อยากเลิกกิจการ…ไม่ยากแต่ก็ไม่ง่ายค่ะ เพราะขั้นตอนตามกฎหมายค่อนข้างยุ่งยาก ซึ่งถ้าหากต้องการความสะดวกสบาย จะจ้างให้สำนักงานบัญชีช่วยทำให้ก็สามารถทำได้ หรือกิจการที่จ้างสำนักงานบัญชีทำบัญชียื่นภาษีให้อยู่แล้ว ก็ให้ทางสำนักงานบัญชีที่ใช้บริการอยู่ ทำเรื่องจดเลิกกิจการให้ได้เช่นกัน
กิจการทำแค่เพียงเตรียมข้อมูล เอกสารให้ครบถ้วน และมีหน้าที่เซ็นเอกสาร ส่วนเรื่องประสานงาน พิธีการขั้นตอนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นจดทะเบียนเลิก ชำระบัญชี ทำงบการเงินและตรวจสอบ เป็นต้น โดยปกติแล้วทางสำนักงานบัญชีจัดการให้ได้ทั้งหมด
เมื่อไหร่ที่สามารถเลิกกิจการได้
ก่อนอื่นมาดูสาเหตุของการเลิกกิจการกันว่า ส่วนใหญ่จะเลิกกิจการจากกรณีใดบ้าง
– โดยความประสงค์ของผู้ถือหุ้น กล่าวคือผู้ถือหุ้นได้มีการประชุม 2 ครั้ง เพื่อลงมติพิเศษให้เลิกบริษัท และลงมติว่า ต้องการยกเลิกบริษัท โดยมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนหุ้นที่เข้าประชุม รวมถึงถ้าหากมีเจ้าหนี้หรือลูกหนี้ที่ตกลงเรื่องการชำระหนี้ได้ และยินยอมให้เลิกกิจการได้
– เลิกโดยผลของกฎหมาย กล่าวคือหากในข้อบังคับกำหนดเหตุเลิกไว้และเมื่อเกิดเหตุนั้นขึ้นจริง, ตั้งบริษัทโดยกำหนดเวลาสิ้นสุดไว้ และเมื่อถึงเวลาสิ้นสุดตามระยะเวลาดังกล่าว, ตั้งบริษัทเพื่อทำกิจการอย่างหนึ่งอย่างใด กระทั่งเมื่อทำกิจการนั้นเสร็จแล้ว, บริษัทล้มละลาย หรือนายทะเบียนขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียน (ถอนทะเบียนร้าง)
– เลิกโดยคำสั่งศาล คือทำผิดในการยื่นรายงานประชุมตั้งบริษัท หรือทำผิดในการประชุมตั้งบริษัท, บริษัทไม่เริ่มประกอบการภายใน 1 ปี นับแต่จดทะเบียนบริษัท หรือหยุดทำการถึง 1 ปี, การค้ามีแต่ขาดทุนและไม่มีหวังฟื้นกลับคืน, จำนวนผู้ถือหุ้นเหลือไม่ถึง 3 คน
การจดทะเบียนเลิกกิจการ
เมื่อกิจการต้องการเลิกกิจการ จะต้องดำเนินการเลิกที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยแบ่งรายละเอียดขั้นตอนการขอเลิกกิจการดังนี้
1.จัดทำหนังสือนัดประชุมผู้ถือหุ้น และส่งเอกสารเพื่อให้มีมติพิเศษในการเลิกบริษัท ให้กับทุกคนหรือส่งให้กับผู้ถือหุ้นโดยตรง
2.ลงประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์ท้องที่อย่างน้อย 1 ครั้ง
3.จัดประชุมผู้ถือหุ้นทุกคน โดยให้ลงมติพิเศษ ต้องให้คะแนนไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนผู้ถือหุ้นทั้งหมดที่มาประชุม และต้องมีการพิจารณาแต่งตั้งผู้สอบบัญชีด้วย
4.หลังจากประชุมเสร็จเรียบร้อยจะต้องประกาศหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 1 ครั้ง
5.จัดทำเอกสารยื่นจดเลิกกิจการ และนำเอกสารไปจดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 14 วัน
เคลียร์งบการเงินและภาษีส่งสรรพากร
หลังจากจดเลิกกิจการแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องเคลียร์งบการเงิน ยื่นเอกสารและชำระภาษีส่งกรมสรรพากร ซึ่งต้องให้นักบัญชีเข้ามาช่วยเป็นผู้จัดทำให้ (ข้อมูลจาก https://tanateauditor.com/close/) โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.บริษัทจำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัด จะต้องทำงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ จัดทำโดยผู้ทำบัญชี และมีผู้สอบบัญชีอิสระเซ็นรับรอง ซึ่งต้องเป็นคนละคนกับคนทำบัญชี และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการ
2.นำส่งแบบภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 พร้อมงบการเงิน ณ วันเลิกกิจการภายใน 150 วัน นับจากวันที่เลิกกิจการ
3.นำส่งแบบภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด.53 ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกกิจการ
4.หากมีบัญชีดอกเบี้ยค้างรับ หรือดอกเบี้ยในงบการเงิน ให้นำส่งแบบภาษีธุรกิจเฉพาะ ภธ.40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดจากวันที่เลิกกิจการ หากมี
