เมื่อเจ้าของธุรกิจดำเนินกิจการจนมีรายได้ถึงเกณฑ์ ก็ย่อมมีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งนำค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด มาลดหย่อนภาษีได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่ที่ว่าธุรกิจนั้นเสียภาษีนิติบุคคล หรือเสียภาษีบุคคลธรรมดา
แต่ธุรกิจด้านการรักษาผู้ป่วย เช่น ทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกทันตกรรมเป็นของตนเอง และเสียภาษีบุคคลธรรมดา จะสามารถนำค่าใช้จ่ายตามจริงมาลดหย่อนภาษีได้เหมือนนิติบุคคล หากมั่นใจว่าหักตามจริงคุ้มค่ากว่าหักแบบเหมา 60% และต้องมีเอกสารหลักฐานเก็บไว้ให้ครบถ้วนทุกใบ
โดยค่าใช้จ่ายที่เจ้าของคลินิกมักจะมองข้าม คือค่าใช้จ่ายสำหรับสินทรัพย์ที่ซื้อเข้ามาใช้ในคลินิกและใช้งานได้นานเกิน 1 ปี จะนำมาเป็นค่าเสื่อมราคาหักรายจ่ายทางภาษีได้ด้วย ซึ่งจะมีสินทรัพย์ใดบ้าง และหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้เท่าไร สามารถอธิบายได้ดังนี้
ค่าเสื่อมราคาคืออะไร
ค่าเสื่อมราคา (Depreciation Expense) คือค่าใช้จ่ายที่ถูกคำนวณจากสินทรัพย์ถาวร ที่ซื้อเข้ามาใช้เพื่อประโยชน์ของกิจการในแต่ละปี เป็นสิ่งของที่ซื้อแล้วสามารถใช้ประโยชน์ได้นาน หรือยังใช้ไม่หมดในทันที จะถือเป็นสินทรัพย์ของธุรกิจ ซึ่งมีต้นทุนสูงและใช้งานได้เกินกว่า 1 รอบระยะเวลาบัญชี
จึงสามารถทยอยตัดเป็นรายจ่ายในแต่ละปีได้ เพื่อให้เหมาะสมกับอายุการใช้งาน การคิดต้นทุนค่าใช้จ่ายเหมาะสมกับการคำนวณกำไรขาดทุนภาษี ซึ่งส่วนมากสินทรัพย์ถาวรจะเป็นอุปกรณ์ราคาสูง และมีระยะการใช้งานนาน อย่างเช่นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก เครื่องปริ๊น เครื่องจักร รถยนต์ โรงงาน โทรศัพท์
อัตราค่าเสื่อมราคาในทางภาษี
หลักการทั่วไปสำหรับการนำสินทรัพย์ถาวรที่ใช้ในกิจการมาตัดเป็นรายจ่าย สามารถแบ่งตามประเภทสินทรัพย์ได้ดังนี้
ประเภทสินทรัพย์ | อัตราค่าเสื่อม |
1.อาคาร
– อาคารถาวร – อาคารชั่วคราว |
ร้อยละ 5 ร้อยละ 100 |
2.ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สูญสิ้นไปได้ | ร้อยละ 5 |
3.ต้นทุนเพื่อการได้มาซึ่งสิทธิการเช่า
– ไม่มีหนังสือสัญญาเช่า หรือต่ออายุได้เรื่อยๆ – มีกำหนดอายุสัญญาเช่า |
ร้อยละ 10 ตามอายุสัญญาเช่า |
4.กรรมวิธีสูตร กู๊ดวิล เครื่องหมายการค้า สิทธิประกอบกิจการตามใบอนุญาตสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์หรือสิทธิอย่างอื่น
– กรณีไม่จำกัดอายุการใช้ – กรณีจำกัดอายุการใช้ |
ร้อยละ 10 ตามอายุ |
5.สินทรัพย์อื่นๆ นอกจากที่ดินและสินค้า เช่น รถยนต์ เครื่องจักร อุปกรณ์ | ร้อยละ 20 |
นอกจากนี้หากเป็นธุรกิจ SMEs ที่มีการซื้อสินทรัพย์มาหลังวันที่ 31 มกราคม 2545 เป็นต้นไป สามารถหักค่าเสื่อมราคาสินทรัพย์ในอัตราพิเศษได้ เมื่อเข้าเงื่อนไขดังนี้
1.เป็นนิติบุคคลไทยที่มีสินทรัพย์ถาวร (อาคารและอุปกรณ์) ไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท
2.มีการจ้างแรงงาน ไม่เกิน 200 คน
และสามารถทยอยตัดเป็นค่าเสื่อมอุปกรณ์ได้ดังนี้
– คอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ (ไม่รวมโปรแกรมคอมพิวเตอร์) สามารถนำมาหักเป็นค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 40 ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา และส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถหักค่าเสื่อมภายในเวลาไม่น้อยกว่า 3 รอบบัญชี (ร้อยละ 33.33 ต่อปี) ภายในระยะเวลา 5 ปี
– โรงงาน สามารถหักค่าเสื่อมได้ร้อยละ 25 ในวันที่ได้มา และส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถหักค่าเสื่อมภายในเวลาไม่น้อยกว่า 20 รอบบัญชี (ร้อยละ 5 ต่อปี)
– เครื่องจักร และอุปกรณ์ของเครื่องจักร สามารถหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 40 ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา และส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถหักค่าเสื่อมภายในเวลาไม่น้อยกว่า 5 รอบบัญชี (ร้อยละ 20 ต่อปี)
อุปกรณ์ที่ใช้ในคลินิกทันตกรรม แบบไหนคิดค่าเสื่อมราคาอย่างไร
ส่วนใหญ่ค่าเสื่อมราคาสำหรับคลินิกทันตกรรมที่นำมาใช้ได้ คือค่าเสื่อมอุปกรณ์ที่ซื้อมาใช้ในคลินิก ซึ่งทยอยตัดเป็นรายจ่ายได้ตามนี้
– ค่าเสื่อมอุปกรณ์ที่ใช้ในคลินิก เช่น วัสดุที่ไว้ใช้อุดฟัน เครื่องกรอฟัน ค่าแล็บในกรณีที่มีการจัดฟัน หรือฟันปลอม และอุปกรณ์ที่เป็นชิ้นใหญ่มีน้ำหนักมาก เช่น เตียงสำหรับไว้ให้คนไข้นอน เครื่องสแกน เครื่องเอกซเรย์ ซึ่งสามารถนำมาตัดเป็นค่าเสื่อมได้ร้อยละ 20 ทยอยตัดเป็นรายจ่ายตามอายุการใช้งานของอุปกรณ์แต่ละชิ้นว่า มีอายุการใช้งานเท่าไร
หากเป็นอุปกรณ์สำหรับธุรกิจทันตกรรม SMEs เช่น เตียงสำหรับไว้ให้คนไข้นอน เครื่องสแกน เครื่องเอกซเรย์ สามารถหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้ร้อยละ 40 ณ วันที่ได้สินทรัพย์มา และส่วนที่เหลือให้ทยอยหักตามอัตราที่กฎหมายกำหนด โดยสามารถหักค่าเสื่อมภายในเวลาไม่น้อยกว่า 5 รอบบัญชี (ร้อยละ 20 ต่อปี)
– ค่าเสื่อมอาคารถาวรที่ใช้เป็นคลินิกทันตกรรม เช่น ตึกแถว ตึกที่ทำการและอาคารต่างๆ ที่มีอายุการใช้งานเกิน 15 ปีขึ้นไป นำมาตัดเป็นค่าเสื่อมได้ร้อยละ 5
วิธีคำนวณค่าเสื่อมราคา
หลักการคำนวณค่าเสื่อมราคา สามารถคำนวณได้ 4 วิธี คือ
1.วิธีเส้นตรง
2.วิธียอดลดลงทวีคูณ
3.วิธีผลรวมจำนวนปี
4.วิธีจำนวนผลผลิต
โดยวิธีที่นิยมนำมาใช้คำนวณค่าเสื่อมราคามากที่สุดคือ “วิธีเส้นตรง” ซึ่งสามารถคำนวณด้วยการนำราคาต้นทุนของอุปกรณ์ ลบด้วยมูลค่าซาก หารด้วยอายุการใช้งาน สูตรคือ ค่าเสื่อมราคา = (ราคาต้นทุน – มูลค่าซาก) ÷ อายุการใช้งาน จะทำให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นค่าเสื่อมราคาที่เท่ากันทุกปี
สรุป
สุดท้ายอย่าลืมว่าการซื้อสินทรัพย์เพื่อใช้ในคลินิกทันตกรรม ต้องซื้อในนามบริษัทเท่านั้น ห้ามซื้อสินทรัพย์ในนามส่วนตัว เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างเต็มที่ และถูกต้องตามกฎหมาย จะนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายและหักเป็นค่าเสื่อมราคาได้
แต่หากเป็นสินทรัพย์ส่วนตัว แต่นำมาใช้ในคลินิกทันตกรรมจริง จะเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มของการเช่า สามารถนำมาเป็นค่าใช้จ่ายได้แต่ไม่ควรสูงเกินกว่าปกติ และค่าเช่านี้ผู้ให้เช่าจะต้องนำไปรวมเป็นรายได้เพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
โดยจะเห็นได้ว่าค่าเสื่อมราคาอุปกรณ์จะเอื้ออำนวยให้กับธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากกว่า ด้วยเหตุนี้หากคลินิกทันตกรรมที่ยังเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่มีรายรับ ค่าใช้จ่าย รวมถึงมีค่าเสื่อมอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในคลินิกทันตกรรมสูง อาจต้องพิจารณาใช้บริการสำนักงานบัญชีจดบริษัทให้ และช่วยดูแลวางแผนภาษีเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ทางภาษีได้อย่างคุ้มค่า