สำหรับการเลี้ยงดูสัตว์เลี้ยงในปัจจุบันแตกต่างจากอดีตเป็นอย่างมาก เช่น จากที่เคยเลี้ยงตามมีตามเกิดไม่ได้สนใจอะไร ก็หันมาดูแลเอาใจใส่สัตว์เลี้ยงกันมากขึ้น ทั้งในด้านอาหาร การเป็นอยู่หลับนอน ความสะอาด ความสวยงาม และมีการนำมารักษาในโรงพยาบาลสัตว์หรือคลินิกรักษาสัตว์เมื่อสัตว์เจ็บป่วย เป็นต้น ดังนั้นในบทความนี้จะกล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับ ภาษีคลินิกรักษาสัตว์ และการเปิดคลินิกรักษาสัตว์มีการเสียภาษีในรูปแบบใดบ้างสามารถติดตามได้จากข้อมูลที่จะนำเสนอดังต่อไปนี้
ภาษีคลินิกรักษาสัตว์ ที่เจ้าของกิจการควรรู้
ภาษีเงินได้ เป็นภาษีที่ทางกรมสรรพากรประเมินและจัดเก็บ โดยสามารถแบ่งออกเป็นประเภทได้ดังนี้
ในกรณีเปิดคลินิกรักษาสัตว์แบบบุคคลธรรมดา โดยมีเจ้าของเพียงคนเดียว การเสียภาษีคลินิกรักษาสัตว์ จะถูกคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) ซึ่งหักค่าใช้จ่ายจริงตามความจำเป็นและสมควร
ทั้งนี้เจ้าของกิจการคลินิกรักษาสัตว์ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและชำระภาษีเงินได้ปีละ 2 ครั้ง ดังนี้
– รายได้จากคลินิกรักษาสัตว์ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนมิถุนายน ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 และชำระภาษีภายในเดือนกันยายนของทุก
– รายได้จากคลินิกรักษาสัตว์ที่ได้รับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม ของปีภาษีนั้น ให้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 พร้อมกับชำระภาษีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไป
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล
ประกอบกิจการคลินิกรักษาสัตว์ในรูปของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการคลินิกรักษาสัตว์มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิสูงสุด 20% จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีดังนี้
– การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี(ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– การเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
3.ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
– กรณีผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสัตว์ในนามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ให้ผู้จ่ายเงินคำนวณการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 3% ตามคำสั่งกรมสรรพากร
– กรณีผู้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลสัตว์ในนามรัฐบาล องค์การของรัฐบาล เทศบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% แล้วแต่กรณี
– กรณีที่ทางคลินิกรักษาสัตว์มีการว่าจ้างพนักงาน หรือจ้างบริการภายนอก ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ 3% เพื่อนำส่งกรมสรรพากร
4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม
การให้บริการของคลินิกรักษาสัตว์ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการตามมาตรา 77/1 (10) แห่งประมวลรัษฎากร จึงอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าในคลินิกมีการจำหน่ายยา อาหารสัตว์ รายได้ในส่วนนี้จะได้ยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษี
โดยให้นำเฉพาะรายได้จากการให้บริการรักษาสัตว์ มาคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษีเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังนี้
กรณีมีรายได้ไม่เกิน 1,800,000 บาทต่อปี จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/1 ว่าด้วยการกำหนดมูลค่าของฐานภาษีของกิจการขนาดย่อม ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จึงไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
หากผู้ประกอบการคลินิกรักษาสัตว์ประสงค์จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็สามารถทำได้โดยให้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร
กรณีมีรายได้จากการประกอบธุรกิจ ทั้งเจ้าของธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะต้องเสียภาษีคลินิกรักษาสัตว์หากรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท ที่กรมสรรพากร
5.ภาษีป้าย
นอกจากนี้ยังมีภาษีป้าย ที่เจ้าของกิจการคลินิกรักษาสัตว์ต้องรู้และจ่ายให้ถูกต้องครบถ้วน หากคลินิกรักษาสัตว์มีการทำป้ายติดไว้หน้าคลินิก ในที่สาธารณะเพื่อให้ผู้คนได้เห็น ก็จำเป็นต้องเสียภาษีป้ายด้วย
แล้วทราบหรือไม่ว่าภาษีป้ายคิดยังไง แบบไหนเสียเท่าไหร่ ลองมาดูไปพร้อมๆ กัน ตามข้อมูลที่จะนำเสนอต่อจากนี้
5.1 ป้ายที่มีตัวอักษรไทยล้วน
– ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตารางเซนติเมตร
– ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 1.1 อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
5.2 ป้ายที่มีตัวอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น
– ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นใด อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
-ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 2.1 อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
5.3 ป้ายที่ไม่มีตัวอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
-ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตารางเซนติเมตร
กล่าวโดยสรุป สำหรับข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวไว้ข้างต้นจะช่วยให้เจ้าของกิจการคลินิกรักษาสัตว์ เข้าใจในเรื่องภาษีคลินิกรักษาสัตว์มากขึ้น และสามารถทำตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง ทำให้การบริหารธุรกิจมีความราบรื่นโปร่งใส สบายใจแน่นอน
ทั้งนี้หากทางเจ้าของกิจการคลินิกรักษาสัตว์ไม่แน่ใจในเรื่องของข้อมูลด้านภาษีต่างๆ แนะนำให้ใช้บริการสำนักงานบัญชี Profile ดี มีคุณภาพ เข้ามาช่วยตรวจสอบบัญชีและภาษีให้มีความถูกต้องแม่นยำละเอียดยิ่งขึ้น