แจ้งยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่สรรพากร
หากกิจการได้มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ต้องไปแจ้งยกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มที่กรมสรรพากรภายใน 15 วันหลักจากจดทะเบียนเลิกบริษัทเพื่อไม่ให้เสียค่าปรับ พร้อมกับแจ้งเลิกกิจการที่กรมสรรพากรไปพร้อมกันได้เลย โดยมีเอกสารหลักๆ ดังนี้
1.แบบ ภ.พ.09 จำนวน 4 ฉบับ
2.หนังสือรับรองเลิกกิจการ
3.สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ชำระบัญชีทุกคน
4.ภ.พ.01, ภ.พ.01.1 และ ภ.พ.20 ตัวจริง ถ้าหากหายสามารถใช้เป็นใบแจ้งความแทนได้ โดยในใบแจ้งความต้องระบุชื่อบริษัทด้วย
5.หนังสือชี้แจงเหตุผลในการเลิก
6.หนังสือมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
7.บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีมอบอำนาจ)
8.ภ.ง.ด.50 ณ วันเลิกกิจการ
9.งบการเงิน ณ วันเลิกกิจการ
10.แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานของกิจการ
11.ภ.พ.30 และใบเสร็จย้อนหลัง
12.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ชำระบัญชีทุกคน
13.ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 และงบการเงินย้อนหลัง
ทั้งนี้ ควรติดต่อเช็กเอกสารที่ต้องใช้กับสรรพากรพื้นที่ที่กิจการเข้ารับบริการอีกครั้ง เนื่องจากสรรพากรแต่ละพื้นที่จะขอเอกสารต่างกันออกไป และในระหว่างที่รออธิบดีขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษีออกจากระบบ VAT กิจการจะต้องนำส่งแบบ ภ.พ.30 ไปก่อน จนกว่าจะได้ออกจากระบบอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเรียบร้อยแล้ว
การจดเสร็จชำระบัญชี
การจดเสร็จชำระบัญชีจะต้องทำหลังจากที่มีการจดเลิกกิจการที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และในกรณีที่กิจการจด VAT ก็ต้องรอให้อธิบดีมีหนังสือขีดชื่อเลขประจำตัวผู้เสียภาษีก่อน
หลังจากกิจการออกจากระบบ VAT แล้ว กิจการจะต้องลงประกาศหนังสือพิมพ์ว่าบริษัทได้เรียกประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ชำระบัญชีต่างๆ เรื่องเสร็จการชำระบัญชี จากนั้นผู้ชำระบัญชีจึงจะไปจดทะเบียนเสร็จชำระบัญชีได้ ถือเป็นอันปิดกิจการเสร็จเรียบร้อย
อยากเลิกกิจการ …สำนักงานบัญชีช่วยทำอะไรบ้าง
เมื่อทราบแล้วว่าขั้นตอนการเลิกกิจการต้องดำเนินการอย่างไรบ้าง ซึ่งมีความซับซ้อนอยู่หลายขั้นตอนพอสมควร ดังนั้น หากกิจการเลือกจ้างสำนักงานบัญชีจะเป็นผลดีมากกว่า เพราะสำนักงานบัญชีมีหน้าที่จัดทำ ประสานงาน ดำเนินพิธีการต่างๆ เกี่ยวกับการเลิกกิจการต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องดังนี้
– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ได้แก่ 1) จดทะเบียนเลิกบริษัท 2) จัดทำงบการเงิน ณ วันเลิก และส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชีรับรอง และ 3) จดทะเบียนเสร็จชำระบัญชี
– กรมสรรพากร ได้แก่ 1) แจ้งปิดบริษัทภายใน 15 วัน 2) ยื่น ภ.ง.ด.50 ของงบที่เลิกบริษัท และ 3) คืนใบ ภ.พ.20 ตัวจริง
– สำนักงานประกันสังคม ได้แก่ แจ้งเลิกกิจการ
ในส่วนของการจัดทำงบการเงินและภาษี ก่อนเลิกกิจการ ผู้ประกอบการจะต้องเคลียร์งบการเงินและภาษีให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องจ้างสำนักงานบัญชี เพื่อความปลอดภัยในการวิเคราะห์การเลิกจ้าง เพราะถ้าหากวิเคราะห์มาไม่ดีไม่รัดกุม มีโอกาสที่จะถูกเรียกเก็บภาษีค่อนข้างมาก หากขาดการวางแผนที่ดี (ข้อมูลจาก https://tanateauditor.com/issues/) เช่น
– มีเงินกู้ยืมกรรมการในงบการเงิน
– มีสินค้าคงเหลือค้างมาในงบการเงินเป็นจำนวนมาก
– มีบัญชีประเภทที่ดิน อาคาร อุปกรณ์ ค้างมาในงบการเงิน
– มีดอกเบี้ยค้างรับในงบการเงิน
– มีกำไรสะสมสูงในงบการเงิน
ทางสำนักงานบัญชีจะช่วยวิเคราะห์และพิจารณาว่ากิจการควรจะดำเนินเรื่องอะไรก่อน เพื่อให้ประหยัดภาษีได้มากที่สุดและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อตัดปัญหาเรื่องภาษีย้อนหลัง