บัญชีร้านเครื่องดื่ม …ภาพรวมธุรกิจร้านเครื่องดื่มในช่วงนี้มีการเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สาเหตุหลักๆ อาจสืบเนื่องมาจากผู้คนส่วนใหญ่มีการบริโภคเครื่องดื่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเมนูกาแฟสด ชานมไข่มุก ชาไต้หวัน ชาเขียว โกโก้ น้ำผลไม้ และอีกหลากหลายเมนูที่เพิ่มขึ้นตามความนิยมในสมัยปัจจุบัน ทำให้ธุรกิจร้านเครื่องดื่มมีความตื่นตัว และมักเห็นร้านเครื่องดื่มผุดขึ้นตามย่านเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก
จากข้อมูลข้างต้นหากมองในแง่การบริหารจัดการ จะทำให้เห็นถึงร้านเครื่องดื่มทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ มีความเข้มข้นตามขนาดของธุรกิจ จำนวนพนักงาน รวมถึงอุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ ถ้าหากเป็นร้านเล็กๆ ก็จะบริหารจัดการง่าย ซึ่งความรู้อันดับต้นๆ ที่เจ้าของธุรกิจร้านขายเครื่องดื่มต้องทราบคือ หลักการทำ บัญชีร้านเครื่องดื่ม ดังนั้นลองมาเรียนรู้กันว่าองค์ประกอบเหล่านี้มีอะไรกันบ้าง
บันทึกรายรับ-รายจ่าย ตัวช่วยควบคุมบัญชีร้านเครื่องดื่มเบื้องต้น
เมื่อเปิดธุรกิจสิ่งแรกที่เจ้าของธุรกิจร้านเครื่องดื่มต้องเตรียมคือ สมุดจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนที่จ่ายไป รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาวัตถุดิบ ทำให้ทราบถึงรายงานเงินสดรับ-จ่าย ในแต่ละวัน เพื่อใช้ในการคำนวณกำไรขาดทุนได้อีกด้วย และจากราคาต้นทุนสามารถนำข้อมูลที่ได้มาไปเป็นตัวตั้งราคาขาย หรือสามารถตั้งโปรโมชั่นให้เหมาะสมกับทางร้านเพื่อเพิ่มจำนวนยอดขาย ช่วยควบคุมและตรวจสอบปัญหาที่เกิดขึ้นกับธุรกิจได้ ลองมาดูตัวอย่างในการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ดังตารางข้างล่าง
ตัวอย่างการจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายร้านเครื่องดื่ม
วันเดือนปี | รายการ | รายรับ | รายจ่าย | คงเหลือ |
1/1/2566 | ยอดขายหน้าร้าน | 5,000 | ||
1/1/2566 | ยอดขายออนไลน์ | 2,000 | ||
1/1/2566 | ค่าแรงเจ้าของร้าน | 1,000 | 6,000 | |
1/1/2566 | ค่าแก้วพร้อมฝา (ยกลัง) | 750 | 5,250 | |
1/1/2566 | ค่าน้ำแข็ง | 200 | 5,050 | |
1/1/2566 | ค่านมข้นหวาน 10*25 | 250 | 4,800 | |
1/1/2566 | ค่านมข้นจืด 10*22 | 220 | 4,580 | |
1/1/2566 | ค่าไซรัป 10*34 | 340 | 4,240 | |
1/1/2566 | ค่าน้ำหวาน 2*55 | 110 | 4,130 | |
1/1/2566 | ค่าชา กาแฟ โกโก้ มัทฉะ | 1,000 | 3,130 | |
รวมทั้งสิ้น | 7,000 | 3,870 | 3,130 |
จากบันทึกรายรับรายจ่ายที่กล่าวไปข้างต้นนั้น เป็นการทำบัญชีร้านเครื่องดื่มอย่างง่าย จะเห็นได้ว่ายอดขายในวันนี้เหลือกำไร 3,130 บาท หากเห็นว่ากำไรได้น้อยหรือมากก็สามารถเข้าไปปรับเปลี่ยนราคาขายได้ตามความเหมาะสมของตลาดปัจจุบันได้เลย ดังนั้นเจ้าของธุรกิจสามารถนำตัวเลขชุดนี้ไปเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการได้ ซึ่งการจดบันทึกแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดเล็กสามารถบริหารจัดการได้เพียงคนเดียวแบบสบายๆ
การทำบัญชีร้านเครื่องดื่มขนาดใหญ่เป็นหัวใจสำคัญ
