ใบอนุญาตคลินิกรักษาสัตว์ …ปัจจุบันธุรกิจคลินิกรักษาสัตว์เป็นธุรกิจที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงมากนัก รวมทั้งความนิยมเกี่ยวกับการเลี้ยงดูสัตว์เพิ่มมากขึ้น จึงเกิดแนวคิดในการก่อตั้งธุรกิจคลินิกรักษาสัตว์ขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยจะทำในรูปแบบการให้บริการแบบครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการทางการตลาดในด้านพฤติกรรมของประชาชนในปัจจุบัน
ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น เจ้าของธุรกิจจึงต้องเริ่มต้นด้วยการศึกษาหาข้อมูลตั้งแต่ การหาทำเลที่ตั้ง หาแหล่งเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ รวมถึงการขอ ใบอนุญาตคลินิกรักษาสัตว์ ต่างๆ ว่ามีขั้นตอนอย่างไร ดังจะกล่าวต่อไปนี้
การขอใบอนุญาตจัดตั้งคลินิกรักษาสัตว์มีอะไรบ้าง
หลักการขอจัดตั้งสถานที่สำหรับคลินิกรักษาสัตว์ในนามบุคคลธรรมดา จากกรมปศุสัตว์หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ต้องมีเอกสารที่ใช้ยื่นขอใบอนุญาตคลินิกรักษาสัตว์ มีดังนี้
1.รูปถ่าย ขนาด 4×5 ซม.หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ ซึ่งถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 6 เดือน
จำนวน 2 รูป
2.สำเนาทะเบียนบ้าน
3.เอกสารแสดงสิทธิที่จะใช้อาคารนั้นเป็นสถานพยาบาลสัตว์ เช่น สัญญาเช่า สัญญาซื้อขาย โฉนด หรือหนังสือยินยอม การใช้อาคารจากเจ้าของอาคาร
4.ใบรับรองแพทย์
5.สำเนาคำขอดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ หรือสำเนาใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์
6.สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ทุกคนในสถานพยาบาลสัตว์
7.ใบอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์ และใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ (ในกรณีย้ายสถานพยาบาลสัตว์)
8.แผนที่พอสังเขปแสดงที่ตั้งของสถานพยาบาลสัตว์
9.แผนผังสถานพยาบาลสัตว์
10.เวลาทำการของสถานพยาบาลสัตว์ รายชื่อและเวลาทำการของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ใน สถานพยาบาลสัตว์
11.กรณีย้ายสถานพยาบาลสัตว์ต้องคืนใบอนุญาตให้ตั้งและใบอนุญาตเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ใบเดิมก่อน
12.รายละเอียดเกี่ยวกับวัน และเวลาปฏิบัติงานประจำของผู้ดำเนินการในสถานพยาบาลสัตว์ (ในกรณีเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์มากกว่าหนึ่งแห่ง)
13.เอกสารอื่นๆ เช่นสำเนาเอกสารการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล ใบสมรส แบบยืนยันการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ในสถานพยาบาลสัตว์ เป็นต้น
ถ้าในกรณีขอจัดตั้งสถานที่สำหรับคลินิกรักษาสัตว์ในนามนิติบุคคล เอกสารที่ต้องใช้เหมือนกับบุคคลธรรมดาทั้งหมด มีเพิ่มเติมแค่ สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เท่านั้น ซึ่งรูปแบบนิติบุคคลนี้ จะเหมาะกับกิจการที่มีรายได้เป็นจำนวนมาก และไม่สามารถควบคุมเอกสารทางบัญชีได้ทั่วถึง หรือมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นเมื่อยื่นภาษีอยู่บ่อยครั้ง อาจจะโดนตรวจสอบจากกรมสรรพากรย้อนหลังได้
ดังนั้น ควรตัดสินใจจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้นักบัญชีเข้ามาช่วยเหลือเกี่ยวกับการจัดทำงบการเงิน ทำบัญชี และภาษีแทนกิจการได้ดีกว่า
การขอ ใบอนุญาตคลินิกรักษาสัตว์ เป็นผู้ดำเนินการมีอะไรบ้าง
นอกจากนี้ยังมีในส่วนของเอกสารหรือหลักฐานที่ใช้ในการขอใบอนุญาตคลินิกรักษาสัตว์ เป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ ประกอบด้วย
1.รูปถ่ายขนาด 4 x 5 ซม. หน้าตรง ไม่สวมหมวกและแว่นตาดำ ซึ่งถ่ายก่อนวันยื่นคำขอไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 2 รูป
