ภาษีโรงแรม …เมื่อรู้สึกเหนื่อยล้ากับชีวิต การได้เดินทางออกจากพื้นที่เดิมๆ บรรยากาศเก่าๆ แค่ได้ไปนอนเล่น นั่งชิลล์ในโรงแรมที่ไม่คุ้นเคย ได้เปิดหูเปิดตาสูดอากาศบริสุทธิ์ต่างถิ่น ถือเป็นการชาร์จพลังงานได้ดีทางหนึ่ง
โดยเฉพาะหากเป็นโรงแรมที่จัดวิวทิวทัศน์สวยตรึงตาสะดุดใจ เพียบพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งร้านอาหาร เครื่องดื่ม สระว่ายน้ำ ห้องนวดผ่อนคลาย มีบริการอินเตอร์เน็ต รวมถึงกิจกรรมเสริมพานำเที่ยว ยิ่งสร้างความเบิกบานใจให้กับผู้มาเยือนเป็นอย่างยิ่ง
แต่! อย่าลืมว่าธุรกิจโรงแรมแบบจัดเต็มขนาดนี้ ย่อมมี ภาษีโรงแรม ที่ต้องจ่ายเพียบ ซึ่งแยกย่อยเป็นภาษีที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้
รายรับ-รายจ่ายธุรกิจโรงแรมที่เกี่ยวข้องกับภาษี
โรงแรม คือสถานที่ประกอบการเชิงการค้าที่นักธุรกิจตั้งขึ้น เพื่อบริการผู้เดินทางในเรื่องของที่พักอาศัย อาหาร และบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพักอาศัยและเดินทาง เพื่อความสะดวกของผู้ที่มาพัก ซึ่งค่าบริการที่ได้รับและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงกับโรงแรม จะต้องนำมาเป็นหลักฐานในการคำนวณภาษีโรงแรม
โดยแบ่งเป็นรายได้และรายจ่ายที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1.รายได้ของกิจการโรงแรม เช่น
– รายได้ค่าบริการห้องพัก ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าซักรีด ค่าเช่าสถานที่
– รายได้จากการจำหน่ายสินค้าต่างๆ
– รายได้ค่าโทรศัพท์ โทรสาร ให้บริการอินเตอร์เน็ต
– รายได้ค่าบริการพื้นที่จอดรถ ค่าบริการสมาชิกสระว่ายน้ำ ค่าบริการใช้สระว่ายน้ำ
– รายได้จากการนำเที่ยว
– รายได้จากการโฆษณา
– รายได้จากค่านายหน้า เช่น ขายตั๋วทัวร์ ส่งลูกค้าให้โรงแรมอื่น เป็นต้น
– กำไรจากการรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
2.รายจ่ายของกิจการโรงแรม เช่น
– เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ
– ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์
– ค่าอาหารและเครื่องดื่ม
– ค่าวัสดุสิ้นเปลืองที่ใช้ในห้องพัก เช่น สบู่ แชมพู กระดาษชำระ เป็นต้น
– ค่าบริหารจัดการ ค่าบริการที่ปรึกษา ค่าแห่งกู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น
– ค่าเช่า ค่าจ้างทำของ
– ค่าส่งเสริมการขาย ค่าโฆษณา ค่าใช้จ่ายด้านการตลาด
– ค่าซ่อมแซม บำรุงรักษา
– ค่าประกันภัย ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ค่านายหน้า เป็นต้น
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
กิจการโรงแรมขนาดย่อมที่ไม่ได้จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งกิจการภัตตาคาร ร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงโรงแรม จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (40(8)) โดยเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือหักแบบเหมา 60% และหักตามจริง (วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา “เจาะลึก! วางแผน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”)
และสามารถหักลดหย่อนภาษีได้อีกหลายทาง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บุตร อุปการะเลี้ยงดูบิดา มารดา อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ เบี้ยประกันสุขภาพบาดามารดา ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารอยู่อาศัย เงินสมทบกองทุนประกันสังคม เป็นต้น
โดยกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 ต้องยื่นภาษีโรงแรม 2 ครั้ง คือ
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับกิจการโรงแรมที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยคำนวณจากกำไรสุทธิคูณด้วยอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลที่กำหนด ตามสูตรการคำนวณนี้ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”
โดยทำการยื่นภาษีโรงแรม 2 ครั้ง คือ
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
โดยนำภาษีที่จ่ายครึ่งปี มาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ตอนสิ้นปี
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
การหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นภาษีโรงแรมสำหรับธุรกิจโรงแรมที่เมื่อมีการรับ และจ่ายเงินจากการประกอบกิจการ ต้องพิจารณาว่าเป็นเงินได้ประเภทที่อยู่ในบังคับที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ ซึ่งแยกตามเงินได้พึงประเมินดังนี้
1.ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1) และ 40(2) ต้องคำนวณภาษีหักภาษี ณ ที่จ่าย
