ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

จุดเปลี่ยน! จากภาพสะท้อน งบแสดงฐานะการเงิน

งบแสดงฐานะการเงิน

แม้ว่าการเริ่มต้นธุรกิจและได้มีการจดทะเบียนบริษัท จะมีข้อกำหนดต่างๆ ที่ยุ่งยาก และมีขั้นตอนมากขึ้น ทำให้เจ้าของกิจการจำเป็นต้องบริการจัดการอย่างรอบคอบมากขึ้น ทั้งเรื่องของการเงิน บัญชี และภาษี ทั้งนี้ งบแสดงฐานะการเงิน ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นภาพรวมฐานะทางการเงินของกิจการ

 

งบแสดงฐานะการเงิน คือ

งบแสดงฐานะการเงิน หรืองบดุล คืองบการเงินรูปแบบหนึ่งที่แสดงข้อมูลฐานะทางการเงินของกิจการ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งงบแสดงฐานะการเงินส่วนใหญ่จะเป็นช่วงสิ้นปี แสดงให้เห็นถึง ทรัพย์สิน หนี้สิน และส่วนของเจ้าของ (เงินลงทุนจากเจ้าของกิจการ) โดยมีสมการบัญชีเป็น สินทรัพย์ = หนี้สิน + ส่วนของเจ้าของ

 

สินทรัพย์ (Assets)

สินทรัพย์ เป็น งบแสดงฐานะการเงิน ที่แสดงให้เห็นทรัพยากรที่มีอยู่ในการควบคุมของกิจการ ซึ่งเกิดจากการดำเนินการ โดยสามารถแสดงเป็นตัวเงินและให้ประโยชน์ในอนาคต รวมถึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ ให้เกิดกระแสเงินสดเข้า หรือลดกระแสเงินสดออกของกิจการในอนาคต ซึ่งงบแสดงฐานะการเงินในส่วนของสินทรัพย์แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

– สินทรัพย์หมุนเวียน (Current Assets) คือเงินสดหรือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว และคาดว่าจะก่อประโยชน์ให้กิจการได้ภายในเวลา 1 ปี หรือ 1 รอบระยะเวลาการดำเนินงานตามปกติของกิจการ เช่น เงินสด เงินฝากธนาคาร ลูกหนี้การค้าที่สามารถชำระภายในรอบระยะเวลาบัญชี สินค้าคงเหลือ รวมถึงค่าใช้จ่ายล่วงหน้าอื่นๆ เช่น ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า

โดยการจัดเรียงสินทรัพย์ในงบแสดงฐานะการเงินให้เรียงตามลำดับที่มีสภาพคล่องสูงในการเปลี่ยนเป็นเงินสด หากสินทรัพย์ไหนเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ง่ายก็แสดงว่ามีสภาพคล่องที่ดี โดยเรียงจาก

1) เงินสดหรือรายการเทียบเท่าเงินสด เช่น เงินสดที่กิจการมีอยู่ เงินฝากธนาคารที่สามารถถอนออกมาใช้ได้ทันที เช็ค ดราฟต์ ตั๋วแลกเงิน หรือรายการเทียบเท่าเงินสด เช่นเงินลงทุนระยะสั้นที่มีสภาพคล่องสูง ซึ่งพร้อมที่จะเปลี่ยนเป็นเงินสดในจำนวนที่ทราบได้ และมีความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงในมูลค่าน้อยหรือไม่มีสาระสำคัญ เช่น เงินลงทุนที่มีวันครบกำหนดในระยะสั้น กล่าวคือ 3 เดือน หรือน้อยกว่านับจากวันที่ได้มา

2) เงินลงทุนชั่วคราว เช่น เงินที่กิจการนำไปลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง หรือหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาด เพื่อหวังดอกผลหรือกำไรจากการลงทุน เช่น หลักทรัพย์เพื่อค้า หลักทรัพย์เผื่อขาย ตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดภายใน 1 ปี

3) ลูกหนี้การค้า คือเงินที่ลูกค้าค้างชำระค่าสินค้าหรือบริการ

4) เงินให้กู้ยืมระยะสั้น แก่บุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

5) สินค้าคงเหลือ คือสินค้าที่กิจการมีไว้เพื่อขาย หรือเป็นสินค้าที่อยู่ระหว่างการผลิต เช่น งานระหว่างทำ วัตถุดิบ วัสดุต่างๆ เพื่อใช้ในการผลิตสินค้า

6) สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น คือสินทรัพย์หมุนเวียนอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในรายการข้างต้น

