ส่วนใหญ่การเริ่มต้นทำธุรกิจรูปแบบนิติบุคคล เจ้าของธุรกิจมักนิยมจดทะเบียนบริษัทประเภท “บริษัทจำกัด” และ จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ประเภท “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ทว่ายังมีประเภท “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” ที่หลายคนอาจไม่คุ้นเคยมากเท่าไหร่นัก
แต่เป็นอีกหนึ่งทางเลือก สำหรับเจ้าของธุรกิจที่ประกอบธุรกิจในลักษณะที่เข้าเงื่อนไข สามารถเลือกจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ประเภทห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลได้เช่นกัน (สามารถอ่านเพิ่มเติมความแตกต่างระหว่าง “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” กับ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล”ได้จากบทความ “ห้างหุ้นส่วน แบบไหนเหมาะกับธุรกิจของคุณ) ลิงก์
ดังนั้น ธุรกิจใดและใครเหมาะที่จะ จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน ประเภทไหน รวมถึงขั้นตอนการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจะยากหรือไม่ ไปทำความรู้จักกันค่ะ
ลักษณะห้างหุ้นส่วนเป็นอย่างไร
ห้างหุ้นส่วน คือ รูปแบบการจดทะเบียนนิติบุคคลรูปแบบหนึ่ง ซึ่งรูปแบบนี้ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงทำธุรกิจร่วมกัน ผู้ที่ร่วมกันก่อตั้งขึ้นมาสามารถจัดสรร และทำการตกลงกันตั้งแต่เริ่มต้นได้ว่าจะลงทุนด้วยเงิน ลงทุนด้านทรัพย์สิน หรือฝีมือแรงงาน
และต้องทำการตกลงกันตั้งแต่เริ่มแรก เนื่องจากการลงทุนและเมื่อตกลงกัน ทุกอย่างต้องตีราคาของสิ่งที่ลงทุนร่วมกันเป็นจำนวนเงิน โดยทางกฎหมายห้างหุ้นส่วนจะสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ
1.ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ห้างหุ้นส่วนจำกัด จะมีเงื่อนไขสำหรับเจ้าของธุรกิจที่ต้องการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนแบบ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” ดังนี้
– ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
– ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ
– ผู้ถือหุ้นมี 2 แบบคือ
1) “จำกัด” ความรับผิด คือรับผิดชอบตามเงินลงทุนของตนเอง แต่จะไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจในกิจการ มีสิทธิ์เพียงสอบถามการดำเนินงานของกิจการได้
2) “ไม่จำกัด” ความรับผิด คือรับผิดชอบหนี้สินทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากกิจการ โดยมีสิทธิ์ตัดสินใจต่างๆ ในกิจการได้อย่างเต็มที่ (หุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด)
2.ห้างหุ้นส่วนสามัญ (ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล)
ห้างหุ้นส่วนสามัญ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
1) ห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน จัดอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา
2) ห้างหุ้นส่วนสามัญแบบจดทะเบียน เรียกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล
โดยเงื่อนไขสำหรับผู้ที่ต้องการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนแบบ “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” มีดังนี้
– ต้องมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
– ไม่มีกำหนดทุนขั้นต่ำ
– ต้องร่วมกันรับผิดชอบหนี้สินของกิจการอย่างไม่จำกัด แต่หุ้นส่วนทุกคนมีสิทธิ์จัดการกับกิจการ และแบ่งปันกำไรจากกิจการได้
เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน
ก่อนที่เจ้าของธุรกิจจะขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน จำเป็นต้องเตรียมข้อมูลและเอกสารต่างๆ ให้ครบและถูกต้อง เพื่อให้การจดทะเบียนเป็นไปอย่างราบรื่นตั้งแต่ครั้งแรก ดังนี้
1.ข้อมูลและเอกสารที่ต้องเตรียมก่อนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน
– เตรียมชื่อจดทะเบียน สำหรับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนไว้ 3 ชื่อ เพื่อไม่ให้ซ้ำกับที่อื่น
– ทำความตกลงระหว่างหุ้นส่วนในเรื่องสำคัญต่างๆ
– กำหนดจำนวนเงินลงทุนจดทะเบียนของหุ้นส่วนแต่ละคน
– วัตถุประสงค์ของห้างหุ้นส่วน ว่าประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอะไร
– ชื่อ ที่อยู่ของหุ้นส่วนทุกคน
– สิ่งที่ลงหุ้นว่าเป็นอะไร จำนวนทุนที่หุ้นส่วนแต่ละคนนำมาลงทุน ซึ่งอาจจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หรือแรงงาน ซึ่งหากลงทุนด้วยแรงงาน ให้ระบุจำนวนเงินไว้ด้วยว่ามีค่าคิดเป็นเงินทุนเท่าไร
– ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ
– ข้อจำกัดหุ้นส่วนผู้จัดการ ( ถ้ามี)
– ดวงตราหรือตรายางของห้างหุ้นส่วน
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของกรรมการและสำเนาทะเบียนบ้าน พร้อมเซ็นรับรองสำเนาถูกต้อง
