แม้ว่าธุรกิจที่มีการจดบริษัทเป็นนิติบุคคล และตามกฎหมายกำหนดให้ต้องมีการทำบัญชีภาษี เพื่อส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งถ้าหากเป็นกิจการขนาดย่อมก็มักจ้างสำนักงานบัญชีรับทำบัญชี ปิดงบการเงิน และส่งภาษีแก่กรมสรรพากรให้
แต่หลายๆ กิจการก็มักประสบปัญหาสำนักงานบัญชีไม่ซื่อตรง โกงภาษี กิจการ ไม่นำส่งเงินภาษีให้ด้วยกลโกงหลายรูปแบบ อย่างที่เป็นข่าวให้เห็นอยู่ประจำ ทำให้เกิดความเสียหายตามมา กิจการเสียเงินเกินความเป็นจริง บ้างก็ส่งผลให้กิจการถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังมูลค่าสูง เนื่องจากสำนักงานบัญชีรับเงินจากกิจการ แต่ไม่ส่งภาษีให้กับกรมสรรพากร
ดังนั้น ก่อนที่กิจการจะตัดสินใจจ้างสำนักงานบัญชี จะต้องแน่ใจว่าสำนักงานบัญชีที่กิจการใช้บริการนั้น มีคุณสมบัติการเป็นนักบัญชีตามมาตรฐานกำหนด มีความซื่อสัตย์ น่าเชื่อถือ ไม่ โกงภาษี กิจการสามารถฝากภาระเรื่องบัญชีและภาษีไว้ให้ได้อย่างสบายใจหรือไม่ และรู้ทันกลโกงที่สำนักงานบัญชีใช้เพื่อโกงภาษีของกิจการ พร้อมวิธีแก้ไขดังนี้
ให้กิจการจ่ายภาษี-ประกันสังคมเป็นเงินสดและเก็บไว้เอง
วิธีโกงภาษีที่สำนักงานบัญชีใช้คือ สำนักงานบัญชีจะให้กิจการชำระภาษีเป็นเงินสดหรือเช็คเงินสด หรือให้โอนเงินเข้าบัญชีสำนักงานบัญชี แล้วสำนักงานบัญชีไปจ่ายสรรพากรให้ แต่เก็บไว้เองโดยไม่ส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากร หรือยื่นแค่แบบแสดงรายการภาษีเปล่าๆ ไม่กรอกยอด นอกจากนี้ ยังสร้างรายจ่ายเท็จเพื่อเก็บเงินเพิ่มกับกิจการ เช่น เรียกค่าใช้จ่ายพบเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรแต่ไม่ได้ไปจริง
โดยที่กิจการเองก็ไม่ได้มีการเรียกตรวจสอบ หรือหนักข้อกว่านั้นบางรายปลอมใบเสร็จรับเงิน และกิจการก็ไม่ได้ขอใบเสร็จรับเงินที่ได้รับมาจากสรรพากรมาตรวจสอบด้วย ยิ่งเป็นช่องโหว่ให้สำนักงานบัญชีทำการโกงภาษีกิจการได้ง่าย
ดังนั้น สิ่งที่กิจการควรทำคือ ต้องขอดูใบเสร็จรับเงินทุกครั้ง หรือจ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมระบุจ่ายสรรพากร แต่ในกรณีที่กลัวเป็นใบเสร็จปลอม ให้ทางสำนักงานบัญชีดำเนินการนำส่งภาษี แล้วขอ Barcode ส่งให้กิจการสแกนจ่ายภาษีเอง หรือยื่นรายการต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต แล้วมีข้อมูลและรหัสผ่านให้กิจการสามารถตรวจสอบได้ตลอดจะปลอดภัยกว่า
ตลอดจนหากกิจการสามารถยื่นรายการเองที่กรมสรรพากร หรือทำธุรกรรมการเงินต่างๆ เองได้จะลดปัญหาเรื่องการโกงได้ ส่วนการโกงเงินประกันสังคม ทางสำนักงานบัญชีจะใช้วิธีเหมือนกับการโกงภาษี
สำนักงานบัญชีปลอมลายเซ็นผู้สอบบัญชี แล้วเก็บเงินกับกิจการ
ปกติแล้วผู้ทำบัญชีปิดงบการเงิน จะต้องเป็นคนละคนกับผู้ตรวจสอบบัญชี และเมื่อกิจการจ้างสำนักงานบัญชีให้ทำบัญชีและตรวจสอบบัญชีให้ ทางสำนักงานบัญชีจะส่งให้ผู้สอบบัญชีที่เป็นพันธมิตรกันตรวจพร้อมเซ็นรับรองความคิดเห็น จึงจะนำส่งงบการเงินให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้
โดยมีค่าธรรมเนียมตรวจสอบบัญชีแยกต่างหากจากค่าทำบัญชี และด้วยเหตุที่ว่าจะต้องมีลายเซ็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จึงมีโอกาสที่สำนักงานบัญชีจะหลอกเอาเงินค่าตรวจสอบบัญชีมาใช้เอง ก็จะใช้วิธีปลอมลายเซ็นของผู้สอบบัญชี และมาเก็บเงินกับกิจการ แต่ไม่ได้ส่งเงินค่าจ้างให้กับผู้สอบบัญชีจริง จึงไม่สามารถส่งงบการเงินให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ ทำให้กิจการเสียทั้งเงินและมีคดีฟ้องร้องตามมาด้วย
