โดยพื้นฐานสำหรับทันตแพทย์ที่ต้องเช่าสถานที่เพื่อใช้เป็นคลินิกทันตกรรมของตนเอง ตามหลักการเมื่อทันตแพทย์มีการทำสัญญาหรือตกลงกับสถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วย โดยทันตแพทย์เป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาเอง และมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาล
หรือทันตแพทย์ทำสัญญาหรือตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ในการตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อตกลงแบ่งเงินค่าตรวจรักษาที่ได้รับจากผู้ป่วย โดยสถานพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บค่าตรวจรักษาแทนทันตแพทย์ แล้วนำมาจ่ายให้กับทันตแพทย์เพื่อแบ่งรายได้ให้สถานพยาบาล รายได้ที่เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งหมดเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(6) ทันตแพทย์ต้องนำมายื่นภาษีทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักส่วนแบ่งของสถานพยาบาลออก
นอกจากนี้การที่สถานพยาบาลให้แพทย์เช่าสถานที่เพื่อใช้รักษาคนไข้นั้น ยังมีผลทำให้ในฐานะของสถานพยาบาล ได้รับรายได้ที่เป็นค่าเช่า (ไม่ใช่ค่ารักษาพยาบาล) และไม่ได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อีกด้วย
รายได้จากค่าเช่าสถานที่ กับ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)”
กรณีมีการเช่าสถานที่โดยทำสัญญาเช่าระยะยาว หากผู้ให้เช่าทำสัญญาออกเป็น 2 สัญญา คือ สัญญาเช่าและสัญญาบริการ โดยผู้ให้เช่าตกลงให้ผู้เช่าได้ใช้หรือได้รับประโยชน์ในสถานที่เช่าตามระยะเวลาที่กำหนด และผู้เช่าตกลงจะให้ค่าเช่า โดยผู้ให้เช่าได้แยกคิดค่าบริการเป็นค่าบำรุงรักษา ซ่อมแซม รักษาความสะอาด รักษาความปลอดภัย เป็นต้น ออกจากเงินค่าเช่า
เงินค่าเช่าสถานที่ที่ผู้ให้เช่าได้รับตามสัญญาเช่า เข้าลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการให้บริการเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าหากเช่าสถานที่เป็นการชั่วคราวโดยคิดค่าใช้พื้นที่และค่าบริการรวมกัน จะเข้าลักษณะเป็นการให้บริการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ดังนั้น ค่าเช่าคลินิกทันตกรรม หากเจ้าของสถานพยาบาลมีรายได้จากการให้เช่าสถานที่ของตนเองใช้เป็นคลินิกทันตกรรมหรือรักษาคนไข้ จะเข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ซึ่งมีทั้งค่าเช่าสถานที่และเช่าบริการเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ในการรักษาผู้ป่วย รวมอยู่ในสัญญาเดียวกัน จึงเข้าลักษณะเป็นการให้บริการต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
แต่ถ้าเจ้าของสถานพยาบาลผู้ให้เช่ายังไมได้จดทะเบียน VAT จะต้องนำรายได้จากค่าเช่าดังกล่าวไปรวมเป็นรายได้เพื่อจดทะเบียน VAT หากคำนวณแล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
ค่าเช่าสถานที่ กับ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย”
1.จ้างรับเหมาหรือบริการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เช่น การจ้างผลิตสินค้า จ้างทำนามบัตร จ้างรีวิวสินค้า ทำกราฟิก รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ หรือการให้บริการอื่นๆ
2.ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ถ้าหากผู้เช่าเป็นคนถือกุญแจ จะนับเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ถ้ายืมสถานที่ไม่มีสิทธิ์ในการถือกุญแจ เช่น เช่าสถานที่เพื่อจัดงานต่างๆ ชั่วคราว จะถือว่าอยู่ในกลุ่มของจ้างรับเหมาหรือบริการ หักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
ทั้งนี้ หากการเช่าจัดอยู่ในความหมายของบริการ ซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%
ดังนั้น ผู้เช่าที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการจ่ายค่าเช่าสถานพยาบาลเพื่อรักษาผู้ป่วย ก่อนจ่ายค่าเช่าให้กับผู้ให้เช่า จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนเพื่อนำส่งสรรพากรในเดือนถัดไปด้วยค่ะ
สรุป… รายได้ค่าเช่าสถานพยาบาลมีผลทางภาษีกับผู้ให้เช่าอย่างไรบ้าง
หากคลินิกมีรายได้การให้เช่าสถานพยาบาลเพื่อใช้รักษาคนไข้ สามารถสรุปประเด็นสำคัญๆ ได้ดังนี้
– รายได้จากค่าเช่าสถานพยาบาลจัดอยู่มาตรา 40(5) หากเจ้าของสถานพยาบาลที่เสียภาษีบุคคลธรรมดามีรายได้ในส่วนนี้ ต้องยื่นภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) และภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.91) ด้วย
– ค่าเช่าสถานพยาบาล เข้าลักษณะเป็นการให้บริการ ไม่ใช่รายได้จากการรักษาพยาบาล ไม่ได้รับยกเว้น VAT ส่งผลให้รายได้ในส่วนนี้ ผู้ให้เช่าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
– หากผู้เช่าเป็นนิติบุคคล ผู้ให้เช่าจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% ถ้ามีการทำสัญญาเช่าระยะยาว ให้ถือกุญแจ แต่ถ้าเป็นการเช่าสถานพยาบาลเพียงชั่วคราว หรือเข้าข่ายเป็นสัญญาบริการ จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%