ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

จุดบอด! การทำ บัญชีโรงแรม ที่กิจการเสี่ยงถูกตรวจสอบสูง

บัญชีโรงแรม

เนื่องจากธุรกิจโรงแรมมีความเฉพาะเจาะจง มีการรับรู้รายได้ไม่เหมือนธุรกิจอื่นๆ จึงทำให้การทำ บัญชีโรงแรม อาจเกิดความผิดพลาดได้สูงถ้าผู้ทำบัญชีไม่ชำนาญ ดังนั้น ส่วนใหญ่ธุรกิจโรงแรมที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะใช้บริการสำนักงานบัญชีรับทำบัญชีให้ เพื่อให้งบการเงินและภาษีถูกต้อง

โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงแรม รีสอร์ตขนาดเล็ก ดูแลจัดการกันเองในนามบุคคลธรรมดา หากลงบันทึกรายการต่างๆ เองผิด จะส่งผลให้การยื่นภาษีผิดพลาด และนำมาซึ่งการถูกตรวจสอบเสียภาษีย้อนหลังได้ ซึ่งการลงบันทึกบัญชีจะมีอะไรบ้างที่เป็นจุดเสี่ยงทำให้การทำบัญชีโรงแรมผิดพลาด ต้องไปติดตามกัน

การรับรู้รายได้ของธุรกิจโรงแรม เพื่อทำบัญชีโรงแรมได้ถูกต้อง

รายได้ที่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมได้รับ สามารถแบ่งได้เป็น 2 ส่วน เพื่อให้สามารถลงบันทึก บัญชีโรงแรม ได้ถูกต้อง ดังนี้   

– ทางบัญชี รายได้ที่กิจการโรงแรมได้รับเข้ามาในการทำบัญชีงบการเงิน จะต้องรับรู้รายได้ทุกวันตั้งแต่เมื่อมีแขกเข้ามาพัก ไม่ว่าจะมาพักกี่วันก็ตาม ให้นับทุกวันตามเรทค่าห้องพักในแต่ละวัน โดยไม่ต้องรอวันที่เช็กเอาต์หรือรับเงิน 

– ทางภาษี กิจการโรงแรมมีหน้าที่ยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ดังนั้น การบันทึกรายได้สำหรับยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม จะนับเมื่อมีการได้รับเงินจากลูกค้า จากนั้นจึงออกใบกำกับภาษีให้กับลูกค้า และยื่นภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากร อย่างเช่น ลูกค้าบางเคสรับเงินวันที่เช็กอิน บางเคสอาจจะเป็นวันที่เช็กเอาต์ หรือเป็นวันที่ลูกค้าจองห้องพัก ทางภาษีจะต้องได้รับเงินก่อน จึงจะถือว่าเป็นรายได้เกิดขึ้น     

 

เอกสารโรงแรมที่กิจการมักมองข้าม ต้องเก็บไว้ให้ครบ

นอกจากเอกสารรายรับรายจ่ายที่กิจการโรงแรมต้องลงบันทึกในบัญชีแล้ว เอกสารที่กิจการโรงแรมมักมอข้ามอย่าง “เอกสารการสร้างโรงแรม” จำเป็นต้องเก็บให้ครบถ้วน และอย่าลืมลงบันทึกบัญชีให้เรียบร้อย เพราะสามารถช่วยในการรับรู้ค่าใช้จ่ายและคำนวณค่าเสื่อมราคาได้อย่างถูกต้อง และนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ดังนี้

– สัญญาออกแบบ

สัญญาก่อสร้าง

– ใบแจ้งหนี้จากผู้รับเหมา

– ใบเสร็จรับเงินจากผู้รับเหมา

– ใบส่งมอบงาน

– หลักฐานการชำระเงินแต่ละงวด

โดยค่าเสื่อมราคาที่กิจการสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้นั้น คือค่าใช้จ่ายที่ถูกคำนวณจากสินทรัพย์ถาวร เช่น การสร้างโรงแรมและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ในโรงแรม เป็นการซื้อเข้ามาใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการในแต่ละปี เป็นสิ่งของที่ซื้อแล้วสามารถใช้ประโยชน์ได้นานเกิน 1 ปี หรือยังใช้ไม่หมดในทันที 

กิจการสามารถลงบันทึกบัญชีโรงแรม ทยอยตัดเป็นรายจ่ายในแต่ละปีได้ เพื่อให้เหมาะสมกับอายุการใช้งาน เช่น อาคาร 20 ปี ตู้ โต๊ะ เตียง 15 ปี เป็นต้น การคิดต้นทุนค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับการคำนวณกำไรขาดทุนภาษี  

 

ปิดจุดผิดพลาด! ที่มักเกิดขึ้นในการทำบัญชีโรงแรม

การบันทึกบัญชีโรงแรม หากนักบัญชีไม่มีความชำนาญในเรื่องของการบันทึกรายได้ รายจ่าย และภาษีสำหรับธุรกิจโรงแรม ก็มักจะลงบันทึกผิดพลาดในหลายจุด ซึ่งเป็นเหตุให้อาจโดนภาษีย้อนหลังได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะบันทึกผิดพลาดในรายการต่างๆ ดังนี้ 

1.บันทึกรายได้ค่าบริการไม่ครบถ้วน เช่น 

– แจ้งจำนวนห้องพักที่แขกเข้าพักไม่ครบถ้วน 

– แสดงราคาขายห้องพักต่ำกว่าข้อเท็จจริง

– ไม่บันทึกบัญชีรับเงินมัดจำหรือเงินรับล่วงหน้า หรือไม่ออกใบกำกับภาษีทันทีที่ได้รับเงิน

