ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ขายอาหารต้อง… จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร หรือไม่?

จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร

จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร …หากจะบอกว่าตลอดทางเดินบนถนน เราจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าขายอาหารอยู่ทุกพื้นที่ จนเป็นเรื่องชินตาก็ว่าได้ บ้างก็เข็นรถขายอาหารไปเรื่อยๆ หรือตั้งแผงลอยตามทางเท้าเป็นอาหารซื้อกลับ หลายเจ้าก็เปิดเป็นร้านอาหารมีที่นั่งรับประทานเป็นเรื่องเป็นราว และมีร้านหลายขนาดให้เลือกเข้ารับบริการได้ตามความชอบใจ

ทั้งนี้ การขายอาหารในลักษณะเป็นรถเข็นไปตามจุดต่างๆ หรือตั้งเป็นแผงลอย ค้าเร่ กฎหมายได้ยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนการค้าร้านอาหาร หรือที่สมัยนี้เปลี่ยนเป็นใช้คำว่า “จดทะเบียนพาณิชย์” แต่ถ้าเปิดเป็นร้านอาหารจริงจัง มีที่นั่งรับประทานในร้าน จำเป็นต้อง จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร 

โดยเงื่อนไข การขอจดทะเบียนร้านอาหาร และข้อปฏิบัติสำหรับเจ้าของธุรกิจร้านอาหารที่กำลังคิดจะเปิดและที่เปิดใหม่ ต้องทำความรู้จักมีดังนี้

บุคคลธรรมดาเปิดร้านอาหาร จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร อย่างไร

เจ้าของกิจการร้านอาหารที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้อง จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ.2499 ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เริ่มประกอบการร้านอาหาร โดยระบุวัตถุประสงค์ของการจดทะเบียนการค้าร้านอาหารว่า “เป็นการประกอบกิจการร้านอาหารหรือจำหน่ายอาหาร”

โดยร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯ สามารถยื่นขอจดทะเบียนการค้าได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร และสำนักงานเขตที่ร้านอาหารตั้งอยู่ และสำหรับต่างจังหวัดให้ยื่นขอจดทะเบียนการค้าได้ที่ เทศบาลหรือองค์การบริหารส่วนตำบลที่ร้านอาหารตั้งอยู่ในท้องที่    

พร้อมเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ขอจดทะเบียนการค้าร้านอาหารให้ครบ ซึ่งประกอบด้วย 

1.คำขอจดทะเบียนการค้า (แบบ ทพ.)

2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้จดทะเบียนการค้า

3.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จดทะเบียนการค้า กรณีที่ผู้จดทะเบียนการค้าไม่ได้เป็นเจ้าบ้านของสถานที่ตั้งร้าน ต้องแนบเอกสารเพิ่มเติม ดังนี้

3.1 หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่

3.2 สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม

4.แผนที่ตั้งของร้าน

5.หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง)

6.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)

7.ค่าธรรมเนียม 50 บาท

เมื่อจดทะเบียนการค้าร้านอาหารแล้ว เจ้าของกิจการร้านอาหารต้องแสดงใบทะเบียนการค้า (ใบทะเบียนพาณิชย์) ไว้ที่สำนักงานในบริเวณที่เปิดเผยและมองเห็นได้ง่าย และต้องติดป้ายชื่อร้านไว้หน้าร้าน รวมถึงถ้ามีร้านสาขาก็ต้องติดป้ายชื่อร้านบริเวณที่เปิดเผยด้วยเช่นกัน

 

นิติบุคคลเปิดร้านอาหาร จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร อย่างไร

การเปิดร้านอาหารที่เจ้าของกิจการต้องการทำธุรกิจในนาม “นิติบุคคล” จำเป็นต้องจดทะเบียนการค้าร้านอาหาร (ทะเบียนพาณิชย์) เหมือนร้านอาหารสำหรับบุคคลธรรมดา แต่จะมีความซับซ้อนยุ่งยากมากกว่า ซึ่งส่วนใหญ่จะนิยมจดอยู่ 2 ประเภท คือ บริษัทจำกัดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด 

