ภาษีโฆษณา …การปรับตัวและการทำโฆษณาในทุกวันนี้ ต้องแข่งขันกับความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงและมีความรวดเร็ว ผู้ผลิตสื่อโฆษณาจำเป็นต้องมีการประยุกต์ ครีเอตผลงานให้ออกมาโดนใจลูกค้ามากที่สุด รวมถึงต้องสร้างโฆษณาให้สื่อสารไปให้ถึงและสะดุดใจผู้บริโภคด้วย
ดังนั้นระบบการทำงานด้านโฆษณา จำเป็นต้องมีการผสมผสานระหว่างสื่อโฆษณาแบบดั้งเดิมกับสื่อโฆษณาสมัยใหม่ วิธีการสื่อสารกับผู้บริโภคยุคใหม่ที่เริ่มมาจากสมาร์ทโฟน ต้องปรับตัวตามสื่อโฆษณาที่มีความหลากหลายไม่ใช่แนวคิดเดียวอีกต่อไป
โดยธุรกิจโฆษณามีอัตราการขยายตัวในแต่ละปีอยู่ในเกณฑ์ที่สูง จึงทำให้บริษัทรับทำโฆษณาต้องมีความเข้าใจในการประกอบกิจการและต้องมีความรู้ทางด้าน ภาษีโฆษณา ควบคู่กันอีกด้วย เพื่อให้ธุรกิจดำเนินการอย่างราบรื่น และให้ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งจะมีข้อมูลอะไรบ้างลองมาศึกษาไปพร้อมๆ กันได้ ดังต่อไปนี้
บริษัทรับทำสื่อโฆษณาคืออะไร
ผู้ประกอบการที่รับจ้างทำโฆษณาหรือตัวแทนโฆษณา ผู้ประกอบการรับจ้างโฆษณาหรือตัวแทนโฆษณา เป็นผู้ผลิตแผนงาน สร้างสรรค์งานโฆษณา สื่อประชาสัมพันธ์ เพื่อให้เจ้าของสินค้ามีความพึงพอใจ และสินค้ามียอดขายตามเป้า ผู้ประกอบการรับจ้างโฆษณาหรือตัวแทนโฆษณา มักเรียกกันสั้นๆ ว่า เอเจนซี่ (Agency) ซึ่งประกอบด้วย
ออร์กาไนเซอร์ เป็นผู้รับทำกิจกรรมโฆษณาที่เกี่ยวกับการนำเสนอสินค้าในรูปแบบของการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การออกบูท การจัดคอนเสิร์ต การจัดแฟชั่นโชว์ การจัดประกวดแข่งขันต่างๆ เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวได้ผลมาก เนื่องจากสินค้าจะถูกสื่อสารผ่านออกมาให้เข้าถึงลูกค้า กลุ่มเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิดมากกว่าวิธีการโฆษณาอื่นๆ
ผู้ผลิตภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวของภาพยนตร์โฆษณา เป็นผู้รับทำกิจกรรมโฆษณาที่เกี่ยวกับการผลิตภาพยนตร์โฆษณาทางสื่อโทรทัศน์ และสปอตโฆษณาทางสื่อวิทยุ รวมทั้งการผลิตรายการเกี่ยวกับสารคดี วาไรตี้เกมโชว์ ฯลฯ
ภาษีโฆษณา ที่บริษัทรับทำโฆษณาต้องจ่ายมีอะไร
ธุรกิจโฆษณาถือเป็นวงการตลาดขนาดใหญ่ ที่มีผลพวงมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากรายได้และมูลค่าทางเศรษฐกิจ พบว่า รายได้หลักมาจากธุรกิจการทำโฆษณาซึ่งยังคงมีแนวโน้มการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเจ้าของบริษัทรับทำโฆษณาต้องมีการวางแผนชำระภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมายด้วยเช่นกัน อธิบายได้ดังนี้
ภาษีเงินได้นิติบุคคล ผู้ประกอบการที่รับจ้างทำโฆษณาหรือตัวแทนโฆษณาในรูปแบบบริษัท ที่ประกอบกิจการรับจ้างทำโฆษณาหรือเป็นตัวแทนโฆษณามีหน้าที่เสียภาษีโฆษณาจากกำไรสุทธิสูงสุด 20% จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีดังนี้
– การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี(ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของทุก 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– การเสียภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิเมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี จะต้องยื่นแบบแสดงรายการพร้อมชำระภาษี (ถ้ามี) ตามแบบ ภ.ง.ด.50 ภายใน 150 วัน นับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ธุรกิจโฆษณาในนามนิติบุคคล จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อมีผลประกอบการก่อนหักค่าใช้จ่ายเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องไปยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีรายได้เกิน และเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ยื่นส่งแบบ ภ.พ.30 เป็นรายเดือนทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป และยื่นออนไลน์ภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป ไม่ว่าในเดือนนั้นๆ จะมีรายรับหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ ภาษีโฆษณาสำหรับกิจการที่ไม่ได้จดบริษัทเป็นนิติบุคคล เมื่อผลประกอบการสูงเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน ซึ่งอาจต้องคำนวณภาษีที่ต้องเสียให้ดีว่ารายได้สูงแบบนี้ ถึงเวลาที่ควรจดเป็นนิติบุคคลแล้วหรือไม่ เนื่องจากโดยปกติหากภาษีที่ต้องเสียนั้นสูงเกิน 20% ส่วนใหญ่เจ้าของกิจการจะเลือกใช้บริการจดบริษัทนิติบุคคลจากสำนักงานบัญชี เพื่อให้เสียภาษีน้อยลงสูงสุดแค่ 20%
ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย
– กรณีที่บริษัทรับทำโฆษณาที่ลูกค้าในนามนิติบุคคลจ่ายค่าโฆษณามา ทางบริษัทรับทำโฆษณาผู้รับเงินจะถูกหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 2%
– กรณีรัฐบาลหรือองค์กรภาครัฐเป็นผู้ว่าจ้าง บริษัทโฆษณาจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเพียง 1% ของเงินได้ที่จ่ายตามมาตรา 50(4) มาตรา 69ทวิ มาตรา 70 และมาตรา 70ทวิ
– กรณีบริษัทรับทำโฆษณามีการจ้างพนักงาน จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%
– กรณีบริษัทรับทำโฆษณามีการว่าจ้าง Influencer จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%
– กรณีบริษัทรับทำโฆษณามีการเช่าสถานที่ จะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 5% ของเงินค่าเช่า
ส่วนผู้ที่จ่ายเงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทันทีทุกครั้งก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับ ถ้าไม่หักหรือยื่นส่งสรรพากรไม่ตรงตามความเป็นจริง จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย และยังมีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ต้องจ่ายหากหักไว้ไม่ครบหรือไม่ถูกต้อง
กล่าวโดยสรุป รูปแบบในการโฆษณามีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้มีรูปแบบที่หลากหลายและมีรายได้รายจ่ายที่แตกต่างกันตามลักษณะของการประกอบธุรกิจ ซึ่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดประเภทเงินได้อยู่หลายประเภท มีอัตราการหักภาษี ณ ที่จ่ายตามประเภทของเงินได้
เมื่อมาถึงตอนสุดท้ายแล้ว เจ้าของธุรกิจโฆษณา อย่าลืมยื่นภาษีโฆษณา ให้ถูกต้องเมื่อถึงเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ที่สำคัญเลือกยื่นภาษีให้ตรงกับรูปแบบธุรกิจของตนเอง เช่น ดำเนินกิจการในนามบุคคลธรรมดา ไม่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายผู้รับเงินได้ แต่จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย จากผู้ว่าจ้างในนามนิติบุคคล หรือหากดำเนินกิจการในนามนิติบุคคล ต้องเสียภาษีที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบการดำเนินกิจการของตนเองอะไรบ้าง เพื่อลดความเสี่ยงการถูกตรวจสอบย้อนหลังจากกรมสรรพากร