– สำเนาทะเบียนบ้านของที่ตั้งสำนักงาน
2.แบบพิมพ์ที่ใช้ในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน
– คำขอ แบบ หส.1
– หน้าหนังสือรับรอง
– รายการ หส.2
– เอกสารประกอบรายการ แบบ ว. ตามประเภทธุรกิจ
ว.1 พาณิชยกรรม
ว.2 บริการ
ว.3 อุตสาหกรรมและหัตถกรรม
ว.4 เกษตรกรรม
ว.5 สำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค
– แบบ สสช.1 จำนวน 2 ฉบับ (ภูมิภาคใช้ 3 ฉบับ)
– ใบสำคัญรับชำระเงินลงหุ้น
– หนังสือมอบอำนาจ (กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไม่ได้ไปยื่นด้วยตนเอง)
ขั้นตอนการขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน
1.ยื่นแบบขอจองชื่อห้างหุ้นส่วนเพื่อตรวจสอบไม่ให้ซ้ำกับห้างหุ้นส่วนบริษัทอื่น โดยสามารถตรวจสอบชื่อ และจองชื่อห้างหุ้นส่วนได้ 2 ทางคือ
1.1 จองผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ทุกแห่ง
1.2 จองผ่านอินเตอร์เน็ต โดยกรอกข้อมูลที่เว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า https://www.dbd.go.th/
2.กรอกรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อของห้างหุ้นส่วน วัตถุประสงค์ที่กิจการจะทำ สถานที่ตั้งห้าง ชื่อ ที่อยู่ อายุ สัญชาติ สิ่งที่นำมาลงทุน ลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ชื่อหุ้นส่วนผู้จัดการ ข้อจำกัดอำนาจหุ้น ส่วนผู้จัดการ (ถ้ามี) และประทับตราสำคัญของห้างในแบบพิมพ์คำขอจดทะเบียนจัดตั้ง
3.ต้องไปยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนภายใน 30 วัน นับจากวันที่นายทะเบียนมีคำสั่งอนุญาตจองชื่อห้างหุ้นส่วนแล้ว โดยยื่นขอจดได้ 2 แบบ คือ
3.1 ให้หุ้นส่วนผู้จัดการเป็นผู้ยื่นขอจดทะเบียน ซึ่งโดยปกติการยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลและห้างหุ้นส่วนจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะต้องลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนต่อหน้านายทะเบียน หุ้นส่วนบริษัท
หากในกรณีหุ้นส่วนผู้จัดการไม่ประสงค์ไปลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียน ให้ลงลายมือชื่อต่อหน้าสามัญหรือวิสามัญสมาชิกแห่งเนติบัณฑิตยสภา เพื่อเป็นการรับรองลายมือชื่อ ของตนได้ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการจะมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปยื่นจดทะเบียนแทนก็ได้
3.2 สามารถยื่นผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่ https://ereg.dbd.go.th/ERegistMemberWeb/nonmemberpages/home.xhtml (สามารถดูวิธีการจดทะเบียนบริษัทด้วยตนเองทางอินเตอร์เน็ตแบบ step by step ละเอียดทุกขั้นตอนได้จากคลิป)
4.ในกรณีที่นำไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถข้ามเขตไปได้ทุกแห่ง พร้อมชำระค่าธรรมเนียมการจัดตั้ง (ยกเว้นจดเปลี่ยนแปลงต้องไปที่พื้นที่นั้นเท่านั้น)
5.เมื่อจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนเสร็จสิ้น ให้ขอใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนมาคัดสำเนาเก็บไว้ด้วยดังนี้
– หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วน (ทุกหน้า)
– หส.2 (มี 3 หน้า)
ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน
ค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน จะนับจากจำนวนผู้เป็นหุ้นส่วน หากหุ้นส่วนไม่เกิน 3 คน จะเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท แต่ถ้าหากเกิน 3 คน จะเสียค่าธรรมเนียมหุ้นส่วนที่เกินเพิ่มอีกคนละ 200 บาท และมีค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมดังนี้
– ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน 1,000 บาท
– ค่าธรรมเนียมออกหนังสือรับรองหุ้นส่วนบริษัท 200 บาท
– ใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน 100 บาท
ทั้งนี้ หากจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนผ่านทางระบบออนไลน์ จะเสียค่าธรรมเนียมถูกลง 50% โดยห้างหุ้นส่วนมีอัตราค่าธรรมเนียมเหลือเพียง 500 บาทเท่านั้น ซึ่งหากใครที่สามารถจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนผ่านทางระบบออนไลน์เองได้ก็จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋าได้เป็นอย่างมาก
แต่อาจจะเสียเวลาในการเตรียมข้อมูลรายละเอียด และเอกสารต่างๆ อยู่บ้าง เพราะจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องข้อมูลและเอกสารอย่างถูกต้อง หรือแม้แต่การไปยื่นเองที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่องเอกสารและข้อมูลดังกล่าวก็สำคัญไม่ต่างกัน ต้องยื่นให้ครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อไม่ให้เสียเวลาในการต้องยื่นใหม่
หรือเพื่อตัดปัญหาในเรื่องที่ไม่ถนัดและไม่มีเวลาออกจากชีวิต ก็สามารถใช้บริการสำนักงานบัญชีที่รับจดทะเบียนบริษัทห้างหุ้นส่วนได้เช่นกัน