– ได้รับเงินช่วยเหลือค่าก่อสร้างจากเอเย่นต์ทัวร์ บันทึกบัญชีเงินกู้ยืมและไม่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม Tax Point และโรงแรมต้องจัดสรรห้องพักให้เอเย่นต์ทัวร์ เมื่อเอเย่นต์ทัวร์ใช้บริการห้องพัก บันทึกลดยอดบัญชีเงินกู้ยืมโดยไม่บันทึกเป็นรายได้ห้องพัก    

– ไม่ได้นำรายรับจากบัตรเครดิตที่รับจากลูกค้ามาบันทึกเป็นรายได้

– บันทึกรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายให้กับเอเย่นต์แล้ว

– มีการจ่ายชำระหนี้เจ้าหนี้ต่างประเทศ ด้วยการให้บริการห้องพัก ส่วนใหญ่จะหักกลบลบหนีระหว่างกัน  ไม่นำมาบันทึกเป็นรายได้

– มีการหักกลบลบหนี้ค่าใช้จ่ายค่านายหน้าและค่าที่พักระหว่างเอเย่นต์กับโรงแรม ทำให้มีการบันทึกรายได้ไม่ครบถ้วน

– ไม่นำรายได้ค่าห้องพักฟรีมาคำนวณเสีย VAT และคำนวณภาษีเงินได้

– มีรายการเงินให้กู้ยืม แต่ไม่คิดดอกเบี้ย

– รายได้ค่าห้องพัก ห้องอาหารและเครื่องดื่ม ค่าจัดเลี้ยง ค่าจัดสัมมนาเงินมัดจำ เงินรับชำระหนี้จากลูกหนี้ ไม่ได้บันทึกเป็นรายได้ ไม่ออกใบกำกับภาษีขาย หรือออกใบกำกับภาษีขายไม่ครบถ้วน หรือบันทึกรับ (เดบิต) เป็นเงินสด/เงินฝากธนาคาร และบันทึก (เครดิต) เงินกู้ยืมกรรมการ

– ขออนุญาตก่อสร้างเป็นห้องพักพนักงาน แต่นำห้องพักพนักงานไปให้บริการลูกค้า ไม่นำรายรับมาเสีย VAT และภาษีเงินได้

2.บันทึกทรัพย์สินเป็นค่าใช้จ่าย

3.การสร้างรายจ่ายค่าที่ปรึกษา หรือค่าตอบแทน หรือจ่ายเงินเดือนผู้บริหารเกินสมควร

4.ดอกเบี้ยจ่ายจากการก่อสร้างอาคารโรงแรมที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง นำมาบันทึกเป็นค่าใช้จ่าย

5.การเฉลี่ยภาษีซื้อจากการก่อสร้างอาคาร และค่าใช้จ่ายไม่ถูกต้อง และ/หรือมีการโอนกรรมสิทธิ์อาคาร หรือนำไปใช้ในธุรกิจที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 3 ปี นับตั้งแต่เดือนภาษีที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์

6.นำภาษีซื้อรถยนต์นั่งและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับรถยนต์นั่งนำมาเครดิตภาษี

7.บันทึกมูลค่าของอาคารไว้สูงกว่าความเป็นจริง เพื่อประโยชน์ในการขอกู้เงินธนาคาร ทำให้มีการหักค่าเสื่อมราคาสูงไป

8.นำบิลค่ารับรองบันทึกเป็นค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย หรือมีการโอนค่ารับรองจำนวนหนึ่งเข้าบัญชีค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย

9.ไม่ได้บันทึกรายได้และค่าใช้จ่ายจากการแลกเปลี่ยนค่าบริการ เช่น ค่าใช้จ่ายโฆษณาในนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ ผู้ให้บริการขอใช้ห้องพัก และ/หรือห้องประชุมสัมมนา แลกเปลี่ยนกับค่าบริการ

10.กรณีโรงแรมสร้างใหม่

– ค่ารับเหมาก่อสร้างแยกเป็น 2 สัญญา โดยแยกเป็นสัญญาจัดซื้อวัสดุ และสัญญาจ้างเหมาแรงงาน หักภาษี ณ ที่จ่าย เฉพาะค่าจ้างเหมาแรงงาน

 นิติบุคคลก่อสร้างโรงแรมใหม่ในที่ดิน ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของกรรมการ หรือของบุคคลอื่น ไม่ได้ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มักจะพบประเด็นความผิดเกี่ยวกับภาษีซื้อ และประเด็นภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างให้กับเจ้าของที่ดิน

– บันทึกบัญชีทรัพย์สินไม่ครบถ้วนตามข้อเท็จจริง โดยเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์

– คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายไว้ไม่ถูกต้อง กรณีจ่ายค่านายหน้าให้แก่บุคคลธรรมดา 

(ข้อมูลบางส่วนจาก : เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การวางแผนภาษีธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ท มหาวิทยาลัยสยาม ประจำปีการศึกษา 2557)

เมื่อเห็นจุดบอดที่มีโอกาสลงบันทึกบัญชีโรงแรมผิดพลาดได้สูงแล้ว เจ้าของธุรกิจโรงแรมมือใหม่ที่คิดจะทำบัญชีโรงแรมเอง หรือโรงแรมที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หากกำลังชั่งใจว่าควรจ้างนักบัญชีมาประจำที่โรงแรม หรือใช้บริการรับทำบัญชีจากสำนักงานบัญชีจะดีกว่า อาจศึกษาข้อมูลได้ก่อนที่นี่ “หลังจดบริษัท… การทำบัญชี จำเป็นต้องใช้บริการบริษัทรับจ้างหรือไม่