โดยปกตินอกจากบริษัทนิติบุคคลจะต้องทำบัญชี ปิดงบการเงินแล้ว ก่อนยื่นภาษีต้องมีผู้สอบบัญชีตรวจสอบและรับรองความถูกต้องของข้อมูลการเงินเป็นประจำทุกปีด้วย โดยสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของ “ผู้ตรวจสอบบัญชี” จะต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการ และเป็นคนละคนกับคนที่ทำบัญชี (สามารถตรวจสอบลักษณะกิจการแบบไหนบ้างที่ต้องมีผู้สอบบัญชีได้จากบทความ “กิจการที่ต้องมี ผู้สอบบัญชี และการเลือกผู้สอบบัญชี”) ดังนั้น กิจการจำเป็นต้องจ้างผู้สอบบัญชีอิสระ หรือ บริษัทตรวจสอบบัญชี เข้ามาตรวจสอบและรับรองบัญชีให้ ก่อนส่งให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
ทั้งนี้ ต้องพิจารณาให้ดีก่อนว่า ผู้สอบบัญชีอิสระ หรือ บริษัทตรวจสอบบัญชี แบบไหนที่กิจการควรเลือกใช้บริการ โดยปัจจัยหลักๆ มีดังนี้ค่ะ
บริษัทตรวจสอบบัญชีติดต่อง่าย มีหลักแหล่งชัดเจน
ส่วนใหญ่การให้บริการด้านตรวจสอบบัญชี จะมีทั้งแบบที่เป็นผู้สอบบัญชีอิสระ รับตรวจสอบบัญชีเป็นหลัก และที่อยู่ในรูปแบบบริษัทตรวจสอบบัญชี ซึ่งให้บริการหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการเงิน บัญชี และภาษี ทั้งแบบรายเดือนและรายปี จึงต้องมีการพูดคุยปรึกษากันอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น เวลากิจการเลือกเฟ้นหาผู้สอบบัญชีมาตรวจสอบบัญชีให้กับกิจการของตนเองนั้น ควรเลือกบริษัทตรวจสอบบัญชีหรือผู้สอบบัญชีที่มีหลักแหล่งที่ตั้งชัดเจน เพื่อเป็นเครื่องการันตีว่า บริษัทตรวจสอบบัญชีที่กิจการเลือกจะไม่หนีหายไป
อีกทั้งต้องติดต่อได้ง่าย เพื่อให้กิจการสามารถปรึกษาได้อย่างรวดเร็ว ติดต่อประสานงานได้ง่ายและสะดวก สามารถทราบรายละเอียดต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับบัญชีของกิจการได้อย่างต่อเนื่อง
มีคุณสมบัติเป็นผู้สอบบัญชี
บริษัทตรวจสอบบัญชีที่มีคุณภาพ จะต้องมีผู้สอบบัญชีที่มีคุณสมบัติและได้รับอนุญาต หรือ Certified Public Accountant (CPA) ซึ่งผู้สอบบัญชีได้รับอนุญาต มีหน้าที่ตรวจสอบงบการเงินตามมาตรฐานสอบบัญชี เพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินว่างบการเงินที่กิจการได้จัดทำขึ้นนั้นถูกต้อง เป็นไปตามมาตรฐานรายงานทางการเงินหรือไม่
โดยผู้สอบบัญชีจะต้องสอบผ่าน และมีประสบการณ์ทำงานตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด รวมถึงต้องมีคุณสมบัติตามที่คณะกรรมการตรวจการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสอบบัญชี (ก.บช.)กำหนด ดังนี้
1.จบการศึกษาทางด้านการบัญชี หรือประกาศนียบัตรทางการบัญชี ที่ ก.บช. เทียบว่าไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี
2.เคยปฏิบัติงานเกี่ยวกับการสอบบัญชี (เก็บชั่วโมงการทำงานตรวจสอบบัญชี และเวลาการทำงานครบตามที่กำหนด)
3.อายุครบ 20 ปีบริบูรณ์
4.มีสัญชาติไทย หรือสัญชาติของต่างประเทศที่ยินยอมให้บุคคลสัญชาติไทย เป็นผู้สอบบัญชีในประเทศนั้นได้
5.ไม่ประพฤติเสื่อมเสีย หรือบกพร่องในศีลธรรมอันดี
6.ไม่เคยต้องจำคุกในคดีที่ ก.บช. เห็นว่าอาจนำความเสื่อมเสียมาสู่วิชาชีพ
7.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต สติฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
8.ไม่ประกอบอาชีพอื่นที่ไม่เหมาะสม หรือทำให้ขาดความอิสระในการเป็นผู้สอบบัญชี
บริษัทตรวจสอบบัญชีต้องเป็นคนละแห่งกับบริษัทรับทำบัญชี
เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้กิจการต้องมีการจัดทำงบการเงิน พร้อมกับต้องจัดให้มีการตรวจสอบและรับรองบัญชีจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต โดยจะต้องให้บุคคลภายนอกบริษัทและเป็นอิสระจากกิจการ เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีเท่านั้น จึงจะสามารถดำเนินการตรวจสอบบัญชีได้
สำหรับกิจการที่มีพนักงานประจำทำบัญชีอยู่แล้ว มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกิจการมาตรวจสอบบัญชี ซึ่งกิจการสามารถเลือกได้ทั้งแบบที่เป็นผู้สอบบัญชีอิสระ และที่อยู่ในรูปแบบบริษัทตรวจสอบบัญชี
