ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

จุดเสี่ยง! หมอฟันเปิดคลินิก อาจถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

หมอฟันถูกสรรพากรเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับในเรื่องของภาษี คือเรื่องของการยื่นภาษีผิดพลาด โดยเฉพาะบุคคลธรรมดาที่มักยังไม่เข้าใจเรื่องการจัดเก็บภาษีตามลักษณะการประกอบอาชีพของตนเอง บางรายไม่ได้ยื่นแบบฯ ภาษีเลย หรือบางรายอาจเสียภาษีขาด/ตก ไม่ครบถ้วนถูกต้องไปโดยไม่รู้ตัว

และที่สรรพากรมักพบความผิดปกติอยู่บ่อยครั้งจากการเสียภาษีไม่ถูกต้อง คือ “อาชีพแพทย์” เนื่องจากแพทย์จะมีรายได้อยู่ในหลายมาตรา ซึ่งหมายรวมถึงทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกทันตกรรมด้วย จะมีรายได้จากหลายช่องทางมาก ทั้งรายได้ส่วนตัวและรายได้จากการประกอบธุรกิจคลินิกทันตกรรมของตนเอง ทำให้แยกประเภทยื่นภาษีผิดพลาดบ่อย เพราะไม่แน่ใจว่ารายได้ของตนเองเข้าข่ายเสียภาษีตามมาตราใดกันแน่ ทำให้เสียภาษีไม่ครบตามรายได้จริงที่สรรพากรตรวจสอบพบ

ดังนั้น จุดเสี่ยงที่ทำให้หมอฟันของเราจากที่เสียภาษีแค่จากรายได้ส่วนตัว เมื่อมีการเปิดคลินิกเป็นของตัวเอง จะมีรายได้จากการประกอบธุรกิจคลินิกเข้ามาเพิ่มด้วย จึงทำให้มีโอกาสสูงมากที่จะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง หากทันตแพทย์ยื่นแบบฯ และเสียภาษีไม่ตรงกับข้อมูลที่แท้จริงที่สรรพากรมี ซึ่งสรรพากรสามารถทราบข้อมูลรายได้เหล่านี้ได้จากหลายช่องทางด้วยกัน ดังนี้

 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)    

เมื่อทันตแพทย์มีคลินิกเป็นของตัวเอง อาจลืมเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มไป เนื่องจากได้รับยกเว้นรายรับจากการให้บริการรักษาไม่ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อจดภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ความจริงแล้วยังมีเรื่องเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยแบบค่อนข้างซับซ้อน

ทั้งนี้ หากทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกแบบไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีรายได้จากหลายช่องทาง เช่น เงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าตอบแทนพิเศษในการดูแลผู้ป่วยที่ได้รับจากโรงพยาบาลที่ทำงานประจำ เป็นเงินได้พึงประเมิน 40(1)

รายได้ที่ได้รับเป็นครั้งคราวที่อื่นนอกเหนือจากโรงพยาบาลที่ทำงานประจำ เช่น เป็นที่ปรึกษา ค่าเบี้ยประชุม เข้าไปรักษาให้กับบริษัทเอกชนเป็นครั้งคราว เป็นเงินได้พึงประเมิน 40(2)  รายได้จากค่าเช่า การตกลงให้ยืมสถานที่และอุปกรณ์ของคลินิกตนเองเพื่อใช้รักษาฟัน เป็นเงินได้พึงประเมิน 40(5)  รายได้จากการจำหน่ายอุปกรณ์รักษาฟัน เช่น แปรงสีฟัน ยาสีฟัน จากคลินิกของตนเอง เป็นเงินได้พึงประเมิน 40(6)

ดังนั้น เมื่อทันตแพทย์หรือเจ้าของคลินิกมีรายได้พึงประเมิน 40(2) 40(5) 40(6) ต้องนำมารวมเป็นรายได้เพื่อจดภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ยกเว้นเงินเดือนประจำ 40(1) ไม่ต้องนำมารวมเป็นรายได้ นอกจากนี้แม้ว่าคลินิกทันตกรรมจะไม่ได้ขอใบอนุญาตเป็นสถานพยาบาล แต่ถ้ารายได้เหล่านี้เกิน 1.8 ล้านบาท ก็ยังต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่ดี

เพราะฉะนั้น หากทันตแพทย์หรือเจ้าของคลินิกขาดการวางแผนในเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ดี ก็มีสิทธิที่จะถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบย้อนหลังได้

 

