ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ปิดงบเปล่า จำเป็นหรือไม่ และต้องทำอย่างไร เมื่องบการเงินไม่เคลื่อนไหว

ปิดงบเปล่า

ปิดงบเปล่า ปัญหาของบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ยังไม่มีรายรับรายจ่าย หรือบางรายจดบริษัทนิติบุคคลเพื่อใช้ในการเข้าประมูลงาน รวมถึงจดทะเบียนนิติบุคคลไว้เพื่อรับงานแต่ยังไม่ได้เริ่มรับงานเสียที จึงอาจละเลยการทำบัญชี โดยคิดว่าไม่มีรายรับรายจ่ายก็ไม่จำเป็นต้องทำ ถือเป็นความคิดที่ผิด!

เพราะนอกจากกฎหมายจะกำหนดให้ผู้ที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ต้องจัดทำบัญชีส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว เมื่อถึงรอบปิดงบการเงินประจำปีก็ต้องส่งให้ทั้งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร แต่ก็มักจะไม่ได้ปิดงบการเงินส่งด้วยเช่นกัน จนล่วงเลยมาหลายปี

บางรายโดนตรวจสอบพบและถูกแจ้งเตือนให้ทำงบการเงินย้อนหลังส่งพร้อมกับเสียค่าปรับ จึงทำให้บริษัทเหล่านี้เกิดความวิตกกังวล และติดต่อเข้ามาปรึกษาสำนักงานบัญชี Inflow Account ของเราเป็นจำนวนมาก

ดังนั้น หากบริษัทไม่มีรายรับรายจ่ายเกิดขึ้นในรอบบัญชี ก็จำเป็นต้องทำบัญชี และ ปิดงบเปล่า ส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่บริษัทไม่เคยทำบัญชีเลยตั้งแต่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล หรือไม่มีนักบัญชีประจำบริษัท จำเป็นต้องใช้บริการสำนักงานบัญชีปิดงบเปล่าให้ ซึ่งการ ปิดงบเปล่า ต้องดำเนินการและทำอย่างไรบ้าง ไปติดตาม…

 

งบเปล่าและการ ปิดงบเปล่า คืออะไร

งบเปล่า คืองบการเงินของธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้ดำเนินกิจการ ไม่มีรายได้และค่าใช้จ่ายใดๆ ไม่มีการซื้อขาย ซึ่งถ้าตลอดปีงบการเงินไม่มีการเคลื่อนไหวเลย ผู้ประกอบการก็ยังต้องมีหน้าที่ปิดงบการเงินส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรประจำทุกปี หรือเรียกว่าการปิดงบเปล่าส่งนั่นเอง

โดยช่วงที่ต้องปิดงบเปล่า จะต้องมีผู้ทำบัญชีจัดทำงบเปล่าขึ้นมา และให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบบัญชีพร้อมเซ็นรับรอง จากนั้นส่งให้กรรมการ (เจ้าของกิจการ) อนุมัติงบการเงิน และหลังจากอนุมัติแล้วให้นำส่งงบเปล่านี้ให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 1 เดือน

ระยะเวลาดำเนินการทั้งหมดตั้งแต่สิ้นรอบบัญชี ต้องให้เสร็จไม่เกิน 5 เดือน โดยยื่นงบการเงิน ลายเซ็นผู้สอบ และ บอจ.5 ผ่านทางออนไลน์ได้เพียงช่องทางเดียวเท่านั้น ส่วนกรมสรรพากร ให้ยื่นส่งงบการเงิน และ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับจากวันสิ้นรอบบัญชี

เงื่อนไขการปิดงบเปล่า

สำหรับการปิดงบเปล่าเพื่อส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น ผู้ประกอบการต้องศึกษาเงื่อนไขต่างๆ ที่บ่งบอกว่ากิจการของคุณต้องปิดงบการเงิน หรือปิดงบเปล่าหรือไม่ ดังนี้

1.งบเปล่าต้องไม่มีรายละเอียดต้นงวดยกมาที่เป็นสาระสำคัญ

2.ทุนจดทะเบียนของบริษัท จะต้องไม่เกิน 5 ล้านบาท หากนอกจากนี้จะไม่ถือว่าเป็นปิดงบเปล่า