ส่วนกิจการที่จ้างสำนักงานบัญชีให้ทำบัญชีให้ ส่วนใหญ่สำนักงานบัญชีจะมีบริการรับตรวจสอบบัญชีอยู่ด้วย แต่ตามกฎหมายสำนักงานบัญชีที่ทำบัญชีให้กับกิจการใดๆ ก็ตามจะไม่สามารถตรวจสอบบัญชีให้ได้
ด้วยเหตุนี้เมื่อสำนักงานบัญชีจัดทำบัญชีเสร็จสิ้น จะมีหน้าที่ส่งต่อให้กับบริษัทตรวจสอบบัญชีพันธมิตรให้เป็นผู้ตรวจสอบบัญชีให้แทน ซึ่งกิจการสามารถจ้างทำบัญชีพร้อมกับตรวจสอบบัญชีได้จากสำนักงานบัญชีเดียวกันได้เลย (ขึ้นอยู่กับข้อตกลงของแต่ละสำนักงานบัญชี)
ผู้สอบบัญชีต้องมีความรู้ความชำนาญในการตรวจสอบบัญชี
กิจการควรเลือกผู้สอบบัญชีจากบริษัทตรวจสอบบัญชี หรือผู้สอบบัญชีอิสระ ที่มีความชำนาญและแม่นยำในการตรวจสอบบัญชี มีความรู้ความสามารถและมาตรฐานการปฏิบัติงาน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้สอบบัญชีจะต้องสามารถวางแผนและควบคุมงานสอบบัญชี กระทั่งรวบรวมหลักฐานการตรวจสอบให้เพียงพอแก่การแสดงความเห็นในรายงานการสอบบัญชี โดยไม่มีการคาดคะเนรายการใดๆ ที่ยังไม่เกิดขึ้นของกิจการที่สอบบัญชีมาเกี่ยวข้องด้วย เว้นเสียแต่ว่าเป็นการประมาณการทางบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
กิจการอาจพูดคุยสอบถามข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการตรวจสอบบัญชีที่บริษัทตรวจสอบบัญชีแต่ละแห่งใช้ เพื่อเช็กความพร้อมเบื้องต้นของบริษัทตรวจสอบบัญชีนั้นๆ อย่างเช่นหลักการรวบรวมหลักฐานเพื่อใช้ในการตรวจสอบบัญชี ซึ่งแต่ละแห่งมีการใช้ที่หลากหลายดังนี้
– การตรวจ (Inspection)
– การสังเกตการณ์ (Observation)
– การสอบถาม (Inquiry)
– การขอคำยืนยัน (Confirmation)
– การคำนวณ (Computation)
– การปฏิบัติซ้ำ (Reperformance)
– การวิเคราะห์เปรียบเทียบ (Analytical Procedure)
นอกจากนี้ควรเป็นผู้สอบบัญชีที่มีความใฝ่รู้ หมั่นศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมอัพเดตข่าวคราวทั้งเรื่องการเงิน บัญชี และภาษีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ต่างๆ สามารถช่วยเหลือได้ในยามที่กิจการต้องการความช่วยเหลือ
ค่าบริการและขอบข่ายงานตรวจสอบบัญชี
สิ่งที่ขาดไม่ได้คือเรื่องของค่าบริการตรวจสอบบัญชี เนื่องจากบริษัทตรวจสอบบัญชีแต่ละแห่งจะมีค่าบริการแตกต่างกัน ผู้สอบบัญชีอิสระหรือบริษัทตรวจสอบบัญชีบางแห่ง อาจรับแค่ตรวจสอบบัญชี และอีกหลายๆ แห่งก็มีบริการแบบครบวงจร ทั้งรับทำบัญชี ภาษี และตรวจสอบบัญชี ค่าบริการเป็นแบบแพ็กเกจ ราคาก็จะถูกกว่าตรวจสอบบัญชีเพียงอย่างเดียว ซึ่งขึ้นอยู่กับการตกลงกันของทั้ง 2 ฝ่ายด้วย
ดังนั้น กิจการควรสอบถามเรื่องค่าบริการและขอบข่ายงานที่ให้บริการจากบริษัทตรวจสอบบัญชีหลายๆ แห่ง รวมถึงข้อตกลงร่วมกันระหว่างผู้ว่าจ้างกับผู้รับจ้าง เพื่อให้เข้าใจตรงกันและดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่ขอบข่ายงานของการตรวจสอบบัญชีจะประกอบด้วย
1.การวางแผน
– การพิจารณารับงานสอบบัญชี
– รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่จะทำตรวจสอบ
– วิเคราะห์เปรียบเทียบในเบื้องต้น
– กำหนดระดับการมีสาระสำคัญ
– การประเมินความเสี่ยงในการสอบบัญชีที่ยอมรับได้และความเสี่ยงสืบเนื่อง
– ทำความเข้าใจระบบควบคุมภายในและประเมินความเสี่ยงจากการควบคุม
– พัฒนาแผนการสอบบัญชีโดยรวมและการจัดทำแนวการสอบบัญชี
2.การปฏิบัติงานตรวจสอบ
– วงจรรายได้
– วงจรรายจ่าย
– วงจรการผลิต
– วงจรการลงทุน
– วงจรการจัดหาเงิน
– การตรวจสอบที่สำคัญเพิ่มเติม
3.การเสร็จสิ้น
– ประเมินผลจากหลักฐานการตรวจสอบบัญชี
– การเสนอรายการปรับปรุงและรายการจัดประเภทบัญชี
– ออกรายงานการสอบบัญชี
เมื่อกิจการผ่านด่านการวิเคราะห์มาแล้วทุกข้อ รวมถึงได้ข้อมูลทั้งในเรื่องของราคา กระบวนการตรวจสอบบัญชีจากบริษัทตรวจสอบบัญชี หลายแห่ง กิจการสามารถนำมาเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่จะได้รับ พร้อมตัดสินใจเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับกิจการของคุณเองได้ไม่ยากค่ะ