สำนักงานประกันสังคม 

ทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกเป็นของตนเอง และเลือกเสียภาษีรูปแบบบุคคลธรรมดา เมื่อเริ่มมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และมีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน จะต้องไปขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคม และขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มจ้างงานที่สำนักงานประกันสังคม

ส่วนคลินิกทันตกรรมที่จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ก็จะถูกขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคมโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อเริ่มมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และมีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน กิจการต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมเช่นเดียวกัน

และในแต่ละเดือนจะต้องส่งเงินประกันสังคมที่หักจากเงินเดือนของพนักงาน พร้อมกับจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้กับพนักงาน ส่งให้กับสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งข้อมูลชำระเงินสมทบประกันสังคมนี้ ทางสำนักงานประกันสังคมจะต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรด้วย

เนื่องจากสมัยก่อนสำนักงานประกันสังคมมีสถานประกอบการ และลูกจ้างผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมกว่า 17 ล้านราย ที่จะต้องเสียเวลาเดินทางไปติดต่อสำนักงานประกันสังคม เพื่อขอเอกสารแสดงรายละเอียดเงินสมทบเพื่อนำไปประกอบยื่นแสดงรายการลดหย่อนภาษีเงินได้ต่อสรรพากร

ดังนั้น จึงมีการเชื่อมโยงข้อมูลชำระเงินสมทบประกันสังคมกับสรรพากรขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ของสรรพากรไม่ต้องเรียกเก็บเอกสารจากผู้ยื่นภาษี เพราะสามารถตรวจสอบข้อมูลโดยอัตโนมัติได้

และด้วยเหตุนี้ เมื่อคลินิกทันตกรรมมีการจ้างพนักงานและจ่ายเงินเดือน รวมถึงรายรับเมื่อมีผู้เข้ารับบริการในคลินิกของตนเองโดยใช้สิทธิ์ประกันสังคม ทางคลินิกจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% ข้อมูลทั้งหมดที่ประกันสังคมได้รับก็จะถูกส่งให้กับสรรพากรด้วย ซึ่งหากทันตแพทย์ยื่นภาษีถูกต้องตรงกับรายได้ที่แท้จริงที่ประกันสังคมได้รับก็ไร้กังวล แต่ถ้ายื่นภาษีผิดพลาดก็เป็นจุดเสี่ยงที่อาจถูกสรรพากรเรียกตรวจสอบย้อนหลัง เพราะข้อมูลไม่ตรงกันนั่นเอง

 

สถาบันการเงิน ผ่านระบบ E-PAYMENT

E-PAYMENT เป็นระบบที่สามารถโอนเงิน ชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านสมาร์ทโฟน และทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเครดิต ซึ่งถ้าเจ้าของคลินิกทันตกรรมเลือกนำระบบ E-PAYMENT มาใช้ในคลินิกของตนเอง ก็จะเกิดเป็นภาษี E-PAYMENT ขึ้น

โดยรายได้จากการฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี ไม่ว่าจะผ่านช่องทางสมาร์ทโฟน บัตรเครดิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ อย่าง Payment Gateway, e-Wallet เช่น ทรูมันนี่ เอ็มเพย์ แรบบิทไลน์ เพย์ มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงิน ทั้งที่เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา และที่จดทะเบียนนิติบุคคล หากถึงเงื่อนไขจะต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี ดังนี้

1.มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี โดยไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่าไร

2.มีเงินเข้าบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมีจำนวนเงินที่เข้าบัญชีรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี โดยต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 อย่าง จึงจะถูกส่งข้อมูลธุรกรรมให้กับสรรพากร

โดยนับรวมเป็นรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ ซึ่งรายการฝากและโอนเงินเข้าบัญชีที่นับเป็นเงินเข้าบัญชี ประกอบด้วย ยอดเงินฝากเข้าบัญชีทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์หรือตู้ฝากเงิน  ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชี ทั้ง Auto Transfer / Online / iBanking ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชีจากเครื่องรูดบัตร โดยนับตามจำนวนครั้งที่รูด ยอดเงินฝากเช็คเข้าบัญชี ยอดเงินเข้าบัญชีจากดอกเบี้ย ยอดเงินเข้าบัญชีจากเงินปันผล

อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลยอดเงินเข้าบัญชีให้แก่สรรพากร แต่ข้อมูลเหล่านี้ทางสรรพากรไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ภาษี E-PAYMENT ได้จากบทความ “ทางออก…คลินิกหมอฟัน รู้ทัน! ภาษี E-PAYMENT”)

