ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

เมื่อไหร่ที่กิจการควร จดทะเบียนเพิ่มสาขา และต้องทำอย่างไร  

จดทะเบียนเพิ่มสาขา

“กิจการจะต้อง จดทะเบียนเพิ่มสาขา เมื่อมีสถานประกอบการมากกว่า 1 แห่ง”

ทุกการลงมือทำไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม ย่อมมีจุดหมายปลายทางคือความสำเร็จ ไม่เว้นแม้แต่การทำธุรกิจ หากใครที่ตัดสินใจลงมือทำไปแล้ว จุดหมายของเขาล้วนอยากประสบความสำเร็จด้วยกันทั้งสิ้น แต่อาจต่างกันแค่เส้นชัยของแต่ละคนจะถูกวางไว้ที่จุดไหนเท่านั้นเอง

สำหรับเจ้าของกิจการที่วางเป้าหมายไว้ค่อนข้างใหญ่ เมื่อดำเนินกิจการมาถึงจุดที่พื้นที่สถานประกอบการเริ่มไม่เพียงพอต่อการใช้งานในธุรกิจ เช่น สถานที่ผลิตสินค้า โกดังเก็บของ หรือต้องมีพื้นที่หน้าร้านเพื่อขายสินค้า ทำให้ต้องมีการขยายสถานประกอบการเพิ่มขึ้น

และสิ่งที่ตามมาเมื่อมีการขยายสถานประกอบการมากกว่า 1 แห่ง นั่นคือเรื่องของการจดทะเบียนเพิ่มสาขา แต่ถ้าหากสถานที่ตั้งนั้นใช้ประกอบกิจการเพียงแค่ชั่วคราว จะไม่ถือเป็นสถานประกอบการ จึงไม่ต้อง จดทะเบียนเพิ่มสาขา

สถานประกอบการแบบไหนที่ต้อง จดทะเบียนเพิ่มสาขา

สถานประกอบการที่เข้าข่ายลักษณะที่ต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขา จะต้องเป็นสถานที่ที่ผู้ประกอบการใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ ซึ่งหมายรวมถึงสถานที่ซึ่งเป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย โดยสถานประกอบการที่ต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

1.ใช้ประกอบกิจการ เช่น หน้าร้านขายสินค้า

2.ใช้ในการผลิตสินค้าหรือวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น โรงงานผลิตสินค้า

3.ใช้เป็นคลังเก็บสินค้า เช่น โกดังเก็บสินค้า

แต่อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วว่า หากสถานที่ตั้งใช้ประกอบกิจการเพียงแค่ชั่วคราว จะไม่ถือเป็นสถานประกอบการ ซึ่งถ้าหากทั้ง 3 ประเภทดังกล่าวนี้ใช้เป็นเพียงสถานที่ตั้งชั่วคราว ก็ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขาเช่นกัน

 

ลักษณะแบบไหนไม่ต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขา

 

นอกจากสถานที่ตั้งที่ใช้ประกอบกิจการเพียงแค่ชั่วคราว จะไม่ต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขาแล้ว ยังมีลักษณะสถานประกอบการอีกหลายรูปแบบที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขา ดังนี้

– จ้างบริษัทอื่นผลิตสินค้าหรือวัสดุอุปกรณ์ให้ โดยไม่มีพนักงานของกิจการไปปฏิบัติงาน หรือให้บริการลูกค้าเลย หลังจากผลิตเสร็จผู้รับจ้างผลิตก็ส่งสินค้าคืนให้กับกิจการ ลักษณะนี้จะไม่เข้าเงื่อนไขสถานประกอบการประจำ จึงไม่ต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขา

– เช่าโกดังเก็บสินค้า และผู้รับฝากรับผิดชอบในการดูแลรักษาสินค้าของกิจการ หากเกิดการเสียหาย สูญหาย ผู้รับฝากต้องรับผิดชอบ ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการให้บริการรับฝากทรัพย์ รวมทั้งกิจการไม่มีสิทธิครอบครองคลังสินค้าที่ใช้จัดเก็บสินค้า จึงไม่ถือเป็นสถานที่เก็บสินค้าประจำ และไม่ต้องจดทะเบียนเพิ่มสาขา

– กิจการรับเหมาก่อสร้าง หน่วยงานก่อสร้าง หรือที่อยู่อาศัยเพื่อก่อสร้างบ้าน คอนโดให้กับลูกค้า เมื่อสร้างเสร็จก็ย้ายออกจากหน่วยก่อสร้างนั้นๆ ซึ่งถือเป็นหน่วยก่อสร้างชั่วคราว ไม่ต้องจดทะเบียนสาขา

– จัดบู๊ธขายสินค้าหรือแนะนำสินค้าตามงานแสดงสินค้าต่างๆ เนื่องจากไม่ได้ประกอบกิจการเป็นประจำ จึงไม่ต้องจดทะเบียนสาขา

