เมื่อคนเรารักสวยรักงาม หน้าตาผมเพร่าก็ต้องมีการเสริมสวย จึงเกิดเป็นธุรกิจยอดฮิตอีกหนึ่งอาชีพคือ “ร้านเสริมสวย” ซึ่งมีให้เลือกใช้บริการอยู่ทั่วทุกพื้นที่ แต่การเปิดร้านเสริมสวยต้องทำให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดด้วย เนื่องจากจะต้องมีการ จดทะเบียนร้านเสริมสวย หลายประเภทด้วยกัน
โดยพื้นฐานจะต้องจดทะเบียนต่างๆ ซึ่งประกอบด้วย
– จดทะเบียนขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
– จดทะเบียนพาณิชย์
– จดทะเบียนนิติบุคคล
แต่การจดทะเบียนทั้งหมดดังที่กล่าวมานี้ มีเงื่อนไขที่เกี่ยวข้องค่อนข้องซับซ้อน ซึ่งการ จดทะเบียนร้านเสริมสวย บางประเภท อาจไม่ต้อง จดทะเบียนร้านเสริมสวย ทั้งหมด โดยสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
จดทะเบียนขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
การจดทะเบียนร้านเสริมสวย ที่มีความละเอียดที่สุดคือการจดทะเบียนขออนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หากมีการรับจ้างแต่งเล็บ แคะหู มีของมีคมอยู่ในร้าน เช่น กรรไกร มีดโกน แบตตาเลี่ยน มีการใช้เคมี ดัดผม ยืดผม หรือสิ่งของที่เสี่ยงต่ออันตราย จะถือเป็นธุรกิจที่อยู่ในเงื่อนไขต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
ดังนั้น เมื่อเปิดร้านเสริมสวยแล้ว จะต้องไปขออนุญาตเพื่อให้ได้ใบอนุญาตให้ตั้งหรือใช้สถานที่เป็นที่รับจ้างแต่งผม และให้เป็นผู้รับจ้างแต่งผม ซึ่งเอกสารที่ใช้ในการขออนุญาตเปิดร้านเสริมสวย ได้แก่
– คำขอรับหรือขอต่ออายุใบอนุญาต
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน 1 ฉบับ
– สำเนาทะเบียนบ้าน 1 ฉบับ
– ใบรับรองแพทย์ อายุไม่เกิน 6 เดือน
โดยสามารถยื่นขออนุญาตได้ที่ สำนักงานเขตที่ตั้งสถานประกอบการร้านเสริมสวย (ในพื้นที่กรุงเทพฯ) และที่สำนักงานเทศบาล หรือสำนักงานสุขาภิบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งดูแลเขตพื้นที่ที่ตั้งสถานประกอบการร้านเสริมสวย (ต่างจังหวัด) มีค่าธรรมเนียม 500 บาท
และหลังจากได้ใบขออนุญาตมาแล้ว ในทุกๆ ปีจะต้องต่ออายุใบอนุญาตปีละ 1 ครั้ง ภายในวันที่จดทะเบียนร้านเสริมสวย
จดทะเบียนพาณิชย์
จดทะเบียนร้านเสริมสวย ต่อมาคือ “จดทะเบียนพาณิชย์” ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับร้านเสริมสวย หากเข้าเงื่อนไขต้องจดทะเบียนด้วยดังนี้
– ประกอบธุรกิจร้านเสริมสวยแบบให้บริการอย่างเดียว ลักษณะนี้ไม่จำเป็นต้องจดทะเบียนพาณิชย์
– ประกอบธุรกิจเสริมสวยแบบให้บริการและขายสินค้าด้วย กรณีนี้หากมีการจำหน่ายสินค้าควบคู่กับการบริการอยู่ในร้านด้วย เช่น ขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ เกี่ยวกับการทำผม แชมพู ครีมนวด ทรีทเมนต์ ผลิตภัณฑ์จัดแต่งทรงผม เครื่องสำอาง จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์
ทั้งนี้ การจดทะเบียนพาณิชย์ต้องมีสถานที่ทำการที่เจ้าของร้านยินยอม ซึ่งทำเป็นเงื่อนไขในสัญญาเช่าด้วยจะยิ่งดี
ดังนั้น หากร้านเสริมสวยใดเข้าเงื่อนไข จะต้องมีหน้าที่ไปขอจดทะเบียนพาณิชย์ต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน โดยมีวิธีการจดทะเบียนพาณิชย์ ดังนี้
1.เอกสารที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์
– เตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของธุรกิจ
– เตรียมแบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ แบบ ทพ. ซึ่งสามารถขอได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตทุกเขต เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา
– แผนที่แสดงสถานที่ตั้งร้าน
– หากเป็นนิติบุคคลให้เตรียมหนังสือรับรองบริษัท
– ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนพาณิชย์ จำนวน 50 บาท
– หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือสัญญาเช่า (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์ (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)
2.สถานที่จดทะเบียน
สามารถยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่สำนักงานเขต สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง เทศบาล อบต. ที่ธุรกิจของเจ้าของธุรกิจตั้งอยู่เท่านั้น โดยสามารถแยกย่อยได้ดังนี้
2.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่
– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร
– ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง รับจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ของเขตนั้น
2.2 ในภูมิภาค ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา รับจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยาแล้วแต่กรณี
จดทะเบียนนิติบุคคล
จดทะเบียนร้านเสริมสวย ที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งคือ “จดทะเบียนนิติบุคคล” สำหรับร้านเสริมสวยที่มีรายได้สูง ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ต้องเสียเกิน 20% ควรตัดสินใจจดทะเบียนนิติบุคคล เนื่องจากคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิสูงสุดไม่เกิน 20% โดยนำรายได้ทั้งหมดหักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จะใช้สูตรคือ
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ
แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีเปรียบเทียบตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”
โดยกิจการร้านเสริมสวยจะต้องยื่นภาษีให้อยู่ในช่วงเวลาที่กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับหากยื่นภาษีช้า ซึ่งมีกำหนดเวลาในการยื่นภาษีนิติบุคคล ดังนี้
– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
ที่สำคัญหากเจ้าของธุรกิจร้านเสริมสวยได้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ก็ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์
นอกจากนี้หากกิจการร้านเสริมสวยมีรายได้จากการประกอบกิจการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย และภาษีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษีป้าย ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “ต้องจ่าย! 6 ภาษีร้านเสริมสวย ที่กิจการมองข้าม”