ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ธุรกิจ แฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัท หรือไม่

แฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัท

แฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัท ? …ปัจจุบันธุรกิจที่มีคนพูดถึงเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้นธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายทั้งแฟรนไชส์อาหารคาว หวาน และบริการ ที่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ต้องลำบากเริ่มต้นด้วยตนเอง ดำเนินธุรกิจภายใต้การบริหารระบบแฟรนไชส์ของเจ้าของธุรกิจ

โดยเจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็กถึงกลาง จะมีขนาดใหญ่อยู่ไม่มาก ดังนั้น แฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัท หรือไม่นั้น หลักๆ ขึ้นอยู่กับขนาดแฟรนไชส์ รายรับรายจ่ายที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี และขนาดกิจการที่อาจขยายใหญ่ขึ้นในอนาคต ซึ่งมีข้อควรพิจารณาดังนี้

 

เรียนรู้ธุรกิจแฟรนไชส์

แฟรนไชส์ คือ กระบวนการทางธุรกิจที่เจ้าของธุรกิจได้พัฒนาวิธีการและรูปแบบ จนได้รับการพิสูจน์ด้วยระยะเวลาแล้วว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง และถ่ายทอดสิทธิ์ในการประกอบธุรกิจ ตามวิธีการและรูปแบบดังกล่าวพร้อมกับตัวสินค้าหรือบริการ ให้กับบุคคลอื่นภายใต้ตราหรือเครื่องหมายการค้าและบริการอันหนึ่งอันใด ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการทำนิติกรรมระหว่างบุคคล 2 กลุ่ม และบางกรณีอาจรวมถึงบุคคลอื่นด้วย

โดยธุรกิจแฟรนไซส์ จะประกอบด้วย 

1.แฟรนไชส์ซอว์ (เจ้าของแฟรนไชส์) คือ บุคคลผู้เป็นเจ้าของตราหรือเครื่องหมายการค้าและบริการ ซึ่งได้คิดค้นและพัฒนาวิธีการอันได้รับการพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในการประกอบการและการจัดการธุรกิจที่สามารถดำเนินการโดยบุคคลอื่นได้ 

2.แฟรนไชส์ซี (ผู้ซื้อแฟรนไชส์) คือ บุคคลซึ่งได้รับสิทธิ์ในการจำหน่ายและการดำเนินธุรกิจ ภายใต้รูปแบบและตราหรือเครื่องหมายการค้าและบริการ อันมีแฟรนไชส์ซอว์เป็นเจ้าของ โดยแฟรนไชส์ซีที่ร่วมกิจการไม่ได้อยู่ในฐานะของพนักงานหรือลูกจ้าง แต่แฟรนไชสซีจะเป็นเจ้าของกิจการที่ทำหน้าที่บริหารงานสาขาตามรูปแบบที่แฟรนไชส์ซอว์กำหนดและถ่ายทอดให้ 

เจ้าของแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอว์)

เจ้าของแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซอว์ ที่ได้มีการเริ่มก่อร่างสร้างตัวเป็นธุรกิจแบบไม่เหมือนใคร และเริ่มดำเนินธุรกิจผ่านมาระยะหนึ่งจนประสบความสำเร็จ มีคนเข้ามาขอซื้อแฟรนไชส์บ้าง หรือเจ้าตัวต้องการขยายธุรกิจรูปแบบแฟรนไชส์ จะต้องไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ และจดทะเบียนอื่นๆ ตามบทความ เปิด 5 ช่องทาง! จดทะเบียนแฟรนไชส์ ที่เจ้าของธุรกิจต้องทำ 

และต้องไม่ลืมมองถึงเรื่องของความน่าเชื่อถือเป็นอันดับแรกด้วย ทำให้ แฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัท เพราะถ้าหากเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล จะมีความน่าเชื่อถือมากกว่าดำเนินธุรกิจในรูปแบบบุคคลธรรมดา แม้ว่าการเป็นนิติบุคคลจะต้องทำบัญชีส่งกรมสรรพากรก็ตาม แต่จะมีประโยชน์มากกว่าในหลายด้านๆ ดังนี้

1.แฟรนไชส์ซอว์ในนามนิติบุคคล จะเสียภาษีตามกำไรสุทธิที่เกิดขึ้นจริง ต่างจากบุคคลธรรมดาที่เสียภาษีจากรายได้ทั้งหมด 

2.แฟรนไชส์ซอว์ในนามนิติบุคคล หากธุรกิจขาดทุนจะไม่ต้องเสียภาษี และนำผลขาดทุนในปีที่ขาดทุนไปหักจากกำไรในปีถัดไปได้ไม่เกิน 5 ปี แต่หากเป็นบุคคลธรรมดาจะไม่สามารถยกยอดขาดทุนไปไว้ปีต่อไปได้ หรืออาจกล่าวได้ว่าบุคคลธรรมดาถึงขาดทุนก็ต้องเสียภาษีอยู่ดี   