3.งบเปล่า ต้องไม่มีรายการเคลื่อนไหวของบัญชีธนาคารนิติบุคคล หากงบที่มีรายการเคลื่อนไหวในธนาคาร ไม่ถือเป็นงบเปล่าเพราะทุกรายการเคลื่อนไหว ดังนั้น ต้องนำมาบันทึกบัญชีทั้งหมด

4.ปิดงบเปล่าสำหรับ หจก. ที่มีทุนไม่เกิน 5 ล้าน และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30 ล้าน และมีทรัพย์สินรวมไม่เกิน 30 ล้าน แบ่งเงื่อนไขเป็น 2 แบบ คือ

– ส่งงบเปล่าให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่ต้องมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตเซ็นรับรองและแสดงความเห็น

– ส่งงบเปล่าให้กรมสรรพากร ต้องมีผู้สอบบัญชีภาษีอากรเซ็นรับรองงบการเงิน

5.งบมียอดสินค้าคงเหลือ แม้ว่าจะไม่มีรายการซื้อ-ขายระหว่างปี แต่งบที่มีสินค้าคงเหลือนักบัญชีและผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบและบันทึกรายการปรับปรุงเกี่ยวกับรายการ จึงไม่ถือว่าเป็นงบเปล่า

6.งบที่มียอดยกมาจำนวนมาก อย่างเช่นเงินจ่ายล่วงหน้ายกมา ลูกหนี้เจ้าหนี้ยกมา นักบัญชีและผู้สอบบัญชีจะต้องตรวจสอบและบันทึกรายการปรับปรุงเกี่ยวกับรายการเหมือนยอดสินค้าคงเหลือ ลักษณะนี้จึงไม่ถือเป็นงบเปล่าเช่นกัน

งบการเงินไม่เคลื่อนไหว ต้อง ปิดงบเปล่า ส่ง… ป้องกันเสียค่าปรับ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เมื่อใดก็ตามที่กิจการมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องมีหน้าที่ทำบัญชี และปิดงบการเงินส่งกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากรเป็นประจำทุกปี แม้ว่าปีใดงบการเงินไม่มีความเคลื่อนไหวก็ตาม ก็จำเป็นต้องปิดงบเปล่าส่งด้วย (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปิดงบการเงินได้จากบทความ “การปิดงบการเงิน คืออะไร ใครต้องทำบ้าง”)

แต่ถ้าหากมีปีใดไม่ได้นำส่งงบการเงินประจำปีนั้นๆ แล้วตรวจสอบพบ ผู้ประกอบการจะต้องเสียค่าปรับ 2 ส่วนคือ นำส่งงบการเงินล่าช้าและนำส่งภาษีช้า ซึ่งอัตราค่าปรับจะแตกต่างกันตามระยะเวลาที่ล่าช้า เช่น

– กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรณียื่นงบการเงินล่าช้าไม่เกิน 2 เดือน จะมีการปรับทั้งผู้จัดทำบัญชี และ กรรมการผู้จัดการ หรือหุ้นส่วนผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงาน ในอัตราไม่เกิน 2,000 บาท ตามแต่ประเภทของผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี

– กรมสรรพากร หากมีการยื่นแบบล่าช้าในระยะเวลาไม่เกิน 7 วัน เสียค่าปรับ 1,000 บาท แต่ถ้าเกิน ระยะเวลา 7 วัน เสียค่าปรับ 2,000 บาท แต่ถ้าไม่ยื่นงบการเงินจะมีค่าปรับอาญา 2,000 บาท เป็นต้น

โดยค่าปรับกรณีไม่ได้ยื่นงบการเงิน มีอายุความ 1 ปี นับจากวันที่ครบกำหนดยื่นงบการเงิน และไม่สามารถผ่อนผันหรือยกเว้นการดำเนินคดได้ เนื่องจากถือเป็นความผิดทางอาญา

สรุป

ดังนั้น การปิดงบการเงินจึงมีความจำเป็นสำหรับกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อสิ้นรอบบัญชีจะต้องปิดงบการเงินและนำส่งแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร แม้ว่าปีนั้นๆ งบการเงินจะไม่มีการเคลื่อนไหวก็ต้องปิดงบเปล่าส่ง เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากผู้ประกอบการนำส่งงบการเงินล่าช้าหรือไม่ส่งงบการเงิน