2.ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(2) (3) (4) (5) (6) (7) และ (8) ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายตามอัตราภาษีแต่ละประเภทธุรกิจที่กฎหมายกำหนด
ตัวอย่างเช่น
– ด้านรายได้ 1) หากได้รับชำระเงินจากลูกค้าที่เข้าใช้บริการในห้องพัก ไม่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 2) หากได้รับเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(4) ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
– ด้านรายจ่าย 1) เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) และ 40(2) ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีก้าวหน้า 2) ค่าบริหารจัดการ ค่าบริการที่ปรึกษา เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) และ 40(2) หากผู้รับเป็นบุคคลธรรมดา ให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีก้าวหน้า
ทั้งนี้ ต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย และนำส่งกรมสรรพากรภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป นอกจากค่าจ้าง เงินเดือน สวัสดิการแล้ว ยังรวมไปถึงค่าเช่า ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง ค่าบริการ และเงินปันผลที่ต้องหัก ณ ที่จ่ายด้วย โดยเช็กอัตราภาษีที่ต้องหัก ณ ที่จ่าย แต่ละประเภทธุรกิจได้ที่นี่ “อัตราภาษี หัก ณ ที่จ่าย แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร”
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ธุรกิจโรงแรมทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อมีผลประกอบการก่อนหักค่าใช้จ่ายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องไปยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ยื่นส่งแบบ ภ.พ.30 เป็นรายเดือนทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าในเดือนนั้นๆ จะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ภาษีโรงแรมสำหรับกิจการที่ไม่ได้จดบริษัทเป็นนิติบุคคล เมื่อผลประกอบการสูงเกิน 1.8 ล้านบาท จนต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว อาจต้องคำนวณภาษีที่ต้องเสียให้ดีว่ารายได้สูงแบบนี้ ถึงเวลาที่ควรจดเป็นนิติบุคคลแล้วหรือไม่ เนื่องจากโดยปกติหากภาษีที่ต้องเสียนั้นสูงเกิน 20% ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการโรงแรมจะเลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีจดบริษัทนิติบุคคล เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงแค่ 20%
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
เนื่องจากธุรกิจโรงแรม ถือเป็นที่ดินในกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม คือ การทำประโยชน์ด้านพาณิชยกรรม จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จัดเก็บภาษีโดยท้องถิ่น ได้แก่ เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา
โดยอัตราภาษีที่จัดเก็บคือ 0.3-0.7% และเริ่มเสียภาษีเมื่อผู้ประกอบการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ธุรกิจโรงแรมตั้งอยู่ ซึ่งจะมีจดหมายแจ้งประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งไปให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกปีอยู่แล้ว และนำไปจ่ายกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามที่ตั้งของที่ดินนั้น (สามารถอ่านรายละเอียดแบบเจาะลึกได้จากบทความ “ธุรกิจโรงแรมเสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มากกว่าภาษีที่ดินทั่วไป??”)
ภาษีศุลกากร
ในกรณีที่ธุรกิจโรงแรมมีบริการอาหาร โดยมีการสั่งนำเข้าสินค้า วัตถุดิบ เครื่องจักรที่อยู่ในรายการภาษีนำเข้า ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายภาษีศุลกากรด้วย โดยอัตราภาษีของสินค้าและวัตถุดิบนำเข้าแต่ละประเภทจะมีอัตราที่ต่างกัน สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมศุลกากร
อากรแสตมป์
ภาษีโรงแรมในส่วนของอากรแสตมป์ หากกิจการโรงแรมมีการให้กู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีหน้าที่ต้องชำระอากรแสตมป์อัตรา 1 บาท ต่อจำนวนเงิน 2,000 บาท ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
นอกจากภาษีโรงแรมที่เจ้าของกิจการมีหน้าที่ต้องจ่ายแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมผู้พักในโรงแรม คือเงินที่โรงแรมจะต้องเก็บจากผู้เข้าพักโรงแรม เพื่อนำส่งและจ่ายปีละ 40 บาทต่อห้องพัก ให้กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด ของแต่ละแห่งที่โรงแรมนั้นตั้งอยู่นั่นเอง