 

ระบบ Big Data & Data Analytics

สรรพากรใช้ระบบ Big Data & Data Analytics เพื่อคัดกรองว่า ผู้ประกอบการใดบ้างจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะหลีกเลี่ยงภาษี และกลุ่มใดจัดอยู่ในกลุ่มดี ตัวอย่างเช่น สรรพากรใช้ระบบ Data Analytic เชื่อมข้อมูลกับการไฟฟ้า การประปา

โดยหากพบว่าการใช้ไฟฟ้ากับการใช้น้ำประปาของคลินิกทันตกรรมของเรา ใกล้เคียงกับคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกัน แต่คลินิกทันตกรรมอื่นๆ แจ้งรายได้สูงกว่าที่คลินิกเราแจ้ง ก็อาจทำให้สรรพากรเกิดความสงสัยว่ามีการแจ้งรายได้ไม่ครบถ้วนหรือไม่ได้

 

ไม่อยากถูกเก็บภาษีย้อนหลัง ต้องเก็บเอกสารไว้ให้ครบ

ในกรณีที่คลินิกทันตกรรม ซึ่งมีทั้งที่เสียภาษีแบบบุคลธรรมดาและจดทะเบียนนิติบุคคล หากมีจดหมายจากสรรพากรเรียกพบเพื่อขอข้อมูลและเอกสารเพิ่มเติม ทันตแพทย์เจ้าของคลินิกต้องเตรียมเอกสารให้ครบตามที่สรรพากรแจ้ง ตัวอย่างเช่น

– ทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกทันตกรรมรูปแบบบุคคลธรรมดา หากสรรพากรเรียกพบเพื่อขอทราบข้อมูลการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เช่นยื่นภาษีบุคคลธรรมดาขาดไป ในจดหมายจะระบุให้นำหลักฐานคือ หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายของปีภาษีนั้นทั้งหมด และบัญชีรายรับรายจ่ายทั้งปี

นอกจากนี้ผู้ถูกเรียกพบอาจต้องเตรียมข้อมูลไปชี้แจงด้วย และเตรียมเอกสารค่าลดหย่อนต่างๆ ที่ได้ทำการยื่นไว้ไปเผื่อด้วยในกรณีที่สรรพากรขอดูเพิ่มเติม

– คลินิกทันตกรรมที่จดทะเบียนนิติบุคคล หากสรรพากรเรียกพบเพื่อตรวจสอบข้อมูลภาษีเงินได้นิติบุคคล ในจดหมายอาจระบุให้นำหลักฐานเพิ่มเติม เช่น หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายในปีภาษีนั้นทั้งหมด บัญชีรายรับรายจ่ายทั้งปี งบการเงิน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) ในกรณีที่คลินิกทันตกรรมได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ในส่วนที่มีการขายแปรงสีฟัน ยาสีฟัน และอุปกรณ์รักษาฟันต่างๆ หรือรายได้อื่นๆ ที่ไม่ได้รับการยกเว้น VAT

หลังจากเตรียมเอกสารไว้ครบตามที่สรรพากรแจ้งแล้ว ผู้ถูกเรียกพบอาจเตรียมข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติมเผื่อไว้ด้วย ในกรณีที่มีประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเอกสารที่สรรพากรขอ แต่ไม่ควรเตรียมเอกสรไว้มากเกินไป เพราะเอกสารบางอย่างอาจเป็นสาเหตุทำให้ถูกสรรพากรตรวจสอบเพิ่มได้

 

สรุป

เมื่อทราบแล้วว่าสรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ของเราได้จากหลายช่องทาง จึงทำให้การทำบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับทันตแพทย์ที่เปิดคลิกนิกและเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา เนื่องจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ได้บังคับด้วยกฎหมายว่าต้องทำตามมาตรฐานบัญชี จึงมีโอกาสทำบัญชีผิดพลาดหรือตกหล่นได้ และส่งผลให้ถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง

ดังนั้น หากทันตแพทย์เจ้าของคลินิกมีรายได้หลายล้านบาทต่อปี การทำบัญชีเองอาจจะไม่ง่ายเหมือนเดิม ก็ถึงเวลาแล้วที่ต้องจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล เพื่อให้งานบัญชีเข้าระบบมากขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงถูกเรียกตรวจสอบให้เสียภาษีเพิ่ม ดอกเบี้ย และค่าปรับที่สูงกว่าที่ควรต้องจ่ายโดยไม่จำเป็น