การประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการขายเครื่องดื่ม ไม่ว่าจะทำในรูปแบบบริษัทผลิตเครื่องดื่มวางขายตามสถานที่ต่างๆ หรือเปิดร้านลักษณะเป็นคาเฟ่ ร้านนมปั่น ชานม พร้อมกับมีน้ำดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ภายใต้แบรนด์ของตนเองวางขายในร้านด้วย สิ่งที่ควรทราบเพิ่มเติมจากขั้นตอนหรือวิธีการเปิดร้านแล้ว นั่นคือเรื่องของ ภาษีเครื่องดื่ม
ฉะนั้น ไม่ว่าจะเปิดเป็นธุรกิจแบบขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ก็ตาม เจ้าของธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาและถือปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เพื่อหลีกเลี่ยงการโดนสั่งปิดหรือการเสีย ภาษีเครื่องดื่ม เพิ่มเติมโดยไม่ทันตั้งตัวก็เป็นได้ แล้วขั้นตอนและหลักการมีอะไรบ้างลองมาศึกษาจากข้อมูลที่จะกล่าวดังต่อไปนี้
ว่าด้วยเรื่องการผลิตเครื่องดื่มและ ภาษีเครื่องดื่ม กรมสรรพาสามิต
หากเจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มมีความประสงค์จะผลิตทั้งน้ำดื่ม กาแฟ ชา เป็นต้น เพื่อให้ครบสมบูรณ์แบบ ภายใต้แบรนด์และบรรจุภัณฑ์ของทางร้านเอง ในเรื่องของ ภาษีเครื่องดื่ม นั้น พระราชบัญญัติพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 “เครื่องดื่ม” ที่กรมสรรพสามิตจัดเก็บภาษีได้ให้ความหมายว่า สิ่งที่ตามปกติใช้เป็นเครื่องดื่มได้โดยไม่ต้องเจือปนและไม่มีแอลกอฮอล์ โดยจะมีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม บรรจุในภาชนะและผนึกไว้
โดยการประกอบธุรกิจเครื่องดื่ม ก่อนที่จะทำการผลิตและจำหน่าย ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการดังนี้
1.จดทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันเริ่มผลิตหรือจำหน่าย
2.ขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีจากกรมสรรพากร ตามขนาดและประเภทธุรกิจ เพื่อใช้ในการยื่นแบบ แสดงรายการภาษี การชำระภาษี การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย การติดต่อราชการกับกรมสรรพากร รวมทั้งการจัดทำเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ใบกำกับภาษี ใบเสร็จรับเงิน ซึ่งเอกสารเหล่านี้มีผลต่อภาษีเครื่องดื่มทั้งนั้น
3.จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อรายได้จาการขายเครื่องดื่มเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี
4.ขออนุญาตตั้งสถานที่ผลิตเครื่องดื่มจากหน่วยราชการท้องถิ่น โดยถ้าหากสถานที่ในการผลิตเป็นอาคารหรือโรงงาน เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย (กรณีเช่าต้องทำการตกลงกันกับผู้ให้เช่าว่าใครจะเป็นผู้เสียภาษีนี้)
5.ให้แจ้งวันทำการผลิตและราคาขายต่ออธิบดีกรมสรรพสามิต โดยยื่นกับสำนักงานสรรพสามิตที่ใกล้กับพื้นที่ขาย และแจ้งราคาขายไม่น้อยกว่า 7 วันก่อนวันเริ่ม รวมทั้งจดแจ้งฉลาก และจัดทำบัญชีเพื่อใช้ประกอบการเสียภาษีสรรพสามิตด้วย
6.ต้องจัดทำรายงานภาษี ซึ่งประกอบด้วย รายงานภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ซึ่งสามารถใช้บริการทำบัญชีจากสำนักงานที่มีความน่าเชื่อถือได้ ก่อนยื่นต่อกรมสรรพสามิต เพื่อให้ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนนำสินค้าออกวางจำหน่าย
การขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรอง
นอกจากนี้สิ่งที่เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มต้องคำนึงถึงคือ เรื่องเอกสารในการขออนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายและสถานที่ผลิตเครื่องดื่ม ก่อนดำเนินการผลิตเครื่องดื่มต่างๆ ซึ่งเจ้าของธุรกิจต้องเข้าแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร หรือสถานที่สะสมอาหารก่อน
โดยให้ยื่นขอใบอนุญาตหรือหนังสือรับรองการแจ้ง ซึ่งสามารถดำเนินกิจการได้ทันทีหลังจากยื่นคำขอตามแบบฟอร์มที่กฎหมายกำหนด ศึกษารายละเอียดได้ดังนี้