 

หลักการประเมินเบื้องต้นด้วยโปรแกรมประเมิน กิจการควรจดทะเบียนสาขาเพิ่มหรือไม่ 

กิจการสามารถประเมินเบื้องต้นด้วยตนเองได้ว่า ลักษณะโกดัง โรงงาน ร้านสาขาของตนเองนั้น เข้าข่ายต้องจดเพิ่มสาขาหรือไม่ โดยเริ่มจากสำรวจลักษณะการใช้งานของพื้นที่ต่างๆ ที่นำมาใช้ประโยชน์ของกิจการ ดังตัวอย่าง…

 

 

โดยผลการประเมินจะทำให้กิจการทราบว่าถึงเวลาที่ควรจดทะเบียนเพิ่มสาขาแล้วหรือยัง ซึ่งใครที่อยากทดลองแบบประเมินสามารถกดเพิ่มเพื่อน แล้วโหลดแบบประเมินไปใช้ได้ ฟรี!

 

จดทะเบียนเพิ่มสาขา ยุ่งยากจริงหรือไม่  

การจดทะเบียนเพิ่มสาขาสำหรับบริษัทจำกัด ต้องยื่นขอจดทั้ง 2 แห่ง คือที่กรมสรรพากร  ก่อนวันเปิดสถานประกอบการเพิ่มไม่น้อยกว่า 15 วัน และที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนเพิ่มสาขา ดังนี้

1.จดทะเบียนสาขาเพิ่มที่ “กรมสรรพากร”

– แบบภ.พ. 09 จำนวน 5 ชุด

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ จำนวน 1 ชุด

– สำเนาทะเบียนบ้านกรรมการผู้มีอำนาจ จำนวน 1 ชุด

– แผนที่ตั้งสาขาบริษัทที่เพิ่มใหม่ 1 ชุด

– สำเนาสัญญาซื้อขาย 1 ชุด (กรณีซื้อสำนักงาน)

– สำเนาสัญญาเช่า 1 ชุด (กรณีเช่าสำนักงาน)

– หนังสือยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ 1 ชุด

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าบ้าน/ผู้ให้เช่าผู้มีอำนาจ จำนวน 1 ชุด

– สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าบ้าน/ผู้ให้เช่า จำนวน 1 ชุด

– รูปถ่ายบริษัท 3 รูป

– รูประยะไกลให้เห็นป้ายชื่อบริษัทและป้ายบ้านเลขที่ในรูปเดียวกัน

– รูปถ่ายระยะไกลให้เห็นทั้งตัวอาคาร

– รูปถ่ายภายในอาคาร

– สำเนาหนังสือรับรองบริษัท (ฉบับปัจจุบัน ไม่เกิน 6 เดือน) จำนวน 1 ชุด

– หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

2.จดทะเบียนสาขาเพิ่มที่ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า”

แบบ บอจ.1

– หนังสือรับรองการจดทะเบียน

– แบบ บอจ.4

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ

– หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

 

มีสถานประกอบการเพิ่ม แต่ไม่จดทะเบียนเพิ่มสาขาได้หรือไม่

เมื่อกิจการได้มีการเพิ่มสถานประกอบการมากกว่า 1 แห่ง และตรงตามเงื่อนไขข้างต้น จะต้องทำการจดทะเบียนเพิ่มสาขา ซึ่งถ้าหากดำเนินการเปิดสถานประกอบการโดยไม่แจ้งเพิ่มล่วงหน้า สรรพากรมีกำหนดโทษคือปรับไม่เกิน 5,000 บาท

และยังส่งผลเสียต่อการนำรายจ่ายไปใช้ประโยชน์ทางภาษีด้วย อย่างเช่นใบกำกับภาษีต้องมีการระบุสาขาที่ใช่ใบกำกับภาษีซื้อ หากระบุไม่ตรงสาขาที่ต้องเคลมภาษีซื้อ ทางสรรพากรอาจตีเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

รวมถึงทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ให้สรรพากรพบความผิดปกติ เรื่องการเพิ่มสถานประกอบการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และเกิดการตรวจสอบในภายหลังอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้

แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีกิจการอยู่ไม่น้อยที่ไม่สะดวก และไม่สันทัดทั้งในเรื่องของการเตรียมเอกสาร การดำเนินการขอจดทะเบียนเพิ่มสาขา เนื่องจากต้องยื่นจดทะเบียนเพิ่มสาขาถึง 2 แห่ง และหากเกิดความผิดพลาด จะต้องแก้ไขหลายรอบ ดังนั้น กิจการสามารถขอคำปรึกษาและให้สำนักงานบัญชีที่รับจดทะเบียนบริษัท จดทะเบียนเพิ่มสาขา ได้เช่นกัน