งบกำไรขาดทุน หรืองบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ เป็นการแสดงข้อมูลผลการดำเนินงานของกิจการในรูปแบบของรายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และกำไร/ขาดทุนของกิจการ ในระยะเวลาหนึ่ง เช่น ทุกไตรมาส ทุกรอบปี ซึ่งลักษณะเด่นของงบกำไรขาดทุนมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ คือ รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร/ขาดทุน
โดยไม่ลืมว่าสุดท้ายงบกำไรขาดทุนนี้ จะต้องผ่านการตรวจสอบงบการเงินจากผู้สอบบัญชีที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการ หรือส่งให้สำนักงานบัญชีที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ช่วยตรวจสอบความถูกต้องของงบการเงิน และส่งข้อมูลแก่สรรพากร
และผลของการทำรายงานงบกำไรขาดทุนที่ถูกต้อง จะบอกได้ว่ากิจการทำกำไรได้เท่าไรตลอดทั้งปี และทราบว่าผลกำไรหรือขาดทุนของกิจการนั้นมาจากส่วนใด เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงาน และคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต
งบกำไรขาดทุน (รายได้ – ค่าใช้จ่าย = กำไร/ขาดทุน) ที่ควรรู้
1.รายได้
สูตรงบกำไรขาดทุนเริ่มจาก รายได้ คือรายรับที่กิจการได้มาจากการดำเนินธุรกิจขายสินค้าและบริการ หรืออาจจะอยู่ในรูปของผลตอบแทนอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานปกติทั่วไป เช่น รายได้จากดอกเบี้ยธนาคาร ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.1 รายได้จากการขายและการให้บริการ เป็นรายได้ที่เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ หรือรายได้จากการขายสินค้าและบริการ เป็นธุรกิจหลักของกิจการเพื่อแลกเปลี่ยนกับเงินสด สิทธิเรียกร้องให้ชำระเงิน หรือสิ่งอื่นที่มีมูลค่าเป็นเงินได้ โดยให้แยกรายได้ตามแต่ละประเภท เช่น
– รายได้จากการขายสินค้า
– รายได้จากการให้บริการ
1.2.รายได้อื่น เป็นรายได้ที่เกิดจากการดำเนินงานอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานตามปกติ ไม่ได้มาจากธุรกิจหลักของกิจการ หรือรายได้เสริม เช่น
– ดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้จากธนาคาร
– รายได้พิเศษ เช่น กำไรจากการขายเงินลงทุน กำไรจากการขายที่ดิน อาคารและอุปกรณ์
2.ค่าใช้จ่าย
ขั้นต่อมาของงบกำไรขาดทุน คือการนำรายได้ลบด้วย ค่าใช้จ่าย คือต้นทุนการขายสินค้าและบริการ ค่าใช้จ่ายในการขาย การบริการ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากการดำเนินงานตามปกติ และต้นทุนทางการเงิน เรียกว่าค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น โดยไม่รวมการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นการลดลงของทรัพยากรที่เป็นประโยชน์ของกิจการที่เกิดขึ้นในรอบบัญชีนั้นๆ อธิบายโดยละเอียดได้ดังนี้
2.1 ต้นทุนขายและต้นทุนการให้บริการ หมายถึงต้นทุนของสินค้า สิทธิ หรือบริการที่ขาย รวมถึงราคาซื้อ ต้นทุนการผลิต และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จ่ายไปเพื่อให้สินค้าอยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะขาย โดยแยกแสดงเป็นต้นทุนตามประเภทของธุรกิจหลักของกิจการ คือต้นทุนของสินค้าที่ขาย ต้นทุนของการให้บริการ
ตัวอย่างเช่น ค่าเสื่อมราคาที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนสินค้า คือการปันส่วนมูลค่าเสื่อมสภาพตลอดของสินทรัพย์ตลอดอายุการใช้งาน เป็นค่าใช้จ่ายที่ตัดจากมูลค่าของสินทรัพย์ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 1 ปี (สินทรัพย์ถาวร) เช่น อาคาร โรงงาน เครื่องจักร รถยนต์
2.2 ค่าใช้จ่ายในการขาย หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการขาย เช่น เงินเดือนที่ไม่ใช่ค่าแรงทางตรง เช่นเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่นพนักงานขาย
2.3 ค่าใช้จ่ายในการบริหาร หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการบริหารกิจการอันเป็นส่วนรวม เช่น เงินเดือนพนักงานฝ่ายบริหาร ค่าน้ำ ค่าไฟในสำนักงาน ค่าโทรศัพท์ ค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์ และหนี้สูญ