2.สำเนาทะเบียนบ้าน
3.บันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับวัน และเวลาปฏิบัติงานประจำในสถานพยาบาลสัตว์แต่ละแห่ง (ในกรณีเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์สองแห่ง
4.สำเนาใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์
5.เอกสารอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น การเปลี่ยนชื่อ – สกุล ใบสมรส เป็นต้น
คลินิกรักษาสัตว์พ่วงขายอาหารสัตว์มีขั้นตอนการดำเนินการอะไรบ้าง
รู้หรือไม่ผู้ที่เปิดคลินิกรักษาสัตว์จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์หรือไม่ คำตอบคือ กิจการที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์จะต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดไว้เท่านั้น ส่วนกิจการเปิดคลินิกรักษาสัตว์เป็นกิจการที่ไม่อยู่ภายใต้กฎหมายบังคับ จึงไม่เข้าข่ายต้องจดทะเบียนพาณิชย์
แต่หากภายในคลินิกรักษาสัตว์มีการวางขายสินค้า เช่น มีอุปกรณ์ ของเล่น อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดสำหรับสัตว์ เป็นต้น สามารถขอจดทะเบียนพาณิชย์เฉพาะกิจการค้าขายได้ โดยมีเอกสารที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์ มีดังนี้
แบบฟอร์มทะเบียนพาณิชย์
1.คำขอจดทะเบียนพาณิชย์
2.หลักฐานที่ตั้งสำนักงาน เช่น เอกสารการยินยอม หรือการเช่าจากผู้ที่เป็นเจ้าของสถานที่
กรณีผู้ประกอบการ ไม่ได้เป็นเจ้าของสถานที่ตั้งเอง
3.แผนที่ร้านโดยสังเขป
สถานที่ยื่นขอจดทะเบียน ให้พิจารณาจากสถานที่ประกอบการเป็นหลัก
1.กรุงเทพมหานคร
– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ศาลาว่าการกรุงเทพฯ เสาชิงช้า
– สำนักงานเขต ในเขตที่สถานที่ประกอบการตั้งอยู่
2.ภูมิภาค
– สำนักงานเทศบาล/สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล (ในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่)
ดังข้อมูลที่กล่าวไว้ข้างต้นเกี่ยวกับการขายอาหารสัตว์ ต้องมีใบอนุญาตขายอาหารสัตว์ด้วยนั้น ยังมีข้อจำกัดอย่างอื่นเพิ่มเติมอีก โดยอาหารสัตว์เหล่านั้นต้องได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์ก่อน ซึ่งอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียนมี 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่
1.วัตถุดิบ
2.วัตถุที่ผสมแล้ว (อาหารสำเร็จรูป และหัวอาหาร)
3.อาหารเสริมสำหรับสัตว์
4.ผลิตภัณฑ์นมสำหรับสัตว์ โดยต้องมีส่วนประกอบของนมไม่น้อยกว่า 50%
5.อาหารสัตว์ผสมยา
นอกจากนี้ในส่วนของขนมสำหรับสัตว์ที่มีโปรตีนมากกว่า 20% ต้องขึ้นทะเบียนอาหารสัตว์เช่นกัน ส่วนขนมสำหรับสัตว์ที่มีโปรตีนน้อยกว่า 20% จะไม่เข้าข่ายอาหารสัตว์ที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ต้องแสดงฉลากให้ชัดเจน หรือส่งหนังสือแจ้งไปยังกรมปศุสัตว์ เพื่อให้ทางกรมปศุสัตว์ออกหนังสือยืนยันในกรณียกเว้นการขึ้นทะเบียน ถึงจะนำมาวางจำหน่ายได้
สรุป…หากไม่ทำตามกฎระเบียบข้อบังคับอาจถูกสั่งปิดคลินิกรักษาสัตว์ได้
จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นหากพบว่าผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์หรือเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับตามกำหนดเวลา ของกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติ เจ้าหน้าที่ของทางราชการจะออกจดหมายเพื่อเตือนในขั้นตอนแรก และหากผู้รับอนุญาตให้ตั้งสถานพยาบาลสัตว์หรือเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลสัตว์ยังเพิกเฉย ลำดับต่อไปจะเป็นการสั่งปิดสถานพยาบาลสัตว์เป็นการชั่วคราว
ดังนั้นเจ้าของกิจการควรทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดเพื่อไม่ให้คลินิกรักษาสัตว์ถูกสั่งปิดจากการละเลยของเจ้าของกิจการเอง