– สินทรัพย์ไม่หมุนเวียน (Non-Current Assets) เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องน้อยกว่าสินทรัพย์หมุนเวียน และไม่อาจเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ภายใน 1 ปี หรือ 1 รอบระยะบัญชีของกิจการ มีความคงทนถาวร และก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการมากกว่า 1 ปี เช่น ที่ดิน อาคาร เงินลงทุนระยะยาว เงินให้กู้ยืมระยะยาว สินทรัพย์ที่ไม่สามารถจับต้องได้แต่มีมูลค่าก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการ เช่น เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์

การจัดรียงทรัพย์สินไม่หมุนเวียนของงบแสดงฐานะการเงิน ให้จัดเรียงตามลำดับที่มีสภาพคล่องสูงในการเปลี่ยนเป็นเงินสด ดังนี้

1) เงินทุนระยะยาว เป็นเงินทุนที่กิจการมีความต้องการที่จะลงทุนระยะยาวเกินกว่า 1 ปี เช่น เงินลงทุนในตราสารหนี้ เงินลงทุนกิจการอื่น บริษัทลูก

2) ที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ เป็นสินทรัพย์ถาวรที่กิจการมีไว้เพื่อประโยชน์ในระยะยาว ที่มากกว่า 1 ปี ได้แก่ ที่ดิน เป็นสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานไม่จำกัด ไม่ต้องคิดค่าเสื่อมราคา อาคารและอุปกรณ์ เช่น เครื่องจักร รถยนต์ โรงงาน

3) สินทรัพย์ไม่มีตัวตน เป็นสินทรัพย์ที่ไม่มีรูปร่าง จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ สัมปทาน ค่าความนิยม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งส่วนใหญ่ต้องถูกตัดค่าตัดจำหน่าย คล้ายกับค่าเสื่อมราคา

หนี้สิน  (Liabilities)

หนี้สิน  เป็น งบแสดงฐานะการเงิน ที่แสดงให้เห็นภาระผูกพันของกิจการในปัจจุบัน ที่ก่อให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรที่มีประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจของกิจการในอนาคต ซึ่งกิจการต้องจ่ายชำระคืนให้แก่บุคคลภายนอก โดยงบแสดงฐานะการเงินในส่วนของหนี้สินแบ่งออกเป็น 2 ประเภทดังนี้

– หนี้สินหมุนเวียน (Current Assets) หรือหนี้สินระยะสั้น เป็นภาระหนี้สินของกิจการที่ต้องชำระให้แก่บุคคลภายนอกภายในไม่เกิน 1 ปี เช่น ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร เงินกู้ยืมระยะสั้น เจ้าหนี้การค้า โดยหนี้สินหมุนเวียนต้องมีการจัดเรียงเหมือนสินทรัพย์ โดยเรียงตามระยะเวลาใช้คืน หนี้สินที่ต้องใช้คืนก่อน ให้เอาขึ้นก่อน ดังนี้

1) เงินเบิกเกินบัญชีและเงินกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคาร เช่น เงินเบิกเกินบัญชีธนาคาร และหนี้สินที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมระยะสั้นจากธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่น

2) เจ้าหนี้การค้า คือหนี้สินหรือภาระผูกพัน ที่กิจการจะต้องชำระให้แก่เจ้าหนี้ ที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือบริการ

3) ตั๋วเงินจ่าย คือตั๋วเงินที่กิจการได้จ่ายออกไป เพื่อชำระค่าสินค้าหรือบริการ เช่น ตั๋วแลกเงินหรือเช็คสั่งจ่ายล่วงหน้า ที่มีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

4) เงินปันผลค้างจ่าย คือเงินปันผลที่ประกาศจ่ายไปแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายให้แก่ผู้ถือหุ้น ณ วันปิดงวดบัญชี

5) เงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี คือเงินกู้ยืมระยะยาวเฉพาะส่วนที่ถึงกำหนดชำระคืนภายในรอบระยะเวลา 1 ปี ต่อจากนี้

6) หนี้สินหมุนเวียนอื่น คือหนี้สินหมุนเวียนอื่นที่ไม่อยู่ในรายการที่กล่าวมาแล้ว

          – หนี้สินไม่หมุนเวียน (Non-Current Assets) หรือหนี้สินระยะยาว เป็นภาระหนี้สินของกิจการที่ต้องชำระให้แก่บุคคลภายนอกที่มีเวลาชำระคืนเกิน 1 ปี เช่น เงินกู้ระยะยาว หุ้นกู้ระยะยาว โดยเรียงตามระยะเวลาใช้คืนก่อนดังนี้

