ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ผู้ตรวจสอบบัญชีมีกี่ประเภท ต่างกันอย่างไร และหลักการเลือกใช้บริการ

ผู้ตรวจสอบบัญชีมีกี่ประเภท

ผู้ตรวจสอบบัญชีมีกี่ประเภท … เชื่อว่าผู้ประกอบการที่ดำเนินกิจการมานาน หรือเป็นองค์กรขนาดใหญ่คงทราบดีอยู่แล้วว่า เมื่อใดที่มีการจดทะเบียนนิติบุคคล งานบัญชีของกิจการจะต้องมีการตรวจสอบบัญชีจากผู้สอบบัญชีอิสระ ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการ ก่อนส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า หรือต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีที่ตรงกับรูปแบบธุรกิจของกิจการ รวมถึงตรวจสอบอื่นๆ เช่น ตรวจสอบการทำงาน ตรวจสอบการทุจริตภายในองค์กร ก็จะต้องมีผู้ตรวจสอบที่ผ่านการสอบใบอนุญาตเข้ามาตรวจสอบ

แต่เนื่องจากผู้ตรวจสอบบัญชีนั้นมีหลายประเภท และมีหน้า

ที่ในการตรวจสอบต่างกัน หากเป็นกิจการเปิดใหม่เพิ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล อาจยังไม่ทราบว่า ผู้ตรวจสอบบัญชีมีกี่ประเภท แล้วรูปแบบกิจการของเราควรใช้บริการผู้ตรวจสอบบัญชีแบบไหนบ้าง

ตามหลักการแล้วผู้สอบบัญชีจะมีทั้งหมด 4 ประเภท คือ

1.ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

2.ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป

3.ผู้สอบบัญชีตลาดทุน

4.ผู้ตรวจสอบภายใน

และทั้งหมดทำหน้าที่ต่างกัน ซึ่งกิจการต้องเลือกใช้ผู้สอบบัญชีให้ตรงกับรูปแบบธุรกิจ และจุดประสงค์หลักของกิจการ ดังสามารถอธิบายแยกย่อยได้ดังนี้

ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA : Tax Auditor)  

ผู้สอบบัญชีภาษีอากร (TA : Tax Auditor) คือผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้ขอขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมสรรพากร มีหน้าที่ตรวจสอบและออกรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชี สำหรับกิจการที่เป็นห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก มีทุนจดทะเบียนหรือทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมและรายได้รวมของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท

โดยผู้สอบบัญชีภาษีอากร จะต้องปฏิบัติงานตามแนวทางและวิธีการตรวจสอบที่กรมสรรพากรกำหนด โดยใช้วิธีการทดสอบและวิธีการตรวจสอบอื่นที่เหมาะสม ซึ่งนอกจากการตรวจสอบงบการเงินว่าตรงตามสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีและเป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปแล้ว ยังต้องตรวจสอบว่ากิจการได้ปรับปรุงกำไร(ขาดทุน)สุทธิเพื่อเสียภาษีถูกต้องตามประมวลรัษฎากรหรือไม่

ดังนั้น ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องมีความสามารถทางการบัญชีและภาษีอากร สามารถทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาภาษีอากรได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการเสียภาษีได้ถูกต้อง และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น

 

ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก (External Auditor) หรือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป (CPA : Certified Public Accountant)

ผู้ตรวจสอบบัญชีภายนอก (External Auditor) หรือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป (CPA : Certified Public Accountant) คือผู้ตรวจสอบตามกฎหมาย Statutory Auditor ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้สอบบัญชีที่ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ.2547

ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี และแสดงความเห็นไว้ในรายงานการสอบบัญชี ซึ่งจัดทำรายงานเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินของกิจการ ว่างบการเงินจัดทำขึ้นตามมาตรฐานรายงานทางการเงินหรือไม่

โดยมีอำนาจตรวจสอบ และรับรองงบการเงินสำหรับกิจการที่เป็นนิติบุคคลทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจำกัด หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดใหญ่ และห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก ยกเว้นงบการเงินที่ต้องใช้ผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก กลต. ซึ่งสามารถรับรองได้แค่งบการเงินเท่านั้น

