โดยปกติเมื่อธุรกิจไม่สามารถดำเนินกิจการได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องมีการจ้างพนักงานประจำ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาที่จ้างลูกน้องมาทำงานให้ หรือเป็นเจ้าของธุรกิจทุกประเภท ไม่เว้นแม้แต่คลินิกทันตกรรมที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และกิจการที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการจ้างพนักงานให้เงินเดือนประจำตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป กิจการจะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้าง พร้อมกับขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนที่สำนักงานประกันสังคม
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าหากเป็นคลินิกทันตกรรม ซึ่งส่วนใหญ่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมีการจ้างพนักงานประจำอยู่แล้ว มักเข้าใจผิดว่ายื่นข้อมูลพนักงานที่ประกันสังคมก็เพียงพอแล้ว ไม่น่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับสรรพากรเพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
แต่ความจริงนั้น นอกจากจะต้องยื่นประกันสังคมแล้ว ยังต้องส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากรด้วย เพื่อป้องกันการถูกตรวจสอบย้อนหลัง ซึ่งเจ้าของคลินิกทันตกรรมควรทราบข้อมูลที่ต้องส่ง และเอกสารที่ต้องใช้ว่ามีอะไรบ้าง ดังนี้
เปิดคลินิกทันตกรรม มีพนักงานต้องส่งข้อมูลอะไรบ้างให้ประกันสังคม
อย่างที่เกริ่นไปแล้วเบื้องต้น สำหรับคลินิกทันตกรรมที่เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีการจ้างพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไปและจ่ายเป็นเงินเดือนประจำ จะต้องขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคม และขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มจ้างงานที่สำนักงานประกันสังคม
ส่วนคลินิกทันตกรรมที่จดทะเบียนนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ก็จะถูกขึ้นทะเบียนนายจ้างกับประกันสังคมโดยอัตโนมัติ ซึ่งเมื่อเริ่มมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และมีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน กิจการต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงาน ที่สำนักงานประกันสังคมเช่นเดียวกัน
และในแต่ละเดือนจะต้องส่งเงินประกันสังคมที่หักจากเงินเดือนของพนักงาน พร้อมกับจ่ายเงินสมทบเพิ่มให้กับพนักงาน พร้อมจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 นำส่งสำนักงานประกันสังคมภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน และลงรายการบัญชีเงินเดือนไว้ด้วย ซึ่งข้อมูลชำระเงินสมทบประกันสังคมนี้ ทางสำนักงานประกันสังคมจะส่งข้อมูลให้กับสรรพากรด้วย ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลชำระเงินสมทบประกันสังคมกับสรรพากร เพื่อให้เกิดความสะดวกยิ่งขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ของกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบข้อมูลโดยอัตโนมัติได้เลย
ด้วยเหตุนี้ ทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกจำเป็นต้องยื่นข้อมูลให้ถูกกต้องตรงกับที่ประกันสังคมส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกตรวจสอบย้อนหลัง
เปิดคลินิกทันตกรรม มีพนักงานอย่าลืมส่ง ภ.ง.ด.1 , ภ.ง.ด.1ก กรมสรรพากร
ปัญหาใหญ่สำหรับคลินิกทันตกรรมที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลคือ เมื่อมีพนักงานประจำแม้ได้ขึ้นทะเบียนผู้ประกันตน ส่งเงินสมทบ พร้อมจัดทำเอกสารตามแบบ สปส. 1-10 ส่วนที่ 1 และ สปส. 1-10 ส่วนที่ 2 นำส่งสำนักงานประกันสังคมแล้ว แต่มักจะไม่ได้ส่งข้อมูลให้กับกรมสรรพากร เนื่องจากเข้าใจว่าในนามบุคคลธรรมดาไม่ต้องจัดทำในส่วนนี้ จึงส่งผลให้เกิดการถูกตรวจสอบย้อนหลัง
เพราะตามกฎหมายแล้ว คลินิกทันตกรรมที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อมีพนักงานประจำก็มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก ให้กับกรมสรรพากรด้วย ไม่ว่าธุรกิจนั้นๆ จะบริหารจัดการคนเดียวในนามบุคคล ห้างหุ้นส่วน บริษัท สมาคม หรือคณะบุคคล ที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) 40(2) ให้แก่บุคคลธรรมดาที่จ้างมาได้รับเงินเดือนถึงฐานที่ต้องเสียภาษีบุคคลธรรมดา ต้องทำเอกสารทั้ง ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก ส่งให้กับกรมสรรพากร
โดยเอกสาร ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก ใช้ต่างกันดังนี้
– ภ.ง.ด.1 เป็นเอกสารที่มีหน้าที่ชี้แจงกรมสรรพากรว่ากิจการมีพนักงานกี่คน และได้เงินเดือนคนละเท่าไร รวมถึงเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปเท่าไร ซึ่งจะใช้สำหรับแจ้งพนักงานที่มีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีแล้วเท่านั้น
ทั้งนี้ หลักการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับพนักงานประจำที่เงินเดือนถึงเกณฑ์ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้เจ้าของคลินิกทันตกรรมทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงาน ซึ่งถ้าเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท จะได้รับยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย
แต่หากคำนวณแล้วมียอดต้องเสียภาษี เจ้าของคลินิกทันตกรรมจะต้องนำยอดภาษีทั้งปีที่คำนวณได้ดังกล่าวมาหารด้วย 12 เพื่อให้ได้ยอดเงินที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน และทำเอกสาร ภ.ง.ด.1 พร้อมจัดทำส่งกรมสรรพากรทุกเดือนภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป หรือถ้ามีรหัสสำหรับยื่นภาษีออนไลน์ของกรมสรรพากรสามารถยื่นได้ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปทุกเดือน
– ภ.ง.ด.1ก เป็นเอกสารที่มีหน้าที่ชี้แจงกรมสรรพากรว่ากิจการมีพนักงานกี่คน และได้เงินเดือนคนละเท่าไร รวมถึงเสียภาษีหัก ณ ที่จ่ายไปเท่าไรเช่นเดียวกับ ภ.ง.ด.1 แต่ต่างกันตรงที่ ภ.ง.ด.1ก จะใช้สำหรับแจ้งพนักงานทุกคนแม้ว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีก็ตาม และนำส่งสรรพากรปีละ 1 ครั้ง ก่อนวันที่ 28 กุมภาพันธ์ของปีถัดไป
ไม่ยื่น ภ.งด.1 , ภ.ง.ด.1ก เสียค่าปรับอย่างไร
ในกรณีที่เจ้าของคลินิกทันตกรรมหลงลืมส่งช้า หรือละเลยไม่ได้ทำเอกสาร ภ.ง.ด.1 , ภ.ง.ด.1ก ส่งให้กับกรมสรรพากร จะถือว่ามีความผิด ซึ่งหากไม่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก ภายในกำหนดเวลา เว้นแต่มีเหตุผลสุดวิสัยจริง ต้องรับผิดทางอาญาถูกปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือถ้ามีเจตนาไม่ยื่นรายการที่ต้องยื่นเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น เจ้าของคลินิกทันตกรรมโดยเฉพาะที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากมีพนักงานประจำนอกจากยื่นประกันสังคมแล้ว อย่าลืมส่งแบบ ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก ให้กรมสรรพากร เพื่อความปลอดภัย ไม่ถูกตรวจสอบย้อนหลัง หรือตัดสินใจจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล เพื่อให้งานเอกสารทั้งหมดเข้าระบบ และง่ายต่อการจัดการมากกว่า