ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ทำงาน ฟรีแลนซ์หักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างไร

ฟรีแลนซ์หักภาษี ณ ที่จ่าย

เนื่องจากงานฟรีแลนซ์เป็นงานบริการ จึงต้องมีภาษีหัก ณ ที่จ่ายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่ง ฟรีแลนซ์หักภาษี ณ ที่จ่าย ได้ หากจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินค่าบริการ ส่วนฟรีแลนซ์ในนามบุคคลธรรมดา ไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้เมื่อมีการจ่ายเงิน

ทั้งนี้ ในด้านของฟรีแลนซ์ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ทั้งฟรีแลนซ์ในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เมื่อให้บริการได้รับเงินค่าจ้างจากลูกค้าหรือผู้จ้าง ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ ฟรีแลนซ์หักภาษี ณ ที่จ่าย และถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จะแตกต่างกันไปตามอัตราที่กฎหมายกำหนด        

ความหมายของ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย หรือภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เป็นการเสียภาษีที่ผู้จ่ายต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และหักภาษีไว้ก่อนจ่ายเงิน ให้กับผู้รับเงิน ทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จากนั้นนำเงินที่หักไว้ส่งให้กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7-15 ของทุกเดือน 

ส่วนธุรกิจบริการอย่างเช่นการรับงานฟรีแลนซ์ ผู้มีรายได้ทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากลูกค้าที่เป็นนิติบุคคล โดยเมื่อฟรีแลนซ์ถูกหัก ณ ที่จ่ายแล้วจะต้องได้รับเอกสาร 50 ทวิ ไว้เป็นหลักฐานเพื่อใช้ยื่นภาษีช่วงสิ้นปี 

โดยหลังจากที่นิติบุคคลหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่น ภ.ง.ด.3 กับ ภ.ง.ด.53  โดยมีความแตกต่างกันคือ

– ภ.ง.ด.53 เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับนิติบุคคล ทั้งบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

– ภ.ง.ด.3 เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดา เช่น มีการจ้างลูกจ้างรายวันหัก 3% แล้วนำส่ง ภ.ง.ด.3 ให้กับกรมสรรพากรในเดือนถัด 

ฟรีแลนซ์ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อผู้ใช้บริการเป็นนิติบุคคล

เมื่อนิติบุคคลจ่ายค่าบริการให้กับฟรีแลนซ์ ไม่ว่าจะเป็นในนามบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ฟรีแลนซ์จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อส่งกรมสรรพากร โดยกฎหมายกำหนดว่า ผู้ที่เป็นฟรีแลนซ์ หรืออยู่ในประเภทรับเหมาหรือบริการ เช่น การจ้างผลิตสินค้า จ้างทำนามบัตร จ้างรีวิวสินค้า งานเขียน หรือที่ต้องใช้อุปกรณ์ของผู้รับทำ ผู้ว่าจ้างไม่ได้เป็นคนจัดหาให้ จะถือเป็นการจ้างรับเหมาหรือบริการ รายได้ที่ได้รับต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%

แต่ถ้าผู้ว่าจ้างมีอุปกรณ์ให้ครบ เช่น จ้างพิมพ์งานมีคอมพิวเตอร์ให้ ค่านายหน้าขายของ ส่วนแบ่งค่าคอม จะจัดอยู่ในประเภทจ้างทำงาน ซึ่งภาษีหัก ณ ที่จ่าย นี้ จะคำนวณแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0% แบบเดียวกับค่าจ้างและเงินเดือน 

โดยผู้จ้างจะหักไว้ก่อนจ่ายเงินค่าจ้างให้ พร้อมกับออกหลักฐานการหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นหนังสือรับรองการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้กับฟรีแลนซ์ และฟรีแลนซ์ผู้รับเงินต้องนำไปยื่นภาษีบุคคลธรรมดาประจำปีอีก 1 ครั้งด้วย ซึ่งสามารถขอคืนภาษีหัก ณ ที่จ่ายได้ หากคำนวณภาษีเงินได้แล้วพบว่าไม่มีภาษีที่ต้องเสีย

 

ฟรีแลนซ์หักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า หน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นหน้าที่ของนิติบุคคล ดังนั้น ในกรณีที่ฟรีแลนซ์หักภาษี ณ ที่จ่าย จะต้องเป็นฟรีแลนซ์ที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคลเสียก่อน (บทความฟรีแลนซ์ควรจดบริษัท เพิ่มเลเวลทางธุรกิจเมื่อไร”) ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่มีการจ่ายเงินเพื่อใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับกิจการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ส่วนหนึ่ง ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่าย ดังนี้

– ค่าจ้างและเงินเดือน ฟรีแลนซ์ในนามนิติบุคคลที่มีการจ้างแรงงาน จ่ายค่าจ้างและเงินเดือนให้กับพนักงาน ถ้าเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต่ำสุด 0%  

– จ้างทำงานหรือบริการ เช่น นายหน้าขายของ ได้ส่วนแบ่งค่าคอมฯ จะใช้วิธีคำนวณเหมือนค่าจ้างและเงินเดือน หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0%

– จ้างบริการวิชาชีพอิสระ กิจการผู้ว่าจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งภาษีในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย 6 วิชาชีพเท่านั้น คือ 1) โรคศิลปะ 2) ประณีตศิลป์ 3) สถาปนิก 4) วิศวกร 5) นักบัญชี 6) ทนายความ  

– จ้างรับเหมาหรือบริการ กิจการผู้ว่าจ้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เช่น การจ้างผลิตสินค้า จ้างทำนามบัตร จ้างรีวิวสินค้า ทำกราฟิก รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ (ต่างจากจ้างทำงาน หรือบริการ ตรงที่จ้างรับเหมา หรือบริการ ผู้ถูกจ้างจะต้องใช้หรือไปหาอุปกรณ์ของตัวเองมาเพื่อดำเนินการตามสิ่งที่ได้รับการว่าจ้าง)

– ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ หากฟรีแลนซ์ในนามนิติบุคคลได้เช่าอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ในการดำเนินกิจการ เช่น อาคาร ออฟฟิศ สำนักงาน ถ้ากิจการเป็นผู้ถือกุญแจ จะนับเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งผู้เช่าจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

– ค่าโฆษณา หากต้องการทำโฆษณาเพื่อโปรโมตแบรนด์ บริษัทของตนเอง โดยจ้างผ่านบริษัทรับทำโฆษณา เอเจนซี่ ฟรีแลนซ์ในนามนิติบุคคลจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 2%

– ค่าขนส่ง สำหรับฟรีแลนซ์ที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล และใช้บริการด้านการขนส่งอย่างเดียวไม่พ่วงบริการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% แต่ถ้าเป็นบริการขนส่งพ่วงบริการจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% 

ทั้งนี้ สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ “ภาษี หัก ณ ที่จ่าย แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร

 

สรุป

ดังนั้น ผู้มีรายได้จากการรับงานฟรีแลนซ์ทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกคน ในอัตรา 0%-3% ตามรูปแบบการจ้างงาน

ส่วนฟรีแลนซ์หักภาษี ณ ที่จ่ายได้ ก็ต่อเมื่อจดบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายจากการจ่ายเงินค่าใช้บริการตามประเภทบริการ ในอัตราตั้งแต่ 0% – 5% และต้องจ้างทำบัญชีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดด้วย เพื่อนำส่งกรมสรรพากร