หลักการทำบัญชี-ภาษี
ที่กิจการควรรู้หลังจดบริษัท

จุดเริ่มต้นของวัยก่อร่างสร้างตัว หลายรายเลือกเดินเข้าสู่การเป็นมนุษย์เงินเดือน ตามธรรมเนียมนิยม เก็บหอมรอมริบ เก็บเล็กผสมน้อยจนกระทั่งมีเงินมากพอจึงเริ่มทำธุรกิจของตนเอง แต่บางรายที่พอมีเงินทุนอยู่บ้าง ก็ตัดสินใจลงทุนทำธุรกิจเลย ตั้งแต่ซื้อมาขายไป เรื่อยไปจนถึง จดบริษัท ผลิตและจำหน่ายเอง
โดยเชื่อมั่นว่าการมีธุรกิจเป็นของตนเอง สามารถสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต และลูกหลานต่อไปในอนาคตได้ ซึ่งประตูชัยของแต่ละคนอาจมีเส้นทางเดินที่แตกต่างกันบ้าง แต่อย่างน้อยต้องอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้อง และตามกฎเกณฑ์ที่สังคมกำหนดขึ้นเพื่อใช้ร่วมกัน
และแน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้ว การเดินทางสู่ความสำเร็จที่ทุกคนใฝ่หา ย่อมมาพร้อมกับหน้าที่ทางภาษีอันสำคัญยิ่งนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์เงินเดือน เจ้าของธุรกิจที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และที่ จดบริษัท นิติบุคคลเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ดังนั้น แรกเริ่มของการเดินทางในสายธุรกิจ ส่วนใหญ่นิยมซื้อมาขายไป ไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าตามพื้นที่ต่างๆ มีหน้าร้านเป็นของตนเอง หรือขายสินค้าออนไลน์ เมื่อการค้าขายเริ่มไปได้ดี มีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่องและสูงขึ้นเรื่อยๆ

โดยปกติธุรกิจที่เริ่มมีการจัดตั้งเป็นบริษัท จะมีทั้งแบบที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ส่วนใหญ่สำหรับธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดา เมื่อดำเนินกิจการมาถึงจุดที่มีรายได้สูง การจัดการเรื่องรายรับรายจ่าย การ ทำบัญชี เพื่อยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เริ่มไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะถ้าหากใครที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือพูดง่ายๆ ก็คือจ่ายภาษีแบบบุคคลธรรมดา ตามกฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบการเหล่านี้ เลือกวิธีการหักค่าใช่จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เพื่อเสียภาษีอยู่ 2 แบบ คือ 1) หักแบบเหมา และ 2) หักตามจริง และถ้าหากเจ้าของธุรกิจเลือกหักค่าใช่จ่ายแบบตามจริง ต้องยอมรับก่อนว่าจะต้องมีความละเอียดเป็นอย่างมาก ทั้งเอกสาร บิล ใบเสร็จต่างๆ เก็บไว้ให้ครบทุกใบ และทำบัญชีรายรับรายจ่ายในแต่ละวัน เพื่อแสดงต่อสรรพากรในการหักค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงด้วย

สารบัญ

สิ่งที่กิจการต้องทำหลังจดบริษัทเป็นนิติบุคคล

หลักการยื่นภาษีนิติบุคคล

แนวทางประหยัดภาษีนิติบุคคล

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

วิธีการจัดทำรายงานภาษีซื้อภาษีขาย

วิธีการจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

วิธีการจัดทำงบทดลอง

วิธีการจัดทำหมายเหตุประกอบงบการเงิน

นิติบุคคลทำบัญชีเองได้หรือไม่

ประโยชน์ของการทำบัญชี

ถึงเวลาที่กิจการต้องจ้างสำนักงานบัญชีแล้วหรือยัง

การเลือกสำนักงานบัญชีคุณภาพ

การเตรียมเอกสารประกอบการลงบัญชี

หลักการเปลี่ยนสำนักงานบัญชี

สิ่งที่กิจการต้องทำ
หลังจดบริษัทเป็นนิติบุคคล

หลังจากจดบริษัทเป็นนิติบุคคล กิจการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการดังนี้

1.เปิดบัญชีธนาคารในนามบริษัท แยกออกจากบัญชีส่วนตัวให้ชัดเจน

2.ขึ้นทะเบียนลูกจ้าง ถ้าหากมีพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยมีการจ่ายค่าจ้างเป็นเงินเดือน กิจการต้องไปขึ้นทะเบียนลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างงาน ที่สำนักงานประกันสังคม และนำส่ง ภ.ง.ด.1 และ ภ.ง.ด.1ก ในกรณีที่กิจการมีการหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้สำหรับเงินเดือนของพนักงานที่ถึงเกณฑ์กำหนด (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบัญชีเงินเดือนที่ควรทราบได้จากบทความ บัญชีเงินเดือน ที่เจ้าของกิจการควรรู้ )

            3.จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับกิจการที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท หรือจดภาษีมูลค่าเพิ่มหลังจากจดบริษัทนิติบุคลเลยก็ได้ แต่ในกรณีที่มีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ตั้งแต่ก่อนจดบริษัทนิติบุคคล ก็สามารถดำเนินกิจการต่อได้เลย

4.เอกสารค่าใช้จ่ายของกิจการ ซื้อของทุกอย่างในนามบริษัทเท่านั้น และให้ออกเป็นใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษี หรือบิลเงินสดที่มีชื่อ ที่อยู่ของผู้ขาย และต้องระบุชื่อบริษัทของเราด้วย  

5.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในฐานะที่กิจการเป็นผู้จ่ายเงิน ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายเอาไว้ส่วนหนึ่ง ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด ตามอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย  0-5% แตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่าย

6.เตรียมเอกสารทางบัญชี ภาษี ในช่วงแรกที่เริ่มดำเนินกิจการรูปแบบนิติบุคคล กิจการอาจใช้วิธีรวบรวมเอกสารทั้งรายรับและรายจ่ายของกิจการทั้งหมดที่เกิดขึ้น เพื่อสรุปข้อมูลและนำส่งภาษีเอง แล้วค่อยส่งให้สำนักงานบัญชีสรุปบัญชี ตรวจสอบงบการเงิน และยื่นภาษีที่เกี่ยวข้องของกิจการ หลังจากสิ้นปีแทนกิจการ (ทำบัญชีและปิดงบรายปี) หรืออาจจะเลือกจ้างสำนักงานบัญชีเพื่อบันทึกบัญชีและนำส่งภาษีให้กิจการเป็นรายเดือน (บริการบัญชีรายเดือน) เลยก็ได้เช่นกัน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ สิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเจอ… หลังจดทะเบียนบริษัท https://inflowaccount.co.th/after-regis-company/

นอกจากกิจการจะต้องไปจดภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ส่วนหนึ่งเมื่อมีการจ่ายเงินแล้ว ยังมีภาษีอื่นๆ ที่กิจการควรทราบคือ

 

1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีที่จัดเก็บจากเงินได้ของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล

2.ภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภาษีบริษัทประเภทที่จัดเก็บเฉพาะบางธุรกิจที่กฎมายกำหนดไว้พิเศษ

3.อากรแสตมป์ เป็นภาษีบริษัทที่จัดเก็บในรูปของดวงแสตมป์ที่ใช้สำหรับปิดบนเอกสารราชการและหนังสือสัญญาต่างๆ ซึ่งได้อธิบายไว้ในบทความ ภาษีบริษัท ที่ต้องรู้มีอะไรบ้าง https://inflowaccount.co.th/company-tax/

หลักการยื่นภาษีนิติบุคคล

กฎหมายกำหนดให้ยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้นิติบุคคล 2 ช่วง คือ                       

– ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือน

แรกของรอบระยะเวลาบัญชี

– ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบ

ระยะเวลาบัญชี

โดยวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จะใช้สูตรคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ที่ทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท + รายได้ทั้งปีไม่เกิน 30 ล้านบาท ดังนี้

กำไร 300,000 บาทแรก                =          ยกเว้นภาษี

กำไร 300,001 – 3 ล้าน                 =          ภาษี 15%

กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป       =          ภาษี 20%

แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว ให้จัดอยู่ในอัตราภาษีเท่ากับ 20% ตั้งแต่กำไรบาทแรก ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล https://inflowaccount.co.th/cit-planning/

          และเนื่องจากสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลบออกจากรายได้ ทำให้เหลือกำไรสุทธิน้อยลง ส่งผลให้เสียภาษีน้อยลงตามไปด้วย

แนวทางประหยัดภาษีนิติบุคคล

การประหยัดภาษีนิติบุคคลที่ดีที่สุดและถูกต้องตามกฎหมาย คือการนำรายจ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของกิจการมาคำนวณหักภาษีที่ต้องจ่าย ก็จะช่วยประหยัดภาษีได้ เช่น

            – ค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการ ให้ซื้อในนามบริษัทเท่านั้น

            – ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพนักงาน หากลูกจ้างของกิจการเข้ารับการศึกษาหรืออบรมพนักงาน หากมีใบเสร็จรับเงิน และกลับมาทำงานเพื่อพัฒนาองค์กร ก็สามารถนำมาเป็นหลักฐานเพื่อใช้หักภาษีได้

            – สัมมนานอกสถานที่ การจัดสัมมนานอกสถานที่ให้กับพนักงาน หากกิจการมีระเบียบชัดเจน และเอื้อประโยชน์แก่การพัฒนาองค์กรของกิจการ สามารถนำมาเป็นหลักฐานเพื่อใช้หักภาษีได้

            – SMEs หักค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน อัตราพิเศษ เมื่อกิจการที่เป็น SMEs มีการซื้อทรัพย์สิน สามารถหักค่าเสื่อมราคาในอัตราพิเศษ สำหรับทรัพย์สินที่ซื้อมาหลังวันที่ 31 ม.ค.2545

            – จ้างงานผู้สูงอายุ หักรายจ่ายได้ถึง 2 เท่าของค่าจ้างที่จ่ายแก่พนักงาน ลูกจ้าง ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินจำนวน 15,000 บาท

          – จ้างงานคนพิการ หากจ้างคนพิการเกินกว่าอัตราส่วนที่กฎหมายกำหนด สามารถหักค่าใช้จ่ายในการจ้างคนพิการส่วนที่เกินกำหนดได้ 2 เท่า (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ ประหยัดภาษีนิติบุคคล ได้ยังไงบ้าง…ที่นี่มีคำตอบ https://inflowaccount.co.th/how-to-save-ci/ )

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นอีกหนึ่งเรื่องภาษีที่นิติบุคคลต้องทำความเข้าใจ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการทำบัญชีที่สำคัญ อย่างที่เกริ่นไปบ้างแล้วว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องหักไว้ก่อนจ่ายเงิน ให้กับผู้รับทั้งที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จากนั้นนำเงินที่หักไว้ส่งให้สรรพากรภายในวันที่ 7-15 ของทุกเดือน         

                ยกเว้นหากสินค้าหรือบริการยอดเงินไม่ถึง 1,000 บาทในการจ่ายเงินแต่ละครั้ง ผู้จ่ายไม่ต้องหักภาษี แต่ถ้าหากมีการจ่ายอย่างต่อเนื่องแม้ยอดเงินแต่ละครั้งจะไม่ถึง 1,000 บาท ผู้จ่ายจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย อยู่ดี เช่น ค่าบริการโทรศัพท์ต้องจ่ายทุกเดือน ถึงแม้ยอดแต่ละครั้ง ไม่ถึง 1,000 บาท แต่รวมกันหลายยอดแล้วเกิน 1,000 บาท

โดยผู้รับเงินจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราภาษีที่กำหนดแต่ละประเภท ยิ่งถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปเยอะเท่าไร เมื่อยื่นภาษีสิ้นปีปรากฏว่ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ต้องจ่ายภาษี ก็สามารถยื่นขอเงินคืนได้ หรือในกรณีที่ยื่นภาษีแล้วต้องมีการจ่ายภาษีเพิ่ม ก็จะช่วยให้จ่ายน้อยลงเนื่องจากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไปบางส่วนแล้ว ถือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระในการจ่ายภาษีของผู้มีรายได้

ส่วนผู้ที่จ่ายเงิน ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทันทีทุกครั้งก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับ ถ้าไม่หักหรือยื่นส่งสรรพากรไม่ตรงตามความเป็นจริง จะถือว่ามีความผิดทางกฎหมาย และยังมีเบี้ยปรับและเงินเพิ่มที่ต้องจ่ายหากหักไว้ไม่ครบ ซึ่งสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร? ทำไมก่อนจดบริษัทไม่เคยเจอ https://inflowaccount.co.th/what-is-wht/

วิธีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้จ่ายจะต้องหักตามอัตราภาษีที่กำหนดแต่ละประเภท ซึ่งประกอบด้วย

1.ค่าจ้างและเงินเดือน ถ้าเงินได้สุทธิของพนักงานทั้งปี ไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต่ำสุด 0%    

2.จ้างทำงานหรือบริการ เช่น นายหน้าขายของ ได้ส่วนแบ่งค่าคอม จะใช้วิธีคำนวณเหมือนค่าจ้างและเงินเดือน หักภาษี ณ ที่จ่ายต่ำสุด 0%

3.จ้างบริการวิชาชีพอิสระ บริษัทผู้ว่าจ้างจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ซึ่งภาษีในกลุ่มนี้จะประกอบไปด้วย 6 วิชาชีพเท่านั้น คือ

1) โรคศิลปะ เช่น กลุ่มเวชกรรม เภสัชกรรม ทันตกรรม

2) ประณีตศิลป์

3) สถาปนิก

4) วิศวกร

5) นักบัญชี

6) ทนายความ  

4.จ้างรับเหมาหรือบริการ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% เช่น การจ้างผลิตสินค้า จ้างทำนามบัตร จ้างรีวิวสินค้า ทำกราฟิก รวมถึงค่าอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์ (ต่างจากจ้างทำงาน หรือบริการ ตรงที่จ้างรับเหมา หรือบริการ ผู้ถูกจ้างจะต้องใช้หรือไปหาอุปกรณ์ของตัวเองมาเพื่อดำเนินการตามสิ่งที่ได้รับการว่าจ้าง)

5.ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์  ถ้าหากเป็นคนถือกุญแจเอง จะนับเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งบริษัทผู้ให้เช่าจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

6.ค่าโฆษณา หากต้องการทำโฆษณาเพื่อโปรโมตแบรนด์ บริษัทของตนเอง โดยจ้างผ่านบริษัทรับทำโฆษณา เอเจนซี่ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 2%

7.ค่าขนส่ง สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล และให้บริการด้านการขนส่ง จะต้องไปขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่งด้วย ซึ่งจะต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย 1%

โดยสามารถอ่านเพิ่มเติมแบบละเอียดได้จากบทความ ภาษี หัก ณ ที่จ่าย แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร https://inflowaccount.co.th/withholding-tax-type/

            ในกรณีที่กิจการเป็นผู้จ่ายเงิน เมื่อหักภาษีไว้ส่วนหนึ่งแล้ว ก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับเงิน จะต้องทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้ด้วย โดยจะต้องทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้ถูกต้อง รายละเอียดต่างๆ ในเอกสาร ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้

วิธีการจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ผู้มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ต้องจัดทำตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดดังนี้

1.ต้องระบุชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษี/เลขประจำตัวประชาชนของผู้มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย และผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย  

            2.ต้องระบุเลขที่/เล่มที่ ในหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย แต่ถ้าออกด้วยคอมพิวเตอร์ ไม่ต้องระบุหมายเลขลำดับของเล่มได้    

            3.หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ต้องมีข้อความแต่ละฉบับตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด คือ

– ฉบับที่ 1 มีข้อความกำกับว่า “สำหรับผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายใช้แนบพร้อมกับการแสดงรายการ”

– ฉบับที่ 2 ใช้สำหรับให้ผู้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเก็บไว้เป็นหลักฐาน

4.ลำดับที่ในแบบ ภ.ง.ด.1ก. , ภ.ง.ด.1ก พิเศษ , ภ.ง.ด.2ก , ภ.ง.ด.3ก  

– กรณียื่นรายการการจ่ายเงินได้พึงประเมินประจำปีที่ต้องยื่นแบบดังกล่าว เช่น การจ่ายเงินเดือน  ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.1ก ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป

– ส่วน ภ.ง.ด.2 , ภ.ง.ด.3 , ภ.ง.ด.53 แบบแสดงรายการหักภาษี ณ ที่จ่าย ต้องยื่นทุกเดือน

                5.รายการประเภทเงินได้พึงประเมิน ในหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย จะมีช่อง “ประเภทเงินได้พึงประเมิน” ให้กรอก จะต้องระบุว่า “เป็นเงินได้ประเภทใด”       

          ทั้งนี้ สามารถกรอกข้อมูลได้ทั้งการเขียนและการพิมพ์ แต่ที่สำคัญข้อมูลที่กรอกในหนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย ต้องกรอกให้อ่านเข้าใจง่าย ตามตัวอย่างในบทความ การจัดทำ หนังสือรับรองการหัก ณ ที่จ่าย

วิธีการจัดทำ
รายงานภาษีซื้อภาษีขาย

 ส่วนกรณีที่นิติบุคคลได้จดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ จำเป็นต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30 ยื่นแก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน) พร้อมกับต้องจัดทำเอกสารคือ รายงานภาษีซื้อภาษีขาย ประกอบแบบที่ยื่นเก็บไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งผู้ประกอบการ นอกจากจะมีหน้าที่เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ และออกใบกำกับภาษีแล้ว ในส่วนของการทำบัญชี จะต้องจัดทำรายงานภาษีซื้อภาษีขายด้วย ซึ่งสามารถอธิบายแยกย่อยได้ดังนี้ 

1.รายงานภาษีซื้อ เป็นรายงานที่กิจการจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกรายละเอียดรายการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่น

            2.รายงานภาษีขาย เป็นรายงานที่กิจการจัดทำขึ้นเพื่อบันทึกรายละเอียดรายการที่ผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนได้ออกใบกำกับภาษีจากการขายสินค้าหรือให้บริการ

            โดยรายละเอียดในรายงานภาษีซื้อภาษีขายต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้

1.รายงานภาษีซื้อ จำเป็นต้องมีรายละเอียดในรายงานดังนี้

– ชื่อที่แสดงว่าเป็นรายงานภาษีซื้อ

– เดือนภาษีและปีภาษี

– ชื่อสถานประกอบการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

– ที่อยู่ของสถานประกอบการตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม    

          – สำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ยื่นรายงานภาษีซื้อ

            – รายละเอียดของใบกำกับภาษีซื้อที่เกิดขึ้นในเดือนภาษีนั้น ได้แก่ วัน-เดือน-ปี เลขที่ใบกำกับภาษี ชื่อผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ขายสินค้า/ผู้ให้บริการ สำนักงานใหญ่/สาขาของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการ มูลค่าสินค้า/บริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม  

 

2.รายงานภาษีขาย จำเป็นต้องมีรายละเอียดในรายงานดังนี้   

– ชื่อที่แสดงว่าเป็นรายงานภาษีขาย

– เดือนภาษีและปีภาษี

– ชื่อสถานประกอบการ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี

– ที่อยู่ของสถานประกอบการตามที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

– สำนักงานใหญ่หรือสาขาที่ยื่นรายงานภาษีขาย

– รายละเอียดของใบกำกับภาษีขายที่เกิดขึ้นในเดือนภาษีนั้น ได้แก่ วัน-เดือน-ปี เลขที่ใบกำกับภาษี ชื่อผู้ซื้อสินค้า/ผู้รับบริการ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้า/ผู้รับบริการ สำนักงานใหญ่/สาขาของผู้ขายสินค้าหรือผู้รับบริการ มูลค่าสินค้า/บริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม

 

และเมื่อครบกำหนดที่ต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้กิจการรวบรวมรายงานภาษีซื้อภาษีขาย พร้อมใบกำกับภาษีทั้งในส่วนของภาษีซื้อและภาษีขายแยกไว้เป็น 2 ส่วน จากนั้นสามารถคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มและยื่นแบบ ภ.พ.30 เองได้ผ่านทางช่องทางการยื่นภาษีออนไลน์ หรือไปยื่นแบบกระดาษที่สรรพากรพื้นที่ของกิจการ

แต่ถ้าหากไม่มั่นใจว่าภาษีซื้อภาษีขายแบบไหนใช้ได้บ้าง สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ รายงานภาษีซื้อภาษีขาย คืออะไร จำเป็นต้องทำจริงหรือ หรืออาจจะส่งให้สำนักงานบัญชีจัดการทำให้ได้เช่นกัน เพื่อให้รายงานภาษีซื้อภาษีขายเป็นไปอย่างถูกต้องที่สุด

วิธีการจัดทำ
รายงานสินค้าและวัตถุดิบ

เมื่อพูดถึงภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากเรื่องของการจัดทำรายงานภาษีซื้อภาษีขายแล้ว จะไม่พูดถึง รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ก็คงไม่ได้ เพราะถึงแม้ว่าจะไม่ต้องส่งรายงานนี้ให้กับสรรพากร แต่กฎหมายกำหนดให้กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ทำธุรกิจขายสินค้า ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ โดยรูปแบบต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

โดยผู้มีหน้าที่จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ ได้แก่ กิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบธุรกิจขายสินค้าเท่านั้น ส่วนกิจการที่ทำธุรกิจให้บริการไม่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เป็นบุคคลธรรมดาก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบเช่นกัน

แต่ต้องทำการตรวจนับสินค้าคงเหลือปีละ 2 ครั้ง คือวันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 31 ธันวาคม ของปี แล้วบันทึกรายการแบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือ โดยให้ถือว่าแบบรายละเอียดสินค้าคงเหลือเป็นรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

ตลอดจนกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ประกอบธุรกิจประเภทโรงเลื่อย ค้าไม้แปรรูป, กิจการค้าของเก่า, กิจการปิโตรเลียม และร้านค้าปลอดอากร ก็ไม่ต้องจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบ แต่ให้ใช้บัญชีแสดงรายการสินค้าที่ครอบครองตามกฎหมายนั้นๆ แทนรายงานสินค้าและวัตถุดิบ

            ที่สำคัญผู้ประกอบการต้องเก็บรายงานสินค้าและวัตถุดิบ และเอกสารประกอบการลงรายงานไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่วันที่ได้ยื่นแบบรายการแสดงภาษีหรือวันที่ทำรายงาน

ขั้นตอนจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบนั้น กิจการควรจัดทำแยกตามชนิดและขนาดของสินค้า ทั้งนี้ หากกิจการมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้จัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบของทุกสถานประกอบการ ทั้งที่เป็นสำนักงานใหญ่และสาขา รวมไว้ในรายงานสินค้าและวัตถุดิบฉบับเดียวกันกับสำนักงานใหญ่

และบันทึกรายงานทันทีที่เกิดรายการ โดยต้องไม่เกิน 3 วันทำการ นับแต่วันที่รับมาหรือจ่ายไป โดยสามารถอ่านขั้นตอนการจัดทำรายงานสินค้าและวัตถุดิบโดยละเอียดได้จากบทความ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ ไม่ต้องส่ง(สรรพากร) แต่ต้องทำ

วิธีการจัดทำงบทดลอง

การทำบัญชีจะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดการทำงบทดลอง เพราะงบทดลอง คือสรุปรายการบัญชีที่บันทึกมาตลอดระยะเวลาที่กำหนด โดยผ่านจากการบันทึกบัญชีจากสมุดรายวันต่างๆ เช่น สมุดรายวันซื้อ สมุดรายวันขาย สมุดรายวันจ่าย สมุดรายวันรับ สมุดรายวันทั่วไป และต้องผ่านการจัดหมวดหมู่ในบัญชีแยกประเภท รวมถึงการหายอดคงเหลือในบัญชีแยกประเภททุกบัญชีแล้ว จากนั้นจึงนำยอดคงเหลือจากบัญชีแยกประเภทในแต่ละรายการมาจัดทำงบทดลอง

ซึ่งงบทดลองสามารถนำมาใช้ในการตรวจทานการบันทึกบัญชีทุกๆบัญชีของกิจการ ณ วันสิ้นงวดบัญชี ของกิจการนั้นๆ ซึ่งจะจัดทำขึ้นตามรอบการบัญชี อาจมีการกำหนดเป็นรอบ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือรอบ 1 ปี แล้วแต่กิจการจะกำหนด

 

หมวดหมู่บัญชีแยกประเภทที่ต้องนำมาใช้ในการจัดทำงบทดลองมีดังนี้

          1.หมวดสินทรัพย์ จะต้องมียอดคงเหลือด้านเดบิต

            2.หมวดหนี้สิน จะต้องมียอดคงเหลือด้านเครดิต

            3.หมวดส่วนของเจ้าของ (ทุน) จะต้องมียอดคงเหลือด้านเดบิต  

            4.หมวดรายได้ จะต้องมียอดคงเหลือด้านเครดิต

            5.หมวดค่าใช้จ่าย จะต้องมียอดคงเหลือด้านเดบิต

โดยวิธีการจัดทำงบทดลอง ให้กิจการเขียนหัวงบทดลอง ซึ่งประกอบด้วย 1) ชื่อกิจการ 2) ชื่องบทดลอง และ 3) วัน-เดือน-ปี ที่จัดทำงบทดลอง จากนั้นหายอดคงเหลือในบัญชีแยกประเภททั่วไปด้วยดินสอ แล้วนำยอดคงเหลือของทุกบัญชีในสมุดบัญชีแยกประเภท มาบันทึกลงในงบทดลองใส่ในช่องเดบิตและเครดิต โดยให้เรียงลำดับตามหมวดบัญชี และเลขที่บัญชี เริ่มจาก 1) สินทรัพย์ 2) หนี้สิน 3) ทุน 4) รายได้ และ 5) ค่าใช้จ่าย พร้อมใส่จำนวนเงินตามยอดดุลบัญชีนั้นๆ

ใส่ยอดคงเหลือให้ถูกหมวดหมู่ประเภทบัญชี ถ้าหากยอดคงเหลือในบัญชีแยกประเภทเหลืออยู่ทางด้านเดบิต ให้นำไปใส่ช่องเดบิต แต่ถ้ายอดคงเหลือในบัญชีแยกประเภทเหลืออยู่ทางด้านเครดิต ให้นำไปใส่ช่องเครดิต  สุดท้ายรวมจำนวนเงินในเดบิตและเครดิต ยอดรวมของด้านเดบิตต้องเท่ากับด้านเครดิตเสมอ จะถือว่าถูกต้องตามหลักการบัญชีคู่ 

แต่หากกิจการหายอดรวมทางด้านเดบิตและเครดิตได้จำนวนเงินรวมที่ไม่เท่ากัน สามารถตรวจสอบข้อผิดพลาดได้โดยศึกษาเพิ่มเติมจากบทความ งบทดลอง คืออะไร ทำไมต้องทำ?

วิธีการจัดทำหมายเหตุประกอบงบการเงิน

การลงบันทึกหมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นข้อมูลแนบท้ายงบการเงินเพื่อส่งให้กรมพัฒน์ เพื่อแสดงข้อมูลเพิ่มเติมต่อจากข้อมูลที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ และงบกระแสเงินสด เป็นการอธิบายภาพรวมของที่มาที่ไปของตัวเลขในงบการเงินทั้งหมด

นอกจากนี้ในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ยังกล่าวถึงข้อมูลทั่วไปของกิจการ นโยบายการบัญชีที่สำคัญที่บริษัทใช้ บุคคลกิจการที่เกี่ยวข้องกัน เป็นการแสดงรายละเอียดรายงานเรื่องต่างๆ นอกเหนือจากตัวเลขที่เห็นในงบการเงิน เช่น

            – รายละเอียดลูกหนี้

            – รายละเอียดสินค้าคงเหลือ

– รายละเอียดที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์

– ข้อมูลจำแนกตามส่วนงาน

– ภาระผูกพันและหนี้สินที่อาจจะเกิดขึ้น

– การค้ำประกัน

– คดีความฟ้องร้อง

– เหตุการณ์ภายหลังวันที่ในงบการเงิน                                                               

หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นส่วนขยายที่ทำให้กิจการเข้าใจตัวเลขต่างๆ ในงบการเงินมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของกิจการสามารถวางแผนและตัดสินใจได้ในหลายๆ เรื่อง เช่น

          – วางแผนสำหรับลูกหนี้การค้า หากลูกหนี้การค้ามากแสดงว่ากิจการขายสินค้าและบริการได้ดี

            – หากมีการจัดทำหมายเหตุประกอบงบการเงิน เมื่อพบว่ากิจการมีรายได้โตขึ้นมากๆ จะทำให้กิจการสามารถรู้ว่ามีนโยบายการรับรู้รายได้แบบไหน และนำไปวางแผนดำเนินการต่อได้

– หากมีการจัดทำหมายเหตุประกอบงบการเงิน จะทำให้กิจการรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงนโยบายการตัดค่าเสื่อมราคาทำให้กิจการโตขึ้นมากในรอบบัญชีนั้น ไม่ใช่กำไรที่ได้มาจากการดำเนินงาน

อ่านรายละเอียดวิธีการลงบันทึกหมายเหตุประกอบงบการเงินได้จากบทความ หมายเหตุประกอบงบการเงิน จำเป็นต้องทำหรือไม่  

นิติบุคคลทำบัญชีเองได้หรือไม่

นิติบุคคลจะทำบัญชีเองได้หรือไม่ เพราะการทำบัญชีและภาษีค่อนข้างมีความซับซ้อน หลายขั้นตอน อีกทั้งเอกสารค่อนข้างเยอะ ตลอดจนกฎหมายกำหนดให้นิติบุคคลต้องมีผู้จัดทำบัญชีตามหลักการบัญชี เพื่อส่งข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กรมสรรพากร ประกันสังคม

          แต่ความจริงแล้วสามารถทำบัญชีบริษัทเองได้ หากเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้

– กิจการมีพนักงานที่จบด้านบัญชี และมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์กำหนด สามารถทำบัญชีเบื้องต้นเองได้ จากนั้นจ้างผู้ตรวจสอบบัญชี เพื่อตรวจสอบ ออกรายงานผู้สอบบัญชี เพื่อยื่นงบการเงินและภาษีประจำปี

– กรณีที่กิจการไม่มีผู้ทำบัญชี กิจการสามารถทำรายรับรายจ่ายต่างๆ เบื้องต้นลงสมุด บันทึกไว้ใน Excel หรือใช้บริการโปรแกรมบัญชีสำเร็จรูป พร้อมกับเก็บเอกสารให้ครบทุกใบ จากนั้นจ้างสำนักงานบัญชีที่รับทำบัญชี ลงรายการบัญชีตามหลักการบัญชีให้ได้

ทั้งนี้ สำหรับกิจการที่ต้องการทำบัญชีเอง หรือต้องการจ้างนักบัญชีมาช่วยทำบัญชีให้นั้น นักบัญชีจะต้องมีคุณสมบัติเป็นไปตามเกณฑ์ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนดไว้ ดังนี้

