ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง เป็นธุรกิจที่รายได้จะเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มโครงการก่อสร้างจนกระทั่งงานก่อสร้างนั้นทำเสร็จ โดยทั่วไปรายได้ของ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง มักจะประกอบด้วยรายได้ต่างๆ ดังนี้
1.รายได้หลัก เช่น รายได้ค่ารับเหมาก่อสร้าง รายได้ค่าขายวัสดุก่อสร้าง รายได้จากการรับเหมาค่าแรงก่อสร้าง รายได้ค่านายหน้า หรือตัวแทนในการจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง
2.รายได้อื่นๆ เช่น รายได้ดอกเบี้ย รายได้เงินปันผล
และด้วยความที่ธุรกิจนี้มีรายได้สูง รายจ่ายเยอะ จึงทำให้บุคคลธรรมดาที่เลือกทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ต้องประสบปัญหาโดนภาษีย้อนหลัง เนื่องจากไม่ได้ยื่นภาษีหรือยื่นภาษีผิดพลาด สุดท้าย บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง หลายราย จึงตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล เพื่อให้เรื่องบัญชีภาษีเข้าระบบ ดังรายละเอียดจากบทความ “บัญชีธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง จำเป็นต้องทำหรือไม่” จะช่วยลดความเสี่ยงทางภาษีลงได้
โดยหลังจากจดบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องกับ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ทั้งที่เหมือนและเพิ่มเติมจากธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ที่ผู้ประกอบการควรทราบ ดังนี้
ภาษีอากรแสตมป์
เนื่องจากการรับเหมาก่อสร้าง ต้องมีการจัดทำสัญญารับเหมาก่อสร้าง โดยถ้าหากบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างมีการจัดทำสัญญารับจ้างเหมาก่อสร้างขึ้น ซึ่งถือเป็นสัญญาจ้างทำของ ในฐานะผู้รับจ้างมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรแสตมป์และขีดฆ่าแสตมป์ ในอัตรา 1 บาท (0.10%) ต่อทุกจำนวนค่าจ้าง 1,000 บาท และเศษของ 1,000 บาท ซึ่งหาซื้อได้ที่สรรพากรพื้นที่ ที่ทำการไปรษณีย์ทุกพื้นที่ เป็นต้น
แต่ถ้าช่วงที่ทำสัญญาจ้างทำของไม่ทราบจำนวนค่าจ้างว่าราคาเท่าไร ให้ประมาณจำนวนค่าจ้างตามสมควร แล้วเสียอากรแสตมป์ตามจำนวนค่าจ้างที่ประมาณนั้น ถ้าเป็นการรับเงินค่าจ้างเป็นคราวๆ และอากรแสตมป์ที่เสียไว้เดิมยังไม่ครบ ให้เสียอากรแสตมป์เพิ่มให้ครบตามจำนวนที่ต้องเสียอากรแสตมป์ในทันทีที่มีการรับเงิน และเมื่อการรับจ้างทำของเสร็จสิ้น หากพบว่าได้เสียอากรแสตมป์เกินไป ก็สามารถขอคืนภาษีอากร แสตมป์ได้
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
สำหรับภาษีหัก ณ ที่จ่าย บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจะถูกผู้ว่าจ้างหรือผู้จ่ายเงินหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% และนำส่งกรมสรรพากร พร้อมกับออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้ว่าจ้างต้องเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคล จึงจะมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อได้จ่ายเงินให้กับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้ และทางผู้รับเหมาสามารถนำภาษีที่ถูกหักออกจากภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปีมาขอคืนได้ หากภาษีที่ถูกหักมากกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคล
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่มจะเกี่ยวข้องกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปีภาษี หรือวันที่มีรายได้ถึง 1.8 ล้านบาท มีหน้าที่ขอจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วันนับ ตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท/ปี
จากนั้นบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง มีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% และออกใบกำกับภาษีให้กับผู้จ้างเหมา โดยความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ต้องปฏิบัติตามกำหนดหลักเกณฑ์คือ ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ และกรณีการให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ ความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้น เมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง
โดยให้นำยอดขายในแต่ละเดือนภาษี มายื่นรายการตามแบบ ภ.พ.30 พร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) เป็นรายเดือนภาษีทุกเดือน ภายในวันนี้ 15 ของเดือนถัดไป ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งแบบ “บริษัทจำกัด” หรือ “ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล” มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล และเนื่องจากรายได้รับเหมาก่อสร้างจะเกิดขึ้นในแต่โครงการคาบเกี่ยวระหว่างรอบระยะเวลาบัญชี การคำนวณรายได้และรายจ่าย จึงให้นำรายได้ตามส่วนของงานที่ทำเสร็จในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีมารวมเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ
แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีเปรียบเทียบตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท + รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท ดังนี้
กำไร 300,000 บาทแรก = ยกเว้นภาษี
กำไร 300,001 – 3 ล้าน = ภาษี 15%
กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป = ภาษี 20%
แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ให้จัดอยู่ในอัตราภาษีเท่ากับ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก
ทั้งนี้ ต้องนำรายได้หักด้วยรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการจริง และมีใบเสร็จรับเงินเท่านั้น
หลักการยื่นภาษีนิติบุคคล บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง
หลักการและช่วงเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจะต้องยื่นภาษีตามช่วงเวลาที่กำหนด 2 ช่วงด้วยกัน ดังนี้
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
โดยผู้ประกอบการบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างส่วนใหญ่ หลังจากจดบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว จะใช้บริการสำนักงานบัญชีรับทำบัญชีและภาษีให้ เนื่องจากทำบัญชี คำนวณภาษีได้แม่นยำกว่า และส่งภาษีรายเดือน งบการเงินรายปีให้อีกด้วย ซึ่งช่วยลดภาระในการทำบัญชีและภาษีที่ต้องจ่ายสูงเกินไปของผู้ประกอบการได้ หรือโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังโดยไม่จำเป็น