หากเป็นป้ายที่ชำระภาษีประจำปี และต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายให้แจ้งภายใน 15 วัน
– หากมีการยกเลิกใช้ป้าย เนื่องจากเลิกกิจการให้แจ้งภายในเดือนธันวาคมของทุกปี
4.สามารถแบ่งชำระได้ เป็น 3 งวด หากภาษีป้ายที่ต้องชำระมากกว่า 3,000 บาท
5.เสียภาษีอย่างต่ำ 200 บาท ในกรณีที่เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีที่ขั้นต่ำจำนวน 200 บาท
สรุป… ยังต้องติดป้ายแสดงราคาค่าบริการ และข้อกำหนดอื่นๆ ที่ห้ามปล่อยผ่าน
นอกจากป้ายชื่อร้านที่ต้องเสียภาษี กฎหมายยังกำหนดให้กิจการที่ทำธุรกิจบริการตัดผมและเสริมสวย ต้องติดป้ายแสดงราคาค่าบริการให้เห็นชัดเจนในที่เปิดเผย ณ สถานที่ตั้ง หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
รวมถึงกฎและระเบียบด้านสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สวัสดิการและการคุ้มครองแรงงานที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด และอย่าลืมจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับร้านเสริมสวยด้วย (บทความ “เปิดร้านทำผมต้อง… จดทะเบียนร้านเสริมสวย อะไรบ้าง”) เพื่อให้ดำเนินกิจการได้อย่างราบรื่นถูกกฎหมาย และหลีกเลี่ยงค่าปรับภาษีป้ายร้านเสริมสวยโดยไม่รู้ตัว