1.หลักฐานที่ต้องใช้
1.1 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับใบอนุญาตหรือผู้แจ้ง
1.2 สำเนาทะเบียนบ้านของบ้านที่ใช้เป็นที่ตั้งสถานประกอบการ
1.3 สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้แทนนิติบุคคล (กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตหรือผู้แจ้งเป็นนิติบุคคล)
1.4 หนังสือยินยอมให้ใช้อาคารหรือสำเนาหนังสือเช่าจากเจ้าของอาคาร
1.5 หนังสือมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถมายื่นคำขอด้วยตนเอง)
1.6 ผลการตรวจสุขภาพหรือใบรับรองแพทย์ของพนักงานผู้สัมผัสอาหาร
1.7 สำเนาใบวุฒิบัตรผู้ผ่านการอบรมหลักสูตรการสุขาภิบาลอาหารของกรุงเทพมหานคร (ถ้ามี)
1.8 แผนที่สังเขปแสดงสถานที่ตั้งสถานประกอบการ
1.9 ใบอนุญาตจากส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
2.ค่าธรรมเนียมการออกใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหารและสถานที่สะสมอาหาร
2.1 พื้นที่ประกอบการไม่เกิน 300 ตารางเมตร ฉบับละ 2,000 บาท
2.2 พื้นที่ประกอบการเกิน 300 ตารางเมตร คิดเพิ่มตารางเมตรละ 5 บาท โดยให้คิดพื้นที่เป็นจำนวนเต็มปัดเศษทิ้งแต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 3,000 บาท
3.ค่าธรรมเนียมการออกหนังสือรับรองการแจ้งจัดตั้งสถานที่จำหน่ายอาหาร และสถานที่สะสมอาหาร และค่าธรรมเนียมสำหรับการดำเนินกิจการรายปี
3.1 พื้นที่ประกอบการไม่เกิน 10 ตารางเมตร ฉบับละ 100 บาท
3.2 พื้นที่ประกอบการเกิน 10 ตารางเมตร คิดเพิ่มตารางเมตรละ 5 บาท โดยให้คิดพื้นที่เป็นจำนวนเต็มปัดเศษทิ้ง แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 1,000 บาท
เจ้าของธุรกิจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ การขอใบอนุญาตเพิ่มเติม
การจดทะเบียนพาณิชย์
การจดทะเบียนพาณิชย์ คือ ทะเบียนสำหรับคนค้าขายที่มีหน้าร้านต้องจดตามที่พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 กำหนด ซึ่งในกรณีที่เจ้าของธุรกิจผลิตและขายเครื่องดื่ม รวมถึงเปิดขายในร้านของตนเองด้วย ก็ต้องมีการจดทะเบียนพาณิชย์ให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วย ซึ่งวิธีการและเอกสารจดทะเบียนพาณิชย์มีดังนี้
1.เตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของธุรกิจ
2.เตรียมแบบคำขอจะทะเบียนพาณิชย์ แบบ ทพ.
3.แผนที่แสดงสถานที่ตั้งร้าน
4.หากเป็นนิติบุคคลให้เตรียมหนังสือรับรองบริษัท
5.เตรียมเงินจำนวน 50 บาท
6.หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือสัญญาเช่า (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
7.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์ (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
8.สำเนาหนังสืออนุญาต หรือหนังสือรับรองให้เป็นผู้จำหน่ายจากเจ้าของลิขสิทธิ์ (เฉพาะธุรกิจขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิตอลเฉพาะที่เกี่ยวกับบันเทิง)
9.หลักฐานแสดงจำนวนเงินทุน ยกเว้นนิติบุคคล (เฉพาะธุรกิจขายอัญมณี หรือเครื่องประดับที่ประดับด้วยอัญมณี)
โดยสามารถยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ สำนักงานเขต สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง เทศบาล อบต. ที่ธุรกิจของผู้ประกอบการตั้งอยู่เท่านั้น
ทั้งนี้ แม้ว่าในปัจจุบันจะมีโรงงานรับผลิตเครื่องดื่มแบบสำเร็จรูปอยู่มากมายแล้วก็ตาม ซึ่งทำให้มีความสะดวกสบายรวดเร็วต่อการว่าจ้างมากขึ้น แต่เจ้าของธุรกิจเครื่องดื่มก็ต้องทำความเข้าใจ และเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับหลักการผลิต รวมถึงการเสียภาษีเครื่องดื่มต่างๆ ด้วย หากมีปัญหาจะได้แก้ไขได้ทัน และมีข้อมูลพร้อมรับมือกับภาษีเครื่องดื่มที่เกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน