ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ธุรกิจขายสินค้าและบริการ ที่มีการนำเข้าส่งออก อย่าลืมเสีย ภาษีนำเข้าส่งออก

ภาษีนำเข้าส่งออก

ภาษีนำเข้าส่งออก …มีธุรกิจหลายประเภททั้งขายสินค้าและบริการ ที่ต้องเกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออกวัตถุดิบ อุปกรณ์ หรือสินค้าของธุรกิจนั้นๆ ซึ่งเมื่อต้องมีการนำเข้าหรือส่งออกเกิดขึ้น กิจการมีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีนำเข้าส่งออก ด้วย โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอยู่ 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย

1.ภาษีศุลกากร  

2.ภาษีสรรพสามิต 

3.ภาษีสรรพากร 

ทั้งนี้ ในการนำเข้าหรือส่งออกวัตถุดิบและสินค้าเพื่อจำหน่าย จะต้องเสีย ภาษีนำเข้าส่งออก ให้ครบทุกหน่วยงาน ซึ่งแยกความรับผิดชอบ ภาษีนำเข้าส่งออก ต่างกัน ดังนี้   

ภาษีศุลกากร

ภาษีศุลกากร (Customs Duty) หรือ อากร เป็นการจัดเก็บภาษีนำเข้าส่งออกจากสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ และส่งออกไปต่างประเทศ โดยหน้าที่จัดเก็บเป็นของกรมศุลกากร ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ

– อากรขาเข้าเป็นการเก็บภาษีจากสินค้าอุปโภคหรือบริโภคในประเทศ โดยคำนวณค่าภาษีตามพิกัดของอัตราศุลกากร ราคาสินค้า และสภาพสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบที่ต้องเสียภาษี ซึ่งอัตราภาษีอากรนำเข้าจะแตกต่างกันตามชนิดและประเภทสินค้า เช่น  

– 30% สำหรับสินค้าประเภท เครื่องสำอาง หมวก น้ำหอม รองเท้า ผ้าห่ม ร่ม

– 20% สำหรับสินค้าประเภท กระเป๋า

– 10% สำหรับสินค้าประเภท CD DVD อัลบั้ม Power Bank หูฟัง Headphone Earphones ตุ๊กตา

– 5% สำหรับสินค้าประเภท นาฬิกา แว่นตา แว่นกันแดด

– สินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี แต่เสีย VAT 7% ได้แก่ นิตยสาร Photobook คีย์บอร์ดคอมพิวเตอร์ เมาส์

ทั้งนี้ จะจัดเก็บภาษีเมื่อมีการนำสินค้าเข้ามาในไทยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อย่างเช่นการนำเข้าสินค้าโดยใช้บริการขนส่ง หากมูลค่าของสินค้ารวมกับค่าขนส่งและค่าประกันภัยเกิน 1,500 บาท จะต้องเสียภาษีอากร ส่วนกรณีที่นำเข้ามาด้วยตนเองเมื่อเดินทางกลับเข้าประเทศไทย สินค้าที่ต้องเสียภาษีนำเข้าประกอบด้วย

1) ของใช้ส่วนตัวที่มีมูลค่ารวมทั้งหมดเกิน 20,000 บาท ไม่ว่าจะเพื่อใช้เองหรือไม่ได้ใช้เองก็ตาม แต่ถ้าเป็นสิ่งของที่นำไปจากประเทศไทย จะไม่ถูกนำมาคิดมูลค่าหากมีการสำแดงไว้ก่อนเดินทางไป

2) สิ่งของที่มีลักษณะทางการค้า แม้จะมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาท

3) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เกินกว่า 1 ลิตร

4) บุหรี่เกินกว่า 200 มวน

5) ซิการ์หรือยาเส้นเกินกว่า 250 กรัม

6) ของต้องกำกัด คือ ของที่ต้องมีใบอนุญาต เช่น ยาและอาหารเสริม เครื่องสำอาง สัตว์เลี้ยง อาวุธปืน พืช อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดรน

– อากรขาออก เป็นการเสียภาษีหรือจ่ายค่าธรรมเนียมก่อนนำสินค้าออกนอกประเทศ โดยเป็นหน้าที่ของกรมศุลกากรในการจัดเก็บภาษีขาออก ซึ่งหากมีสินค้า 9 ประเภทนี้ไม่ว่าจะเป็นส่งออกทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ จะต้องเสียค่าภาษีส่งออก ได้แก่ ข้าว เศษโลหะ หนังโคและหนังกระบือ ไม้ (ไม้แปรรูปทุกชนิด) เส้นไหมดิบที่ไม่ได้ตีเกลี่ยว เส้นด้ายที่ทำด้วยไหม ปลาป่นหรือปลาอบแห้งที่ยังไม่ได้ป่น ของที่ส่งออกจากพื้นที่ที่พัฒนาร่วมตามกฎหมาย และของที่ยังไม่ได้ระบุหรือรวมไว้ในประเภทอื่นใดในพิกัดอัตราอากรขาออก

 

ภาษีสรรพสามิต

ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีนำเข้าส่งออกที่จัดเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท เช่น สินค้าและบริการที่มีลักษณะฟุ่มเฟือย สินค้าที่ได้รับผลประโยชน์พิเศษจากภาครัฐ สินค้าที่บริโภคแล้วมีผลเสียต่อสุขภาพ สินค้าที่ก่อให้เกิดมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นสินค้าที่ก่อให้เกิดภาระต่อรัฐบาลในการที่จะต้องสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภค เช่น เครื่องดื่ม น้ำมันรถยนต์พรมและสิ่งทอปูพื้นอื่น (เฉพาะที่ทำด้วยขนสัตว์) น้ำหอมรถจักรยานยนต์แบตเตอรี่ สุรายาสูบและไพ่โดยกรมศุลกากรเป็นผู้จัดเก็บแทนกรมสรรพสามิต  

นอกจากนี้ยังมีภาษีเพื่อมหาดไทย เป็นภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปจัดสรรให้กับกรุงเทพมหานคร ราชการส่วนท้องถิ่นและกฎหมายว่าด้วยการจัดสรรเงินภาษีสุรา โดยสินค้าที่ต้องชำระภาษีสรรพสามิตและภาษีเพื่อมหาดไทย เช่น น้ำหอม สุรา ยาสูบ ไพ่ แบตเตอรี่ จะต้องชำระเมื่อมีการเสียภาษีสรรพาสามิต  

 

ภาษีสรรพากร

ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีสำหรับธุรกิจขายสินค้าและบริการที่จดทะเบียนนิติบุคคล หากมีการนำเข้าและส่งออกไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบ อุปกรณ์ หรือสินค้าเพื่อจำหน่าย รายได้จากการประกอบธุรกิจจะต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ ยกเว้น 300,000 บาท แรก และอัตราภาษีสูงสุด 20% โดยยื่นภาษี 2 ช่วง คือ

–  ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นภาษีนำเข้าส่งออกที่จะถูกเก็บ ณ วันที่ทำเรื่องผ่านศุลกากร โดยกรมศุลกากรมีหน้าที่เรียกเก็บแทนกรมสรรพากร 7% เมื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและได้รับใบกำกับภาษีมาแล้ว กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสามารถนำไปใช้เป็นภาษีซื้อได้ 

หรือธุรกิจบางประเภทก็ได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนำเข้า อย่างเช่นการนำเข้าอัญมณี เครื่องประดับ (อ่านเพิ่มเพิ่มได้จากบทความ ภาษีมูลค่าเพิ่มอัญมณี นำเข้ามาขายแบบไหนไม่เสีย VAT”)     

 

สรุป… วิธีการคำนวณภาษีนำเข้า

สัดส่วนการนำเข้าสินค้าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยถือว่ามีไม่น้อย ดังนั้น จะขออธิบายหลักการคำนวณภาษีนำเข้า ซึ่งสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้ 

1.นำเข้าโดยกิจการนำเข้ามาเอง  

1.อากรขาเข้า = ราคาสินค้า x อัตราภาษีขาเข้า

2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (ราคาสินค้า + อากรขาเข้า) x อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% 

3.ภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ = อากรขาเข้า + ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่างเช่น กรณีซื้อกระเป๋า มูลค่ารวม 40,000 บาท จากต่างประเทศเข้ามาขายในประเทศไทย สามารถนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีนำเข้าได้ดังนี้

1.อาการขาเข้า (8,000) = ราคาสินค้า 40,000 x อัตราภาษีขาเข้ากระเป๋า (20%)

2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม (3,360) = (ราคาสินค้า 40,000 + อาการขาเข้า 8,000) x ภาษีมูลค่าเพิ่ม 7%

3.รวมภาษีทั้งหมดที่ต้องชำระ คือ อากรขาเข้า 8,000 + ภาษีมูลค่าเพิ่ม 3,360 = 11,360 บาท

2.นำเข้าโดยใช้บริการขนส่ง 

วิธีคำนวณภาษีนำเข้าแบบ CIF ราคาที่ใช้คิดภาษีนำเข้า คือ CIF ซึ่งประกอบด้วย C = ราคาสินค้า I = ประกันภัย และ F = ค่าขนส่ง ค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง 

โดยมีสูตรการคิดภาษีนำเข้าสินค้า คือ

ภาษีนำเข้า = CIF x อัตราภาษีนำเข้า (พิกัดภาษีศุลกากร)

ภาษีมูลค่าเพิ่ม = (CIF + ภาษีนำเข้า) x 7%

ดังนั้น กิจการที่ขายสินค้าและบริการ ที่จำเป็นต้องมีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้า จะต้องเสียภาษีนำเข้าส่งออกให้ครบทุกหน่วยงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หากไม่เสียภาษีส่วนใดส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะภาษีที่ต้องยื่นแก่สรรพากร ต้องระวัง! สรรพากรตรวจสอบพบ การประกอบธุรกิจขอบคุณอาจไม่ราบรื่นอีกต่อไป