จุดหมายปลายทางที่ธุรกิจ ร้านวัสดุก่อสร้าง หรือแม้แต่ธุรกิจอื่นๆ ต้องการ ย่อมคือ “กำไร” แต่กำไรก็เป็นผลลัพธ์ที่ได้มาจากรายรับหักลบด้วยรายจ่าย (ต้นทุน) ด้วยเหตุนี้จึงถือว่ารายรับและรายจ่าย มีบทบาทต่อการดำเนินกิจการวัสดุก่อสร้าง และยังมีความเกี่ยวพันกับภาษีต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ “การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้าง”) โดยเฉพาะภาษีหัก ณ ที่จ่ายด้วย
กล่าวคือในกรณีที่ ร้านวัสดุก่อสร้าง ไม่ว่าจะในนามบุคคลธรรมดาหรือในนามนิติบุคคล เมื่อได้รับเงินค่าสินค้าหรือบริการ เป็นรายรับที่กิจการจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย และหากร้านวัสดุก่อสร้างที่จดทะเบียนนิติบุคคลมีการใช้บริการตามประเภทที่กฎหมายกำหนด รายจ่ายเหล่านี้ก็จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วย
ทั้งนี้ การหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้านวัสดุก่อสร้าง สามารถเช็กจากสถานภาพของผู้รับและผู้จ่ายว่าเข้าเงื่อนไขที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายหรือไม่ หรือถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากตารางการคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายของกรมสรรพากร และรายการของร้านขายวัสดุก่อสร้างที่ควรสังเกต ได้แก่…
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้านวัสดุก่อสร้าง …ด้านรายรับ
สำหรับรายรับของร้านวัสดุก่อสร้าง จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย หากได้รับเงินค่าสินค้าหรือบริการในกรณีต่างๆ ดังนี้
– เมื่อได้รับชำระราคาค่าสินค้าหรือบริการ ค่าบริการจ้างทำของ หรือได้ใช้สินค้าหรือบริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น เช่น ได้รับชำระจากลูกค้าที่มาซื้อสินค้าหรือใช้บริการ ไม่ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย
– กรณีได้รับชำระราคาค่าขายสินค้าหรือค่าบริการจากรัฐบาล องค์การของรับบาล เทศบาล สุขาภิบาล หรือองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นอื่น ต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย อัตรา 1% ซึ่งได้สิทธิในการเครดิตคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หรือภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้วแต่กรณี
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้านวัสดุก่อสร้าง …ด้านรายจ่าย
ส่วนรายจ่ายที่ร้านวัสดุก่อสร้างจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ไว้ส่วนหนึ่งตามอัตราที่กฎหมายกำหนด หากมีการใช้บริการตามกรณีต่างๆ ดังนี้
– เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) และ (2) ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยให้นำรายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปีมาคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย วิธีการเหมือนการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ถ้าเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับยกเว้นหักภาษี ณ ที่จ่าย หรือต่ำสุด 0% แต่เมื่อคำนวณแล้วมียอดต้องเสียภาษี กิจการจะต้องนำยอดภาษีทั้งปีที่คำนวณได้ดังกล่าวมาหารด้วย 12 ก็จะได้ยอดเงินที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในแต่ละเดือน
– ค่าบริหารจัดการ ค่าบริการที่ปรึกษา เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(1) และ (2) กรณีเป็นบุคคลธรรมดาให้คำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายเหมือน “เงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการ” แต่หากผู้รับเงินเป็นบุคคลธรรมดาที่ไม่ได้เป็นผู้อยู่อาศัยในประเทศไทย ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย อัตรา 15%
– ค่าสาธารณูปโภค ได้แก่ ค่าไฟฟ้า ค่าประปา ค่าโทรศัพท์ ซึ่งอธิบายได้ดังนี้
1) ค่าไฟฟ้า ค่าประปา เข้าลักษณะเป็นการขาย จึงไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย
2) ค่าโทรศัพท์ กรณีที่จ่ายเงินให้กับผู้รับที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล แบ่งเป็น 2 กรณี
2.1) ค่าเช่ารายเดือน ถือเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5) ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย อัตรา 5%
2.2) ค่าบริการโทรศัพท์ ถือเป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) ต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อัตรา 3%
– ค่าจ้างทำของ เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(7) กรณีร้านวัสดุก่อสร้างที่จดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินให้กับผู้รับที่เป็นบุคคลธรรมดา ร้านขายวัสดุก่อสร้างผู้จ่ายเงินต้องคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อัตรา 3%
– ค่าบริการรับจัดการขนส่ง หรือการบริการอื่นๆ หากร้านวัสดุก่อสร้างที่จดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นๆ เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินได้จากการให้บริการอื่นๆ ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่ายตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อัตรา 3%
– ค่าขนส่ง กรณีร้านวัสดุก่อสร้างที่จดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินที่เป็นค่าขนส่ง ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อัตรา 1%
– ค่าส่งเสริมการขาย ค่าบริการรับจัดการขนส่ง รางวัลส่วนลดหรือประโยชน์ใดๆ เนื่องจากการส่งเสริมการขาย กรณีร้านวัสดุก่อสร้างที่จดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่นจ่ายเงินให้กับผู้รับเป็นบุคคลธรรมดา ผู้จ่ายเงินต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อัตรา 3%
– ค่าเช่า ค่าใช้พื้นที่ตั้งบูธ เป็นเงินได้พึงประเมินมาตรา 40(5) กรณีร้านวัสดุก่อสร้างที่จดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินให้กับผู้รับที่เป็นบุคคลธรรมดา อัตรา 5%
– ค่าซ่อมแซมบำรุงรักษา เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(7) หรือ (8) เฉพาะที่เป็นค่าจ้าง กรณีร้านวัสดุก่อสร้างที่จดบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น จ่ายเงินให้กับผู้รับเป็นบุคคลธรรมดา ผู้จ่ายเงินต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อัตรา 3%
– ค่าโฆษณา เป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) ร้านวัสดุก่อสร้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้จ่ายเงินให้กับบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร อัตรา 2%
– ค่าตรวจสอบบัญชี เป็นเงินได้จากวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40(6) ร้านวัสดุก่อสร้างที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เป็นผู้จ่ายเงินให้กับผู้รับที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย ต้องคำนวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร ในอัตรา 3%
*มาตรา 3 เตรส แห่งประมวลรัษฎากร
สรุป… ภาษีหัก ณ ที่จ่ายร้านวัสดุก่อสร้าง
ร้านวัสดุก่อสร้างที่ขายในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในกรณีที่ได้รับเงินค่าสินค้าและบริการจากนิติบุคคล และเจ้าของธุรกิจร้านวัสดุก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ เมื่อมีการจ่ายเงินให้แก่ พนักงานเป็นเงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน เบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น ซึ่งแตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่ายทั้งหมด 7 ประเภท ได้แก่
1) ค่าจ้างและเงินเดือน ต่ำสุด 0%
2) จ้างทำงานหรือบริการ ต่ำสุด 0%
3) จ้างบริการวิชาชีพอิสระ หัก 3%
4) จ้างรับเหมาหรือบริการ หัก 3%
5) ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ หัก 5%
6) ค่าโฆษณา 2%
7) ค่าขนส่ง 1%
ผู้ประกอบการร้านวัสดุก่อสร้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และใช้บริการสำนักงานบัญชีรับทำบัญชีภาษี พร้อมนำส่งแบบ ภ.ง.ด.3 และ/หรือ ภ.ง.ด.53 ให้ ภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน