ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้าง

การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้าง

หากจะพูดถึงหลัก การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้าง ซึ่งความจริงแล้วคล้ายกับภาษีของธุรกิจค้าขายอื่นๆ ดังนั้น เจ้าของธุรกิจขายวัสดุก่อสร้าง จำเป็นต้องวางแผนก่อนว่า ต้องการทำธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ เพื่อเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจเลือกเสียภาษีเงินได้

เนื่องจากหากเปิดเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างเล็กๆ ดูแลเพียงคนเดียว ให้เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ถ้ามีผู้ร่วมลงทุน หุ้นส่วน และต้องการทำร้านขายวัสดุก่อสร้างขนาดใหญ่ มีโอกาสที่จะขยายกิจการ ควรเลือกจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล และหลังจากนั้นจะมีภาษีอื่นๆ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องแตกต่างกันไปตามประเภทภาษีเงินได้ที่เจ้าของธุรกิจเลือก ดังนี้ 

ภาษีเงินได้ 

การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้าง สำหรับเจ้าของธุรกิจที่เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ต้องจัดการภาษีตามหลักการที่ต่างกันดังนี้ 

1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างที่ผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจัดเป็นเงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (มาตรา 40(8)) โดยหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือหักตามจริงโดยต้องมีเอกสารหลักฐานให้ครบ สามารถพิสูจน์ค่าใช้จ่ายได้ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “เจาะลึก! วางแผน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”) และการเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างจะต้องจ่าย 2 ช่วง คือ  

– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป  

2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับร้านขายวัสดุก่อสร้างที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการเสียภาษีมีดังนี้

1.คำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้ว่ายังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี 

2.ฐานภาษี ได้แก่ กำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจกกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”)

และการเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างจะต้องจ่าย 2 ช่วงเช่นกัน คือ    

– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

รายได้หลักหรือรายได้จากการประกอบกิจการร้านขายวัสดุก่อสร้างคือ รายได้จากการขายวัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้าง ซึ่งทั้งเจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากรายได้เหล่านี้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท ที่กรมสรรพากร 

และหลังจากนั้นเมื่อมีการขายวัสดุก่อสร้าง ต้องทำใบกับกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าทุกครั้ง และจัดทำรายงานภาษีขาย ภาษีซื้อ รายงานสินค้าและวัตถุดิบ พร้อมนำส่งภาษี 7% (ภ.พ.30) ให้แก่กรมสรรพากรทุกวันที่ 15 ของเดือน (ศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มได้ที่นี่)

 

ภาษีธุรกิจเฉพาะ

การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างในส่วนของภาษีธุรกิจเฉพาะ จะเกิดขึ้นกรณีที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีการให้ผู้อื่นยืมเงิน ต้องมีการคำนวณดอกเบี้ยรับแบบธนาคารพาณิชย์ และต้องนำดอกเบี้ยรับดังกล่าวมาเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ถ้าหากการให้กู้ยืมเงินนี้ไม่ได้ทำประจำเป็นปกติ ก็ไม่ต้องจดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ

โดยมีวิธีการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ คือ ให้นำรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ที่ได้รับในเดือนภาษี มาคำนวณภาษีในอัตราร้อยละตามมาตรา 91/6 แห่งประมวลรัษฎากร ผลลัพธ์ที่คำนวณได้จะเป็นภาษีที่ต้องชำระ และจะต้องเสียภาษีให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของอัตราภาษีที่จัดเก็บตามประมวลรัษฎากร

และให้เจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างยื่นแบบแสดงรายการภาษีธุรกิจเฉพาะ ภ.ธ.40 พร้อมกับชำระภาษีเป็นรายเดือนทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไปที่ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาในท้องที่ที่ร้านขายวัสดุก่อสร้างตั้งอยู่ หรือยื่นแบบแสดงรายการผ่านเว็บไซต์กรมสรรพากรทาง www.rd.go.th  

 

อากรแสตมป์

การเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างของเจ้าของธุรกิจ ทั้งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล หากมีการทำสัญญาหรือตราสารที่เข้าลักษณะต่อไปนี้ต้องติดอากรแสตมป์ 

1.การจ้างทำของ ยกเว้นสัญญาที่ทำขึ้นนอกประเทศไทยและการปฏิบัติตามข้อสัญญานั้นไม่ได้ทำในประเทศไทย ผู้รับจ้างมีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของเงิน 1,000 บาท แห่งสินจ้างที่กำหนดไว้

2.กู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาทต่อจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของเงิน 2,000 บาท แห่งยอดเงินที่กู้ยืม ค่าอากรตามลักษณะแห่งตราสารนี้ เมื่อคำนวณแล้วถ้าเกิน 10,000 บาท ให้เสีย 10,000 บาท

โดยมีวิธีการเสียภาษีอากรแสตมป์ดังนี้

1) แสตมป์ปิดทับ ปิดแสตมป์ทับกระดาษก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสาร

2) แสตมป์ดุน ใช้กระดาษมีแสตมป์ หรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุนและชำระเงิน

3) ชำระเป็นตัวเงิน ใช้แบบของและอนุมัติให้เสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน อ.ส.4 ยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่อากรแสตมป์ โดยแนบตราสารที่ขอเสียอากรไปด้วย และให้ยื่นต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีสำหรับเจ้าของธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ เมื่อมีการจ่ายเงินให้แก่ พนักงานเป็นเงินเดือน ค่าจ้างแรงงาน เบี้ยเลี้ยง โบนัส เป็นต้น ผู้ประกอบการร้านวัสดุก่อสร้างมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงิน และนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 และ/หรือ ภ.ง.ด.53 ภายใน 7 วันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมิน 

นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้ประกอบการร้านวัสดุก่อสร้าง มีการใช้บริการต่างๆ ก็ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่าย โดยอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร? ทำไมก่อนจดบริษัทไม่เคยเจอ”

 

สรุป

สุดท้ายแล้วการเสียภาษีร้านวัสดุก่อสร้างสามารถสรุปได้คือ ไม่ว่าเจ้าของร้านขายวัสดุก่อสร้างจะดำเนินกิจการในนามบุคคลธรรมดา หรือจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การเสียภาษีนั้นแทบไม่ต่างกันเลย จะมีแตกต่างเพียงเรื่องของภาษีหัก ณ ที่จ่าย ที่ต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้นจึงจะสามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ โดยเฉพาะร้านวัสดุก่อสร้างที่มีบริการขนส่ง ค่าบริการรับจัดการขนส่ง เฉพาะที่เป็นการจ่ายเงินจากการให้บริการต้องคํานวณหักภาษี ณ ที่จ่าย ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ “บทความ วิธีจัดการรายรับรายจ่าย กับภาษีหัก ณ ที่จ่าย ร้านวัสดุก่อสร้าง”