1.ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวมและรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ต้องมีวุฒิการศึกษาขั้นต่ำระดับ ปวส.ทางการบัญชี ปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

2.ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน บริษัทจำกัด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท หรือมีสินทรัพย์รวม หรือรายได้รวมเกิน 30 ล้านบาท ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

3.บริษัทมหาชน ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

4.นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศประกอบธุรกิจในไทย ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

5.กิจการร่วมค้า ต้องมีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีทางการบัญชีขึ้นไป

และจะต้องมีเอกสารที่ต้องใช้ในการประกอบการลงบัญชี ได้แก่ หนังสือ บันทึก ใบเสร็จ หรือเอกสารต่างๆ ที่ใช้เพื่อเป็นหลักฐานในการลงรายการในบัญชี ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

1.เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้จัดทำบัญชี เพื่อออกให้แก่บุคคลภายนอก

2.เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยผู้จัดทำบัญชี เพื่อใช้ในกิจการของตนเอง

3.เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีที่จัดทำขึ้นโดยบุคคลภายนอก

            รวมถึงบัญชีที่ผู้จัดทำบัญชีเองต้องทำ ประกอบด้วย บัญชีรายวัน เช่น บัญชีรายวันซื้อ รายวันขาย รายวันทั่วไป บัญชีเงินสด บัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชีแยกประเภท เช่น บัญชีแยกประเภทสินทรัพย์ หนี้สินและทุน ชีแยกประเภทรายได้และค่าใช้จ่าย บัญชีแยกประเภทลูกหนี้ บัญชีแยกประเภทเจ้าหนี้ และบัญชีสินค้าคงคลัง

ประโยชน์ของการทำบัญชี

การทำบัญชีมีประโยชน์มากกว่าผลเสียอยู่แล้วในหลายด้าน เช่น

– เพื่อเป็นข้อมูลช่วยในการวางแผนหลายๆ ด้านของกิจการ เช่น วางแผนกำไร และค่าใช้จ่ายของกิจการ วางแผนการตลาดและการลงทุน

– เพื่อให้กิจการมีระบบควบคุมภายในที่ดี โดยเฉพาะการตรวจสอบป้องกันการทุจริตที่อาจเกิดได้ เนื่องจากการทำบัญชีที่ดีจะสามารถเก็บข้อมูลหลักฐานเพื่อใช้ยืนยันความถูกต้องได้

– เพื่อเป็นเครื่องมือในการหาแหล่งเงินทุน เมื่อกิจการทราบผลการดำเนินการว่ามีกำไรหรือขาดทุนเท่าไร เพื่อใช้เป็นหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ และทราบฐานะทางการเงินของกิจการ ก็สามารถนำหลักฐานเหล่านี้ไปใช้ประกอบการกู้ยืมจากสถาบันการเงินได้อย่างถูกต้อง 

– เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนภาษีได้อย่างถูกต้องและประหยัด กิจการสามารถวางแผนว่า ควรนำรายจ่ายใดมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้บ้าง เพื่อประหยัดภาษีและทำให้การเสียภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องตามกฎหมาย (อ่านบทความเพิ่มเติมได้ที่บทความ กิจการได้อะไรจากการทำบัญชี https://inflowaccount.co.th/what-businesses-accounting/ )

            หรือถ้าหากมองว่าการทำบัญชีเองจะทำให้ดึงเวลาในส่วนของการพัฒนาธุรกิจเหลือเกิน อาจเปลี่ยนความวุ่นวายในการทำบัญชีนี้ ให้สำนักงานบัญชีเป็นผู้ดูแลแทนคุณได้ เพราะสำนักงานบัญชีจะให้คำปรึกษาทั้งเรื่องการเงินและภาษีได้ดี  

                โดยส่วนใหญ่หลังจดบริษัทเป็นนิติบุคคล กิจการมักจะจ้างสำนักงานบัญชีให้ทำทั้งบัญชี ปิดงบการเงิน และยื่นภาษีให้ เพราะถึงแม้ว่ากิจการจะเข้าเงื่อนไขสามารถทำบัญชีเองได้ แต่ก็ต้อง “จ้างผู้สอบบัญชี” ที่เป็นอิสระจากกิจการมารับรองความถูกต้องของบัญชีที่จัดทำเป็นประจำทุกปีด้วยอยู่แล้ว  

ดังนั้น จึงทำให้กิจการเลือกใช้บริการสำนักงานบัญชีที่รับจ้างทำบัญชี เพื่อให้ผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ มาดูแลเรื่องบัญชีและภาษีแบบครบทุกขั้นตอน สามารถหมดห่วงเรื่องความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น จนถูกสรรพากรตรวจสอบย้อนหลังได้

            ที่สำคัญมีสำนักงานบัญชีอยู่มากมาย ที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบธุรกิจทุกประเภท ซึ่งก็ทำให้มีการแข่งขันกันสูงเป็นเรื่องปกติ ทั้งลด แลก แจก แถม จัดเซตโปรโมชั่น เรียกว่าไม่ต้องทำบัญชีเอง แค่จ้างสำนักงานบัญชีทำบัญชีให้ ก็ได้บริการเสริมอื่นๆ แถมให้ด้วย หรือจะเปรียบเทียบความคุ้มค่าระหว่างทำบัญชีเอง กับจ้างสำนักงานบัญชีได้จากบทความ หลังจดบริษัท… การทำบัญชี จำเป็นต้องใช้บริการบริษัทรับจ้างหรือไม่ https://inflowaccount.co.th/after-registering-company/

ถึงเวลาที่กิจการ
ต้องจ้างสำนักงานบัญชีแล้วหรือยัง

ถึงเวลาที่กิจการจะต้องจ้างสำนักงานบัญชีแล้วหรือยัง ซึ่งระยะเวลาอาจไม่ใช่ตัวกำหนดว่าจะต้องจ้างสำนักงานบัญชีเมื่อไหร่ เพราะความพร้อมของแต่ละกิจการนั้นไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ กิจการจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ ดังนี้

– ขนาดของกิจการ หากกิจการมีขนาดเล็ก ไม่ซับซ้อน ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็อาจยังไม่จำเป็นต้องจ้างสำนักงานบัญชี แต่ถ้ากิจการมีขนาดกลางขึ้นใหญ่ สามารถจ้างสำนักงานบัญชีได้ตั้งแต่ขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคล จัดทำบัญชีรายเดือน นำส่งภาษีที่เกี่ยวข้อง  

– ค่าใช้จ่ายในการจ้างคนทำบัญชี นิติบุคคลควรจ้างทำบัญชี แต่ถ้าหากยังไม่พร้อมเรื่องเงินในการจ้างสำนักงานบัญชี อาจจ้างเฉพาะช่วงที่ต้องปิดงบการเงิน สอบบัญชี หรือยื่นแบบพร้อมเสียภาษีให้ก่อนได้ หรือเช็กความพร้อมองค์ประกอบต่างๆ ได้จากบทความ เมื่อไหร่ที่กิจการควรตัดสินใจ จ้างทำบัญชี https://inflowaccount.co.th/when-business-decide-accountant/

เรื่องของค่าใช้จ่ายในการจ้างสำนักงานทำบัญชี เรามักเห็นสำนักงานบัญชีที่รับทำบัญชีราคาถูกอยู่มากในปัจจุบัน หากเราเข้าไปค้นหาบริการทางบัญชีจากอินเตอร์เน็ตจะพบว่ามีราคาที่หลากหลายมากๆ ตั้งแต่เริ่มต้นที่หลักพัน และถูกลงไปจนถึงเริ่มต้นแค่เพียงหลักร้อยต่อเดือน ซึ่งราคาที่แตกต่างกันเกิดขึ้นจากอะไร เราจะได้อะไรบ้างหากเลือกบริการบัญชีที่มุ่งเน้นราคามากกว่าคุณภาพ

– ผู้ใช้งบการเงิน (จัดทำบัญชีเพื่อเป็นไปตามกฎหมายเท่านั้น) การทำบัญชีส่วนใหญ่ในปัจจุบันมุ่งเน้นเพื่อให้ตอบโจทย์หน่วยงานต่างๆ ตามกฎหมาย เจ้าของธุรกิจจึงเลือกมองหาบริการที่ราคาถูกที่สุด เพราะคิดแค่ว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำเท่านั้น

– คุณภาพของงานที่ลดลง จากการตัดราคาแข่งกันของสำนักงานบัญชีเพื่อหาลูกค้า

– ไม่รับผิดชอบ เมื่อคุณภาพของงานไม่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ว่าจ้าง อาจนำมาซึ่งปัญหาถูกสรรพากรเรียกพบ หรือมีจดหมายแจ้งเพื่อเสียค่าปรับ สำนักงานบัญชีต้นเรื่องก็ไม่รับผิดชอบ

– ต่อยอดไม่ได้ สำนักงานบัญชีต้องลดต้นทุนในการทำงานเพื่อให้แข่งขันกับตลาดปัจจุบัน ส่งผลให้อาจไม่ได้จัดให้มีการวางระบบในการทำบัญชีอย่างเหมาะสม ผลลัพธ์ที่ได้จึงไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ข้อมูลต่อยอดในการตัดสินใจแก่เจ้าของธุรกิจ

หากเราเลือกจ่ายราคาที่ถูกกว่าวันนี้ เพื่อให้ได้งานที่ไม่สามารถมั่นใจในเรื่องของคุณภาพได้ ค่าใช้จ่ายที่ประหยัดไปนั้น จริงๆ แล้วทำให้เราจนลงหรือไม่ หากเกิดปัญหาขึ้นมาในภายหลัง หาคำตอบได้จากบทความ รับทำบัญชีราคาถูก กับบัญชีที่มีคุณภาพต่างกันอย่างไร?(อ่านจบไม่โดนหลอก) https://inflowaccount.co.th/certified-accounting-practice/  


การเลือก
สำนักงานบัญชีคุณภาพ

ราคาเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกสำนักงานบัญชีคุณภาพ ซึ่งการจ้างสำนักงานบัญชีควรเลือกจาก

1.ราคาที่สมเหตุสมผล มีความสมดุลกันระหว่างราคากับเนื้องาน หากเนื้องานน้อย เอกสารไม่มาก แน่นอนว่าราคาย่อมถูกลง แต่ถ้าหากเอกสารมีจำนวนเยอะ ต้องทำหลายอย่าง รวมถึงความซับซ้อนของแต่ละกิจการ ราคาก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ขึ้นอยู่กับขอบเขตบริการบัญชีที่ตกลงให้บริการกัน     

          2.ติดต่อง่าย สะดวก รวดเร็ว เป็นเครื่องการันตีได้ว่าจะไม่เงียบหาย และมีการจัดสรรพนักงานเพื่อมาดูแลบัญชีของเราโดยเฉพาะ เพื่อให้การติดต่อประสานงานได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว  

3.สำนักงานบัญชีมีตัวตนอยู่จริง มีหลักแหล่งชัดเจน หากอนาคตเกิดอะไรขึ้น ผู้ประกอบการจะมั่นใจได้ว่า สำนักงานบัญชีที่เราเลือกจะอยู่คอยช่วยเหลือตลอด  

4.สามารถให้คำปรึกษาเรื่องบัญชี ภาษีแก่กิจการได้  โดยปกติสำนักงานบัญชี เป็นบริษัทที่ให้คำปรึกษาเรื่องบัญชีและภาษีที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งสำนักงานบัญชีควรมีความเข้าใจพื้นฐานในธุรกิจของเรา สามารถตอบคำถามและให้คำปรึกษาเราได้

5.ขอบเขตบริการบัญชีที่ตกลงให้บริการ นอกจากนี้ยังรับทำบัญชี รายรับรายจ่าย งบกำไร ขาดทุน ตรวจสอบความถูกต้อง และยื่นเอกสารส่งหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมสรรพากร กระทรวงพาณิชย์ สำนักงานประกันสังคม ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบที่สำนักงานบัญชีจะต้องทำหลักๆ ประกอบไปด้วย

– ปิดบัญชีทั่วไป เมื่อมีการว่าจ้างสำนักงานบัญชีให้ทำบัญชีรายเดือน ทางสำนักงานบัญชีจะรวบรวมเอกสารแต่ละเดือนลงบันทึกตั้งแต่งบการเงิน งบกระทบยอดเงินฝากธนาคาร รายรับ รายจ่าย และอื่นๆ

ยื่นแบบประจำเดือน สำนักงานบัญชีจะเป็นคนยื่นแบบรายเดือนต่างๆ แทนบริษัท เช่น ภ.ง.ด.1 , ภ.ง.ด.3 , ภ.ง.ด.53 ภ.ง.ด.54 , ภ.พ.36 , ภ.พ.30   