1) เงินกู้ยืมระยะยาว คือเงินที่กู้ยืมจากบุคคลภายนอกหรือสถาบันการเงิน ที่มีระยะเวลาในการชำระคืนเกินกว่า 1 ปี

2) หุ้นกู้ระยาว คือหุ้นกู้ที่ออกโดยกิจการและมีระยะเวลามากกว่า 1 ปี

3) หนี้สินภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงาน คือหนี้สินผลประโยชน์หลังจากที่พนักงานออกจากงาน

4) หนี้สินอื่น คือหนี้สินอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในรายการที่กล่าวมาแล้ว

(ข้อมูลจาก https://www.mrlikestock.com)

 

 ส่วนของเจ้าของ

ส่วนของเจ้าของ หรือเงินทุนจากเจ้าของกิจการ คือ งบแสดงฐานะการเงิน ในส่วนของเจ้าของกิจการที่มีสิทธิหรือมีส่วนได้เสียคงเหลือในสินทรัพย์ของกิจการภายหลังจากที่ได้หักหนี้สินออกแล้ว หรือเรียกอีกอย่างว่า “สินทรัพย์สุทธิ” หรือส่วนที่สินทรัพย์มากกว่าหนี้สิน โดยจะต้องได้มาจากสมการที่ว่า “สินทรัพย์ – หนี้สิน = ส่วนของเจ้าของ” ซึ่งประกอบด้วย

ทุนเรือนหุ้น (Share Capital) คือการนำเงินมาลงทุนของเจ้าของกิจการ ประกอบด้วย

1) ทุนจดทะเบียน เป็นทุนที่กิจการจดทะเบียนตามกฎหมาย ต้องแสดงชนิดของหุ้น จำนวนหุ้น และมูลค่าของหุ้นที่จดทะเบียน

2) ทุนที่ออกแล้วชำระแล้ว เป็นหุ้นและมูลค่าหุ้นที่นำออกจำหน่ายและเรียกให้ชำระมูลค่าหุ้นแล้ว เป็นหุ้นจริงที่มีอยู่ตอนนั้น

3) ส่วนเกินมูลค่าหุ้น เป็นเงินค่าหุ้นส่วนที่สูงกว่ามูลค่าที่ตราไว้ของหุ้นสามัญและหุ้นบุริมสิทธิ

– กำไร (ขาดทุน) สะสม (Retained Earnings) คือกำไรสะสมที่ไม่ได้จ่ายเป็นเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น และเป็นกำไนที่กิจการสะสมไว้ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งกิจการ ซึ่งประกอบด้วย

1) กำไรสะสมจัดสรรแล้ว เป็นกำไรสะสมที่กันไว้เพื่อวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น จัดสรรเพื่อสำรองตามกฎหมาย

2) กำไรสะสมที่ยังไม่ได้จัดสรร เป็นกำไรสะสมคงเหลือหลังจากการจัดสรรแล้ว สามารถนำไปจ่ายเป็นเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ แต่ถ้าหากกิจการมีผลขาดทุนเรื่อยๆ จนค่าติดลบจะเป็น “ขาดทุนสะสม”

ทั้งนี้ ในทางปฏิบัติเมื่อ งบแสดงฐานะการเงิน เป็นส่วนหนึ่งของงบการเงิน เมื่อถึงเวลาต้องส่งข้อมูลงบการเงินให้กับสรรพากร ก็จำเป็นต้องให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบบัญชีและแสดงความคิดเห็นลงนามในงบการเงิน เพื่อให้ได้รายงานงบการเงินที่ถูกต้องสมบูรณ์

ดังนั้น เมื่อได้ข้อมูลที่ถูกต้องจากการตรวจสอบงบการเงินโดยสำนักงานบัญชีคุณภาพ หากกิจการนำ งบแสดงฐานะการเงิน ช่วงต้นปีที่ทำไว้ มาเปรียบเทียบกับงบแสดงฐานะการเงินตอนปลายปี จะสามารถสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงตลอด 1 ปีของกิจการ ว่าฐานะทางการเงินเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นหรือไม่

เปรียบเสมือนเป็นตัวช่วยให้กิจการได้วางแผนปรับกลยุทธ์การดำเนินกิจการ ให้บรรลุไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างทันท่วงที ดังนั้น อย่ามองข้ามภาพสะท้อนจาก “งบแสดงฐานะการเงิน” เพราะอาจจะทำให้คุณเกิดจุดเปลี่ยนทางธุรกิจได้ในอนาคต