3.แฟรนไชส์ซอว์ในนามนิติบุคคล จะคิดภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิสูงสุด 20% ต่างจากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่คิดสูงสุดถึง 35% 

4.แฟรนไชส์ซอว์ในนามนิติบุคคล มีความน่าเชื่อถือมากกว่าบุคคลธรรมดา เมื่อต้องการขยายกิจการโดยกูยืมจากสถาบันการเงิน จะมีความเชื่อมั่นในการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจมากกว่าในนามบุคคลธรรมดา  

5.แฟรนไชส์ซอว์ในนามนิติบุคคล จะสามารถควบคุมเรื่องเงินได้ดีกว่า เพราะจะต้องแยกเงินของธุรกิจกับเงินส่วนตัวออกจากกันอย่างชัดเจน หากเป็นบุคคลธรรมดาโอกาสบริการเงินผิดพลาดมีสูงกว่า  

6.แฟรนไชส์ซอว์ในนามนิติบุคคล  จะจำกัดความรับผิดชอบต่อหนี้สินของกิจการ เฉพาะแค่มูลค่าหุ้นที่ลงไป เช่นบริษัทล้มละลายเจ้าตัวผู้ถือหุ้นก็จะเสียสินทรัพย์ตามมูลค่าหุ้นเท่านั้น ตัวบุคคลไม่ล้มละลายตามไปด้วย

 

ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี)

สำหรับผู้ที่ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซี แฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัทหรือไม่นั้น อาจคล้ายกับเจ้าของแฟรนไชส์ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล โดยการดำเนินกิจการในนามบุคคลธรรมดา จะใช้ชื่อเจ้าของกิจการเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด 

โดยเฉพาะเรื่องการทำสัญญาและการชำระภาษีเงินได้ประจำปี เป็นการดำเนินการภายใต้ชื่อเจ้าของกิจการทั้งสิ้น และควรจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อเป็นการทำธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด มีสถานที่ประกอบกิจการชัดเจน ซึ่งมีข้อควรพิจารณาว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัทหรือไม่ ดังนี้

1.แฟรนไชส์ซีในนามบุคคลธรรมดา ขั้นตอนการจัดการไม่ยุ่งยากเท่ากับนิติบุคคล แต่ส่วนใหญ่ผู้ซื้อแฟรนไชส์แบบบุคลธรรมดา จะเป็นกลุ่มคนที่นิยมซื้อแฟรนไชส์ขนาดเล็กเพื่อแค่สร้างอาชีพ เงินลงทุนแฟรนไชส์ไม่สูงมาก เช่น ชา กาแฟ ก๋วยเตี๋ยว ไก่ทอด ลูกชิ้นทอด เป็นต้น 

2.แฟรนไชส์ซีในนามนิติบุคคล ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มบุคคลหรือองค์กรขนาดใหญ่ ตกลงทำกิจการร่วมกัน เช่น บริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ซึ่งสิ่งที่สำคัญคือต้องจัดทำบัญชี จัดทำงบการเงิน และต้องมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบ จำกัดความรับผิดชอบภาระหนี้สินที่เกิดขึ้น มีความน่าเชื่อถือ และเสียภาษีน้อยกว่า อีกทั้งยังได้ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลอีกด้วย 

ทั้งนี้ ผู้ซื้อแฟรนไชส์หากเป็นนิติบุคคล จะช่วยให้เจ้าของแฟรนไชส์ใหญ่ๆ พิจารณาให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ง่ายกว่าแบบบุคคลธรรมดา เนื่องจากเจ้าของแฟรนไชส์ใหญ่ๆ จะให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้ซื้อแฟรนไชส์ เช่น KFC แมคโดนัลล์ อเมซอน  มากกว่า เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับแบรนด์ของตน หากเลือกนักลงทุนผิดพลาด

 

สรุป

เมื่อมาถึงบรรทัดสุดท้ายนี้ แฟรนไชส์จำเป็นต้องจดบริษัทหรือไม่นั้น หากพิจารณาจากที่กล่าวไปแล้ว อาจจะเอนเอียงไปในทางที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมากกว่า แต่อย่างไรก็ตามทั้งเจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะต้องพิจารณาจากขนาดธุรกิจของตนเอง เงินทุน รายรับรายจ่าย เป้าหมายที่ตั้งไว้ในอนาคต และการบริหารจัดการธุรกิจด้วย เพื่อเป็นตัวช่วยตัดสินใจอีกทางหนึ่ง

ดังนั้น หากใครเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ขนาดเล็ก หรือซื้อแฟรนไชส์ขนาดเล็กสามารถทำในนามบุคคลธรรมดาได้ แต่ถ้าเป็นแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ ลงทุนสูง ควรทำในนามนิติบุคคล เพราะมีความน่าเชื่อถือในเรื่องของการจัดทำบัญชี งบการเงิน ภาษี และการบริหารจัดการมากกว่า