ไม่ทำงานให้กิจการ… แต่รับเงินจริง
เมื่อกิจการจ้างสำนักงานบัญชีทำบัญชีให้ นักบัญชีจะมีหน้าที่บันทึกรายการและจัดทำงบการเงิน แต่หากไปเจอสำนักงานบัญชีที่ไม่มีคุณภาพ และตั้งใจมากอบโกยเงินกับกิจการ ก็อาจจะทำงบการเงินปลอมที่ข้อมูลเป็นเท็จ มาส่งให้เพื่อแค่ให้มีข้อมูลรายงานส่งเท่านั้น
โดยเฉพาะถ้าหากกิจการไม่ได้มีการตรวจสอบก็จะไม่สามารถล่วงรู้ได้ ก็จะได้รับเงินค่าจ้างทำบัญชีแต่ละเดือนไปแบบสบายๆ ด้วยเหตุนี้กิจการต้องขอรายการบันทึกบัญชีต่างๆ เอกสารที่เกี่ยวข้อง หรือกิจการสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านทางออนไลน์ได้
แนวทางรับมือ…สำนักงานบัญชีโกงภาษีกิจการ
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วถึงกลโกงภาษีที่สำนักงานบัญชีมักใช้หลอกเงินจากลูกค้า ดังนั้น วิธีจัดการกับกลโกงที่อาจเกิดขึ้น สามารถสรุปได้ดังนี้
1.ขอดูงบกำไรขาดทุนทุกไตรมาส เพื่อเช็กว่าสำนักงานบัญชีบันทึกบัญชีให้จริงหรือไม่ และช่วยให้รู้ผลประกอบการของกิจการ เพื่อวางแผนภาษีในอนาคตได้ด้วย
2.ขอเอกสารบัญชีคืนทุกปี พร้อมรายการบันทึกบัญชีทั้งหมด ซึ่งประกอบด้วย งบทดลอง สมุดรายวันแยกประเภททั่วไป เช่น สมุดรายวันรับเงิน สมุดรายวันจ่ายเงิน สมุดรายวันทั่วไป และทะเบียนทรัพย์สิน
3.กิจการต้องขอดูใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรทุกครั้ง ว่ายอดการจ่ายตรงไหม จ่ายแล้วจริงหรือไม่ เพื่อป้องกันสำนักงานบัญชีรับเงินไปแล้วไม่ไปจ่ายเงินภาษี หรือจ่ายเกินเวลา ซึ่งจะทำให้กิจการต้องเสียค่าปรับเพิ่ม 1.5 ต่อเดือนของยอดเงินที่จ่ายไป
4.ไม่จ่ายเป็นเงินสด หรือไม่โอนค่าภาษีผ่านบัญชีของสำนักงานบัญชี ให้จ่ายเป็นเช็คขีดคร่อมระบุจ่ายสรรพากร 5.ให้สำนักงานบัญชีดำเนินการนำส่งภาษี แล้วขอ Barcode ส่งให้กิจการสแกนจ่ายภาษีเอง
6.ให้สำนักงานบัญชียื่นรายการต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต แล้วขอข้อมูลพร้อมรหัสผ่าน เพื่อให้กิจการสามารถตรวจสอบเองได้ตลอด
7.กิจการยื่นรายการเองที่กรมสรรพากร หรือทำธุรกรรมการเงินต่างๆ ด้วยตนเอง
8.เช็กข้อมูลการส่งงบการเงินกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านแอปพลิเคชั่น หรือเข้าไปเช็กการยื่นภาษีได้ที่นี่
อย่างไรก็ตาม แนวทางรับมือกลโกงภาษีที่สำนักงานบัญชีมักใช้ อาจเป็นการแก้ปัญหาหลังจากที่เลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีไปแล้ว
แต่หากเป็นไปได้ก่อนที่กิจการจะตัดสินใจเลือกนักบัญชีหรือสำนักงานบัญชี เพื่อดูแลเรื่องบัญชีและภาษีให้ตนเอง ควรพูดคุยศึกษาระบบการทำงาน มุมมองแนวคิดของสำนักงานบัญชีให้ดีก่อน เพื่อประเมินว่าสำนักงานบัญชีมีความเข้าใจธุรกิจของกิจการหรือไม่ มีความซื่อสัตย์ ช่วยเหลือและรักษาผลประโยชน์ของกิจการได้มากน้อยเพียงใด (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการเลือกสำนักงานบัญชีได้ที่บทความ “สำนักงานบัญชีคุณภาพ แบบไหนที่ควรเลือก”)
เรียกว่าเป็นการป้องกันปัญหาสำนักงานบัญชีโกงภาษี ที่อาจตามมาหลังจากเลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีแล้วนั่นเอง