หากลองขยับขนาดธุรกิจขึ้นมาเป็นขนาดใหญ่ดูบ้าง ว่าเลื่อนขั้นมาอีกระดับจะมีความซับซ้อนขึ้นอย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่จะทำในรูปแบบบริษัท แล้วหลังจดทะเบียนเป็นบริษัทควรจัดการเรื่องบัญชีแบบไหนถึงจะครอบคลุมธุรกิจร้านเครื่องดื่มมากที่สุด ลองมาจับประเด็นกันดูว่ามีอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่เจ้าของธุรกิจจะใช้เงินทุนส่วนตัวในการบริหารจัดการก่อนเบื้องต้น หรืออาจมีการกู้ยืมเงินมาลงทุนจากสถาบันทางการเงิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของเจ้าของธุรกิจแต่ละท่าน ส่วนค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในการบริหารจัดการในแต่ละเดือน เช่น จะมีค่าเช่าสถานที่ (ถ้ามี) เงินเดือนพนักงานประจำร้าน วัตถุดิบ เช่น นม แก้ว ถุง ผงชาเขียว ผงชาไทย เมล็ดกาแฟ ผงโกโก้ น้ำผลไม้ (ถ้ามี) ฯลฯ ก็ต้องทำบัญชีเช่นเดียวกัน
นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายที่พบในส่วนอื่นๆ อีก เช่น อุปกรณ์การทำเครื่องดื่ม ป้ายโฆษณา ป้ายเมนูอาหาร สัญญาณอินเตอร์เน็ต ชุดยูนิฟอร์ม ชุดเก้าอี้โต๊ะ เคาน์เตอร์เก็บอุปกรณ์ เคาน์เตอร์ชงเครื่องดื่ม เครื่องทำกาแฟสด เครื่องทำน้ำแข็ง ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือต้นทุนในการประกอบธุรกิจร้านขายเครื่องดื่มทั้งสิ้น
ดังนั้นระบบการทำบัญชีร้านเครื่องดื่มหลังบ้านต้องแม่นยำ เพื่อทำงบการเงินสรุปให้กรมสรรพากรอย่างถูกต้อง ซึ่งการจัดทำงบการเงิน คือ การนำรายการบัญชีตัวเลขมาใส่ในรายการต่างๆ เช่น งบต้นทุนการผลิต งบต้นทุนการขาย งบกำไรขาดทุน งบดุล สามารถอธิบายได้ดังนี้
– งบดุล คือ รายงานทางการเงินที่แสดงฐานะทางการเงินของเจ้าของธุรกิจว่ามีทรัพย์สิน หนี้สิน เป็นประเภทใดบ้าง และจำนวนเท่าไหร่
– งบกำไรขาดทุน คือ รายงานทางการเงินที่แสดงการซื้อขายของธุรกิจในแต่ละรอบบัญชี ว่ามีกำไรเท่าไหร่ หรือขาดทุนเท่าไหร่
– งบต้นทุนขาย / บริการ คือ รายงานทางการเงินที่แสดงต้นทุนสินค้าและบริการในแต่ละรอบบัญชี
– งบต้นทุนการผลิต คือ รายงานทางการเงินที่แสดงต้นทุนการผลิตในธุรกิจร้านขายเครื่องดื่มว่ามีอะไรบ้าง จำนวนเท่าไหร่
– หมายเหตุประกอบงบการเงิน คือ ส่วนหนึ่งของงบการเงินที่จัดทำขึ้นเพื่อขยายความในรายงานงบการเงิน
ทั้งนี้หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถเข้าไปอ่านได้ที่บทความการปิดงบการเงิน คืออะไร ใครต้องทำบ้าง
แม้ว่าแนวโน้มธุรกิจร้านขายเครื่องดื่มจะมีอัตราการเติบโตมากขึ้นก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่เจ้าของธุรกิจรายใหม่ๆ ต้องคำนึงถึงคือเรื่องการตลาด เจ้าของธุรกิจขายเครื่องดื่มคิดจะทำแบรนด์ใหม่ๆ ให้ติดตลาดอยู่คงทนนั้นค่อนข้างเหนื่อย เพราะต้องแข่งขันกับธุรกิจขายเครื่องดื่มขนาดใหญ่แบรนด์ใหญ่ๆ ซึ่งมีชื่อติดตลาดและมีฐานลูกค้าอยู่แล้ว ดังนั้นเจ้าของธุรกิจร้านขายเครื่องดื่มต้องทำการบ้านอย่างหนักทีเดียว
สรุปสาระสำคัญทิ้งท้าย หากเจ้าของธุรกิจร้านขายเครื่องดื่มมีความมุ่งมั่นตั้งใจในการทำธุรกิจไม่ว่าจะเริ่มต้นจากร้านเล็กหรือร้านใหญ่ก็ตาม บางทีเงินทุนก้อนนี้อาจจะสร้างกำไรเป็นกอบเป็นกำก็ได้ แต่สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือระบบการจัดทำบัญชีร้านเครื่องดื่ม การบริหารจัดการ การตลาด รวมถึงการมีนักบัญชีจากบริษัทที่เชื่อถือได้เข้ามาช่วยให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับการทำธุรกิจ ซึ่งองค์ประกอบเหล่านี้ต้องหลอมรวมเข้าด้วยกัน เพื่อผลักดันธุรกิจให้ค่อยๆ เติบโตแบบยั่งยืนต่อไป