ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ทำความรู้จัก ภาษีธุรกิจเฉพาะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น และกลายเป็นโรคประจำถิ่นไปแล้ว ทำให้ผู้คนเริ่มทยอยออกมาท่องเที่ยว โดยเฉพาะไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ได้ชอปปิงใช้จ่ายอย่างเพลินใจ และแน่นอนว่าจะต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เพื่อนำไปใช้สอยในต่างแดนด้วย 

โดยปัจจุบันสามารถหาสถานที่รับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศได้ง่ายกว่าสมัยก่อน เพราะมีธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจนี้ถือเป็นธุรกิจที่มีกฎระเบียบค่อนข้างเยอะ ตั้งแต่ต้องขออนุญาตประกอบกิจการ ต้องเป็นกิจการที่จดบริษัทนิติบุคคลเท่านั้น และต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีหัก ณ ที่จ่าย (อ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “รายได้จากการรับแลกเปลี่ยนเงินตรา ตปท. เสีย ภาษีแลกเปลี่ยนเงิน อย่างไร”) ที่สำคัญคือ ภาษีธุรกิจเฉพาะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ 

เนื่องจากธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจเฉพาะ ผู้ประกอบการจึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ด้วย ซึ่งวันนี้เรามาทำความรู้จักกับภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งน้อยคนนักจะให้ความสำคัญกับภาษีธุรกิจเฉพาะนี้ และภาษีธุรกิจเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศกัน  

 

ภาษีธุรกิจเฉพาะคืออะไร 

ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีทางอ้อมที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่าง แทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก ซึ่งภาษีธุรกิจเฉพาะเริ่มใช้บังคับตั้งแต่ พ.ศ.2535 พร้อมกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ผู้ประกอบการเฉพาะอย่างที่กฎหมายกำหนด โดยผู้เสียภาษีที่อยู่ในข่ายบังคับของภาษีธุรกิจเฉพาะ จะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อป้องกันปัญหาการเสียภาษีซ้ำซ้อน 

ทั้งนี้ ภาษีธุรกิจเฉพาะจะประเมินจากฐานภาษี คือ รายรับ เช่น เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับหรือพึงได้รับ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรอันเนื่องมาจากการประกอบการ โดยใครที่ประกอบธุรกิจในกลุ่มที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะต้องยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ

และมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการโดยใช้แบบ ภ.ธ.40 แสดงประเภทกิจการ จำนวน เงินรายรับ จำนวนเงินภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีท้องถิ่น 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ทุกเดือนแม้ว่าเดือนใดจะไม่มีรายรับก็ตาม ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ หรือสามารถยื่นแบบทางออนไลน์ได้ทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร 

  แต่หากเดือนใดคำนวณแล้วภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ถึง 100 บาท ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น แต่ยังคงต้องยื่นแบบแสดงรายการตามปกติ

 

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการที่ประกอบธุรกิจเฉพาะอย่าง ตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ 

1.กิจการธนาคาร

2.ธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์

3.การรับประกันชีวิต

4.การรับจำนำ

5.การประกอบการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ การให้กู้ยืมเงินค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่างๆ

6.การขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร

7.การซื้อและขายคืนหลักทรัพย์

8.การประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง คือธุรกิจที่ลูกค้าตกลงจะโอนหนี้ทางการค้า ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟ็กเตอริง โดยผู้ประกอบการธุรกิจแฟ็กเตอริงนั้นตกลงจะให้สินเชื่อ รวมถึงการรับที่จะดำเนินธุรกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ การบริหารลูกหนี้ การเรียกเก็บหนี้ เป็นต้น

โดยธุรกิจเฉพาะสามารถทำได้ทั้งในรูปแบบของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล กองมรดก ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุนหน่วยงาน หรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปที่ไม่ใช่นิติบุคคล องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล 

แต่ถ้าหากเป็นธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคลเท่านั้นที่สามารถทำธุรกิจเฉพาะนี้ได้ 

 

หลักการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจากฐานภาษีของกิจการ คือการนำรายรับก่อนหักรายจ่ายที่ผู้ประกอบการได้รับ หรือพึงได้รับจากการประกอบกิจการ x อัตราภาษีตามที่กำหนดไว้ และต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ ดังตารางต่อไปนี้

ประเภทกิจการ ฐานภาษี อัตราภาษี (%)
1.กิจการธนาคาร, ธุรกิจเงินทุน, ธุรกิจหลักทรัพย์, ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์และการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ – ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการซื้อหรือขายตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใดๆ

– กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา การออกตั๋วเงินหรือการส่งเงินไปต่างประเทศ

3.0

3.0

2.กิจการรับประกันชีวิต – ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม หรือค่าบริการ 2.5
3.กิจการโรงรับจำนำ – ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม 

– เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน หรือประโยชน์ใดๆ อันมีมูลค่าที่ได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายของที่จำนำหลุดเป็นสิทธิ

2.5

2.5

4.การค้าอสังหาริมทรัพย์ – รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ 3.0
5.การขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ – รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ 0.1 (ยกเว้น)
6.การซื้อและขายคืนหลักทรัพย์ที่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ – กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการขายคืนหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ย เงินปันผล หรือผลประโยชน์ใดๆ ที่ได้จากหลักทรัพย์ 3.0
7.ธุรกิจแฟ็กเตอริง – ดอกเบี้ย ส่วนลด ค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการ 3.0

 

ทั้งนี้ สำหรับธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จัดอยู่ในกลุ่มการประกอบกิจการเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ ดังนั้น ต้องนำกำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา x 3% (อัตราภาษี) ดังตัวอย่างการคำนวณต่อไปนี้

ตัวอย่าง… การคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

กำไรก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ จำนวน 100,000 บาท 

= 100,000 x 3% = 3,000 บาท

ภาษีท้องถิ่น 10% = 3,000 x 10%

ภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสีย = 3,300 บาท

 

สรุป… ภาษีธุรกิจเฉพาะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

จากข้อมูลเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะข้างต้น สามารถสรุปได้ว่า… 

การประกอบธุรกิจแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ จัดอยู่กลุ่มธุรกิจเฉพาะ เพราะเข้าลักษณะเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ เช่น การให้กู้ยืมเงิน ค้ำประกัน แลกเปลี่ยนเงินตรา ออก ซื้อ หรือขายตั๋วเงิน หรือรับส่งเงินไปต่างประเทศด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในความควบคุมของธนาคารแห่งประเทศไทย  

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ประกอบกิจการในกลุ่มนี้ ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในอัตรา 3% โดยผู้ประกอบการจะต้องยื่นแบบคำขอจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.01 ภายใน 30 วันนับแต่วันเริ่มประกอบกิจการ และไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 

โดยให้คำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะจากฐานภาษี ได้แก่ รายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตรา ส่วนลด ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม ค่าบริการ หรือกำไรก่อนหักรายจ่ายๆ จากการแลกเปลี่ยนหรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ x อัตราภาษี และต้องเสียภาษีท้องถิ่นอีก 10% ของภาษีธุรกิจเฉพาะ 

นำมายื่น ภ.ธ.40 เสียภาษีรายเดือนภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน แม้ว่าเดือนใดจะไม่มีรายรับก็ตาม แต่ถ้าผลรวมออกมาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือคำนวณแล้วภาษีธุรกิจเฉพาะไม่ถึง 100 บาท ให้กิจการยื่น แบบ ภ.ธ.40 เช่นกัน แต่ไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