โดยการจดทะเบียนการค้านิติบุคคล เจ้าของกิจการร้านอาหาร จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยหุ้นส่วนบริษัท ดังนี้

– ให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท จัดทำหนังสือบริคณห์สนธิ กำหนดทุนจดทะเบียน และหาผู้ร่วมทุนเข้ามาซื้อหุ้นบริษัท

– กำหนดมูลค่าหุ้น และผู้ถือหุ้นสามารถจัดสรรกันเองได้ว่า ผู้ถือหุ้นจะถือหุ้นคนละจำนวนเท่าไร

– ผู้ถือหุ้นทั้งหมดทำการเลือกกรรมการหนึ่งคนหรืออาจจะหลายคนก็ได้ ให้เข้ามาบริหารจัดการร้านอาหาร ซึ่งทั้งหมดจะต้องจดแจ้งไว้ในรายการที่จดทะเบียน

และเจ้าของกิจการต้องระบุวัตถุประสงค์ในการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวกับการจำหน่ายอาหาร หรือธุรกิจร้านอาหารในหนังสือรับรองนิติบุคคล

โดยร้านอาหารที่ขอจดทะเบียนนิติบุคคล หากอยู่กรุงเทพมหานคร ยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานทะเบียนพาณิชย์เขต ส่วนต่างจังหวัดสามารถยื่นขอจดทะเบียนได้ที่ สำนักงานทะเบียนพาณิชย์จังหวัด

และเตรียมเอกสารที่ต้องใช้ยื่นขอจดทะเบียนการค้าร้านค้าสำหรับนิติบุคคล ซึ่งประกอบด้วย

– คำขอจดทะเบียนการค้า (ทะเบียนพาณิชย์) (แบบ ทพ.)

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน

– สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน

– หนังสือหรือสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคล

– หนังสือให้ความยินยอมให้ใช้สถานที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่

– สำเนาทะเบียนบ้านที่แสดงให้เห็นว่าผู้ให้ความยินยอมเป็นเจ้าบ้านหรือผู้ขอเลขที่บ้าน หรือสำเนาสัญญาเช่า โดยมีผู้ให้ความยินยอมเป็นผู้เช่า หรือเอกสารสิทธิ์อย่างอื่นที่ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เป็นผู้ให้ความยินยอม

– แผนที่แสดงที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่และสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียงโดยสังเขป

– หนังสือมอบอำนาจ (กรณีที่ผู้ประกอบร้านค้าไม่ได้ไปยื่นจดทะเบียนด้วยตัวเอง)

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ (ถ้ามี)

– ค่าทำเนียมการจดทะเบียน 50 บาท

เมื่อจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว การดำเนินการจะต้องผ่านกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ภายใต้วัตถุประสงค์ของบริษัทที่ได้กำหนดไว้ในรายการจดทะเบียน

 

สรุป

เจ้าของกิจการร้านอาหารที่มีการเปิดร้านอาหารจริงจัง มีพื้นที่ให้นั่งรับประทานอาหาร ทั้งบุคคลธรรมดาและที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องจดทะเบียนการค้าร้านอาหาร (ทะเบียนพาณิชย์) และยังมีหน้าที่ต้องเสียภาษีตามกฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในกรณีเช่าพื้นที่ทำร้านอาหาร 

โดยเฉพาะเจ้าของกิจการร้านอาหารที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีที่ต้องเสียภาษีในแต่ละปีอัตราฐานภาษีที่เสียเกิน 20% ควรตัดสินใจจดทะเบียนนิติบุคคล จะช่วยให้ประหยัดภาษีได้มากว่าสูงสุดแค่ 20% ซึ่งสามารถติดตามอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับภาษีสำหรับกิจการร้านอาหารได้ที่นี่ “การจัดการ ภาษีร้านอาหาร ที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้!”