ยื่นแบบประจำปี จัดทำพร้อมยื่นภาษีกลางปี ปลายปี ส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายประจำปีของพนักงานแก่กรมสรรพากร ส่งงบการเงินให้กระทรวงพาณิชย์ สรุปรายการนำส่งเงินสมทบประกันสังคม และอื่นๆ  

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การจ้างทำบัญชี ตรวจสอบบัญชี การยื่นแบบประจำเดือน ประจำปี อาจเลือกบริการแค่บางรายการ หรือให้ทางสำนักงานบัญชีทำให้ทั้งหมด หรือมีข้อตกลงในแบบอื่นๆ อีกได้ ขึ้นอยู่ที่การตกลงระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง ตามรายละเอียดในบทความ อยากจ้างทำบัญชีต้องรู้! หน้าที่ของสำนักงานบัญชี มีอะไรบ้าง https://inflowaccount.co.th/what-accounting-firm-do/

6.มีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายกำหนด สำนักงานบัญชีควรต้องมีนักบัญชีที่มีคุณสมบัติการเป็นนักบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งตรวจสอบข้อกำหนดได้จากบทความ สำนักงานบัญชีคุณภาพ แบบไหนที่ควรเลือก https://inflowaccount.co.th/how-to-choose-accounting-firm/

การเตรียมเอกสาร
ประกอบการลงบัญชี

การเตรียมเอกสารประกอบการลงบัญชี ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษี หนังสือ หรือเอกสารใดๆ ที่เป็นหลักฐานในการลงบัญชี จะต้องส่งให้แก่สำนักงานบัญชี เพื่อลงบัญชีตามความเป็นจริง ดังนี้

1.ใบเสร็จรับเงิน-ใบกำกับภาษี (ขาย) คือเอกสารที่แสดงรายการขายสินค้าหรือการให้บริการของกิจการ ที่จัดทำให้กับผู้ซื้อหรือลูกค้า  

2.หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ที่ถูกหักไป) คือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับรายได้ของกิจการ ซึ่งถ้าหากกิจการทำธุรกิจเกี่ยวกับการให้บริการ ลูกค้าที่ชำระค่าบริการให้กับกิจการ จะมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อนที่จะจ่ายเงิน พร้อมกับจัดทำเอกสารการรับรองหักภาษี ณ ที่จ่ายให้กับกิจการ  

            3.ใบเสร็จรับเงิน-ใบกำกับภาษี (ซื้อ) คือเอกสารยืนยันการชำระเงินที่ใช้ไปของกิจการ เมื่อมีการซื้อสินค้าหรือบริการ จะต้องมีหลักฐานใบเสร็จรับเงิน-ใบกำกับภาษีซื้อ เพื่อใช้ยืนยันว่ามีการซื้อสินค้าของกิจการจริง     

4.หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย (ที่กิจการเป็นผู้หัก) คือหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ใบทวิ 50 ซึ่งกิจการต้องเป็นผู้จัดทำ

5.สปส 1-01 ส่วนที่ 1 และส่วนที่ 2 (ส่งประกันสังคม) ในกรณีที่กิจการมีการจ้างพนักงานตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป กิจการจะต้องทำประกันสังคมให้กับพนักงาน และนำส่งประกันสังคมไม่เกินวันที่ 15 ของทุกเดือนถัดไป พร้อมเก็บสำเนาเอกสารการนำส่งและหลักฐานการชำระเงินไว้ เพื่อจัดส่งให้สำนักงานบัญชี (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ เอกสารทางบัญชี อะไรบ้างที่กิจการต้องเตรียม https://inflowaccount.co.th/what-business-documents-accounting/ )

หลักการเปลี่ยนสำนักงานบัญชี

อยากเปลี่ยนสำนักงานบัญชี ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม อาจจะไม่เป็นตามที่ตกลงกันไว้ หรือทำงานไม่ตรงปก กิจการควรรอให้จบรอบบัญชีก่อนค่อยเปลี่ยนสำนักงานบัญชี เพื่อให้การทำงานต่อของสำนักงานบัญชีใหม่มีความต่อเนื่อง ไม่สะดุด   

แต่ถ้าหากมีความจำเป็นจริงๆ ก็สามารถเปลี่ยนสำนักงานบัญชีได้ทันที แต่อาจจะต้องจ่ายค่าทำบัญชีซ้ำซ้อน เพราะสำนักงานบัญชีใหม่ต้องย้อนดูหรือเริ่มต้นทำใหม่ตั้งแต่ต้นปี หรือจนถึงข้อมูลที่กิจการมีล่าสุด อีกทั้งการเปลี่ยนสำนักงานบัญชีทันที อาจต้องเสียค่าปรับการยกเลิกก่อนครบสัญญากับสำนักงานบัญชีที่เดิมก็เป็นได้     

            จากนั้นต้องเตรียมการแจ้งสำนักงานบัญชีเก่าตั้งแต่เนิ่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปสำนักงานบัญชีอาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ในการปิดบัญชีและเคลียร์เอกสาร พร้อมกับกำหนดเวลาในการส่งคืนเอกสารและงบการเงินให้แน่นอน  เพื่อให้นัดวันส่งเอกสารให้กับสำนักงานบัญชีใหม่ได้

            ที่สำคัญต้องขอเอกสารและข้อมูลประกอบการบันทึกบัญชีคืนทั้งหมด และรหัสผ่านที่ใช้ติดต่อทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งกรมสรรพากร กรมพัฒนาธุรกิจ และประกันสังคม กิจการจำเป็นต้องขอจากสำนักงานบัญชีเก่าด้วย เพื่อส่งต่อให้สำนักงานบัญชีใหม่ได้ทำต่อได้  

            และเมื่อได้รับเอกสาร ข้อมูลต่างๆ (สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากบทความ อยากเปลี่ยนสำนักงานบัญชี …ต้องทำยังไง https://inflowaccount.co.th/change-accounting-office/ ) รวมถึงเลือกสำนักงานบัญชีแห่งใหม่ โดยไม่ลืมหลักการเลือกสำนักงานบัญชีที่ดีและมีคุณภาพดังที่กล่าวมาแล้ว กิจการก็สามารถส่งต่องานบัญชีทั้งหมดไปยังสำนักงานบัญชีแห่งใหม่ได้อย่างครบถ้วนแบบไร้กังวล