2.4 ค่าใช้จ่ายอื่นๆ หมายถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน นอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการขายและในการบริการ เช่น
– ดอกเบี้ยจ่าย เป็นค่าใช้จ่ายทางการเงิน หรือต้นทุนทางการเงินนั่นเอง ซึ่งกิจการมีหน้าที่จ่ายให้แก่เจ้าหนี้เงินกู้ ไม่ว่าจะเป็นเงินกู้ระยะสั้น หรือเงินกู้ระยะยาว ทั้งนี้ หากกิจการมีหนี้สินจำนวนมาก ก็จะทำให้มีค่าใช้จ่ายในเรื่องดอกเบี้ยมากตามไปด้วย
– ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่กิจการจะต้องเสียจากกำไรของการประกอบกิจการให้แก่สรรพากร แต่บางกรณีอาจได้รับการยกเว้นภาษี เช่น การส่งเสริมกาลงทุน
ทั้งนี้ โดยให้รวมถึงขาดทุนอื่นๆ เช่น
– ผลขาดทุนจากการจำหน่ายเงินลงทุน
– ผลขาดทุนจากการจำหน่ายที่ดินอาคาร อุปกรณ์
– ผลขาดทุนจากการหยุดงานของพนักงาน
3.กำไร (ขาดทุน)
สุดท้ายงบกำไรขาดทุนที่ได้จากการนำรายได้ – ค่าใช้จ่ายจะได้ = กำไร (ขาดทุน) คือตัวเลขที่แสดงผลประกอบการที่ผ่านมา และแสดงถึงความสามารถในการดำเนินงานของกิจการ ซึ่งแบ่งได้ดังนี้
3.1 กำไร/ขาดทุนขั้นต้น เกิดจากรายได้หลักหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด ก็จะได้ตัวเลขออกมาเป็นกำไร หรือขาดทุนขั้นต้น เป็นตัวเลขก่อนหักภาษี ที่ใช้ในการคำนวณจำนวนเงินที่ต้องจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยหลักเกณฑ์ในการจ่ายภาษี คือ
– ถ้าหากรายได้มากกว่าค่าใช้จ่าย กิจการจะต้องเสียภาษี โดยภาษีที่ต้องจ่าย = กำไร x อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล (สามารถอ่านวิธีคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ได้ “แนวทางวางแผนภาษีนิติบุคคล”)
– ถ้าหากรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย กิจการไม่ต้องเสียภาษี
3.2 กำไร/ขาดทุนสุทธิ เป็นตัวเลขสุดท้ายที่แสดงในงบกำไรขาดทุน ซึ่งเกิดจากการนำผลกำไร/ขาดทุนขั้นต้นมาลบออกจากภาษีจ่าย ได้เป็นกำไร/ขาดทุนสุทธิ ที่ใช้วัดผลกำไรของกิจการ และเมื่อจบงวดบัญชี ตัวเลขดังกล่าวจะถูกนำไปบวกหรือลบจากกำไรสะสม ซึ่งเป็นบรรทัดหนึ่งในส่วนของผู้ถือหุ้นในรายงานแสดงงบดุล(ข้อมูลจาก https://www.chaniyada.com/p=116)
“งบกำไรขาดทุน” ช่วยกิจการได้อย่างไรบ้าง
กิจการสามารถนำข้อมูลงบกำไรขาดทุน มาเป็นตัวช่วยในการดำเนินธุรกิจของกิจการได้หลายๆ ด้าน ดังนี้
– งบกำไรขาดทุนจะช่วยทำให้ทราบผลการดำเนินงานในช่วงระยะเวลาหนึ่งของกิจการ ทั้งรายได้ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และสุดท้ายมีมีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร
– ทำให้ทราบถึงกำไรขาดทุนอื่นที่มีผลต่องบการเงิน นอกเหนือจากการดำเนินงานปกติ
– ทำให้ทราบถึงอัตรากำไรขั้นต้นและกำไรสุทธิ เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของกิจการ และความสามารถของผู้บริหาร
– ทำให้ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลจาก “งบกำไรขาดทุน” เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายของกิจการ
– กำไรขาดทุนที่เกิดขึ้นในแต่ละงวด จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกำไรสะสม เพื่อใช้คาดการณ์เงินปันผลที่จะได้รับ
– งบกำไรขาดทุนจะแสดงต้นทุนทางการเงิน และภาระดอกเบี้ยที่กิจการต้องแบกรับ
– สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนขยายกิจการ
– สามารถใช้ในการวางแผนการดำเนินธุรกิจของกิจการได้
สรุป
ข้อมูลตัวเลขต่างๆ ในรายงานงบกำไรขาดทุน เปรียบเสมือนภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นการดำเนินกิจการได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้กิจการสามารถคาดการณ์ และวางแผนธุรกิจของตนเองในอนาคตได้แม่นยำขึ้น รวมถึงมีผลต่อการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นอย่างมาก
ดังนั้น เพื่อให้การจัดการงบกำไรขาดทุนมีความถูกต้องและครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด ควรมีผู้สอบบัญชีอนุญาตตรวจสอบบัญชีให้