ทั้งนี้ สัดส่วนของธุรกิจโดยทั่วไปสำหรับการจัดทำบัญชี งบการเงิน จะอยู่ในกลุ่ม “ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั่วไป” เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งสิ่งที่จำเป็นคือต้องใช้ผู้สอบบัญชีอิสระที่ไม่ใช่พนักงานของกิจการ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการเข้ามาตรวจสอบ

ด้วยเหตุนี้กิจการจึงต้องเลือกผู้สอบบัญชีภายนอกที่เปิดรับตรวจสอบบัญชี ซึ่งมีหลากหลายให้เลือกทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดา และอยู่ในรูปแบบสำนักงานบัญชี โดยการเลือกให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือเป็นหลัก เพื่อให้การตรวจสอบบัญชีของกิจการมีคุณภาพที่สุด

 

ผู้สอบบัญชีตลาดทุน (List of Auditors Approved by the office of SEC)

ผู้สอบบัญชีตลาดทุน (List of Auditors Approved by the office of SEC) คือผู้ที่ได้รับอนุญาตความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ในการรับรองงบการเงินสำหรับบริษัทที่อยู่ในตลาดทุน หรือบริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียนในตลาดทุน (IPO) ที่มีตลาดทุนคือศูนย์กลางมีการออกสินค้าเป็นหลักทรัพย์ขายให้แก่ประชาชนเพื่อถือครองไว้และถือว่าเป็นพันธะสัญญาต่อกัน

โดยมีทั้งหุ้นสามัญ หุ้นกู้ พันธบัตร กองทุนรวมต่างๆ งบการเงินของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ยกเว้นกองทุนที่มีสมาชิกไม่เกิน 100 คน และมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิไม่เกิน 100 ล้านบาท ซึ่งพิจารณา ณ วันสิ้นเดือนก่อนวันที่แต่งตั้งผู้สอบบัญชี และผู้สอบบัญชีนั้น (CPA) ต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมสมาชิกให้ใช้ผู้สอบบัญชีทั่วไปได้

 

ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditors) หรือ IA

ผู้ตรวจสอบภายใน (Internal Auditors) หรือ IA คือบุคคลที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภายในองค์กร และประเมินประสิทธิภาพระบบการควบคุมภายในให้แก่องค์กรอย่างเป็นอิสระ รวมทั้งการประเมินประสิทธิภาพการบริหารความเสี่ยงขององค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงการปฏิบัติงานขององค์กร และมีการควบคุมและกำกับดูแลกิจการอย่างเป็นระบบ โดยเน้นความสำคัญในการตรวจสอบการดำเนินงาน การปฏิบัติตามกฎระเบียบขององค์กร ซึ่งไม่ใช่การตรวจสอบงบการเงินและบัญชี     

โดยฝ่ายบริหารของกิจการอาจแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายใน จากพนักงานในหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกก็ได้ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นพนักงานของกิจการ และให้ผู้ตรวจสอบภายในคอยตรวจสอบหน่วยงานต่างๆ และเสนอรายงานต่อผู้บริหารระดับสูง หรือคณะกรรมการตรวจสอบ

ที่สำคัญผู้ตรวจสอบภายในต้องมีความเป็นอิสระจากหน่วยงานที่ไปตรวจสอบ เพื่อให้การรายงานผลเป็นไปอย่างถูกต้องและตรงไปตรงมา ทำให้เกิดการแก้ไขที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของกิจการ

สรุป

เมื่อทราบแล้วว่าผู้ตรวจสอบบัญชีมีกี่ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทมีขอบเขตการทำงานและหน้าที่แตกต่างกัน แต่ทุกประเภทจะต้องผ่านการสอบใบอนุญาตก่อนทั้งสิ้น จึงจะสามารถเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้มีอำนาจในการตรวจสอบบัญชีในด้านต่างๆ อย่างเป็นอิสระต่อหน่วยงานที่เข้าตรวจสอบ

ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการต้องเลือกผู้ตรวจสอบบัญชีให้เข้ามาตรวจสอบด้านต่างๆ ของกิจการ ควรเลือกให้ตรงรูปแบบของกิจการและที่สำคัญต้องผ่านการสอบใบอนุญาตด้วย