ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

รายได้จากการรับ แลกเปลี่ยนเงินตรา ตปท. เสียภาษีแลกเปลี่ยนเงินอย่างไร

แลกเปลี่ยนเงินตรา การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศ ไม่ว่าจะเพื่อวัตถุประสงค์ใด เช่น เดินทางท่องเที่ยว การดูงาน การศึกษาต่อ หรือทำธุรกิจซื้อขายสินค้า โดยผู้ที่ต้องการนำเงินบาทไปแลกเป็นเงินสกุลต่างประเทศ จะใช้อัตราที่สถาบันการเงินเป็นผู้ขาย หรือ Selling และในกรณีที่ต้องการนำเงินสกุลต่างประเทศแลกคืนเป็นเงินบาท จะใช้อัตราที่สถาบันการเงินเป็นผู้รับซื้อ หรือ Buying

และ ณ ตอนนี้นอกจากสถาบันการเงินที่รับแลกเปลี่ยนเงินตราแล้ว ยังมีนักเก็งกำไรจากการรับแลกเปลี่ยนเงินตรา เข้ามาประกอบธุรกิจนี้กันอย่างจริงจังและแพร่หลาย ทั้งบุคคลธรรมดาและที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล ทว่าปัจจุบันกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ที่จะทำธุรกิจรับ แลกเปลี่ยนเงินตรา จะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น บุคคลธรรมดาไม่สามารถรับแลกเปลี่ยนเงินตราจำนวนมากๆ หรือทำในเชิงพาณิชย์ได้

และเมื่อนิติบุคคลมีรายได้จากการประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตรา ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษีแลกเปลี่ยนเงินตราด้วยนั่นเอง ดังนั้น อย่าลืมไปเสียภาษีแลกเปลี่ยนเงินให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดด้วย 

 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ใครที่อยากเข้าสู่ธุรกิจรับ แลกเปลี่ยนเงินตรา สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ จะต้องทำธุรกิจในนามนิติบุคคลเท่านั้น และขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราด้วย โดยรายได้หรือกำไรที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา จะต้องเสีย ภาษีแลกเปลี่ยนเงิน ให้นำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล 

โดยคำนวณรายได้จากค่าอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยระหว่างระหว่างอัตราซื้อและอัตราขายของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้ายก่อนวันชำระภาษี เพื่อให้สอดคล้องกับอัตราแลกเปลี่ยนตามความเป็นจริงในวันที่มีการชำระภาษี   

จากนั้นนำรายได้มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ใช้สูตรคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ 

แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท + รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท (หากไม่เข้าเงื่อนไขให้คิดที่อัตรา 20%) ดังนี้

กำไร 300,000 บาทแรก                =          ยกเว้นภาษี

กำไร 300,001 – 3 ล้าน                 =          ภาษี 15%

กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป       =          ภาษี 20%

ดังนั้น ผู้ประกอบการนิติบุคคลจึงต้องคำนวณหากำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ตั้งแต่เริ่มจัดตั้งเป็นนิติบุคคลมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีแรกที่เริ่มตั้งบริษัท พร้อมทำการยื่นภาษี 2 ครั้ง  คือ

–  ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย 

หลังจากผู้ประกอบการธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลแล้ว จะมีภาษีหัก ณ ที่จ่าย เข้ามาเกี่ยวข้องกับภาษีแลกเปลี่ยนเงินของกิจการ โดยกรมสรรพากรมีคำสั่งไว้ดังนี้   

การหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย หรือภาษีหัก ณ ที่จ่าย กรณีจ่ายเงินได้พึงประเมินหรือจำหน่ายเงินกำไรเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรคำนวณจำนวนภาษีที่ต้องหักและนำส่งกรมสรรพากร

โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป ในกรณีที่จ่ายเงินได้พึงประเมินหรือจำหน่ายเงินกำไรด้วยเช็ค ให้คำนวณจำนวนภาษีที่ต้องหักและนำส่งตามวันที่ที่ลงในเช็ค และให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทย

 

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

การประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จัดอยู่กลุ่มธุรกิจเฉพาะ เพราะเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ซื้อหรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย 

ดังนั้น กิจการในกลุ่มนี้จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะในอัตรา 3% ด้วย โดยผู้ประกอบการที่ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ

และถ้าหากกิจการใดเข้าข่ายต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแล้ว ก็จะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อป้องกันการเก็บภาษีซับซ้อน โดยให้คำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจากฐานภาษี ได้แก่ รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา ส่วนลด ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ  คูณด้วยอัตราภาษี และต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ

นำมายื่น ภ.ธ.40 เสียภาษีรายเดือนภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป โดยนำผลต่างจากการซื้อ-ขายมายื่นเฉพาะส่วนที่เป็นกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราที่หักลบด้วยขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา แต่ถ้าผลรวมปรากฏเป็นขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ให้กิจการยื่น แบบ ภ.ธ.40 เช่นกัน แต่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

 

สรุป

ภาษีแลกเปลี่ยนเงินที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จะมีอยู่ 2 ภาษีหลักคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีธุรกิจเฉพาะ นอกจากนี้การประกอบธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราก่อนดำเนินการ และอย่าลืมจดทะเบียนบริษัท ทำในนามนิติบุคคลเท่านั้น เพื่อให้ธุรกิจเป็นไปอย่างถูกใจ และดำเนินงานไปอย่างถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด