ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ทำไมต้องจด ทะเบียนพาณิชย์ และใครบ้างที่ต้องจด

ทะเบียนพาณิชย์

นอกจากการจดทะเบียนนิติบุคคล จะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่ทำธุรกิจแบบจริงจังแล้ว การจด ทะเบียนพาณิชย์ ก็เป็นอีกข้อกำหนดหนึ่งสำหรับคนที่ทำธุรกิจค้าขายประเภทต่างๆ ตามกฎหมายกำหนด ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะต้องจด ทะเบียนพาณิชย์ ตามพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. 2499 ด้วย

ทะเบียนพาณิชย์ เป็นการจดทะเบียนร้านค้าสำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ที่ทำธุรกิจค้าขายประเภทตามที่กฎหมายกำหนด และมีหน้าร้าน ซึ่งใช้กับ

ธุรกิจค้าขายและบริการขนาดเล็ก กิจการที่มีเจ้าของเพียงคนเดียว ทำการค้าขายแบบง่ายไม่ซับซ้อน ทั้งการค้าขายแบบทั่วไป และการขายออนไลน์ (ขายออนไลน์จะต้องจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถอ่านข้อมูลเกี่ยวกับพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ได้จากบทความ “ทะเบียนพาณิชย์ กับ ทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ต่างกันอย่างไร”

หรือนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจค้าขายและบริการตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด โดยมีทั้งธุรกิจที่บังคับต้องจดทะเบียนพาณิชย์ และที่ได้รับการยกเว้น วิธีการขอจดทะเบียนพาณิชย์ และข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับทะเบียนพาณิชย์ ที่เจ้าของธุรกิจทั้งหลายไม่ควรพลาด ดังนี้

ธุรกิจใดบ้างที่กฎหมายกำหนดต้อง จดทะเบียนพาณิชย์   

1.บุคคลธรรมดาที่เป็นเจ้าของคนเดียว ห้างหุ้นส่วนสามัญ และนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศมาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ประกอบด้วย

1.1 ธุรกิจเกี่ยวกับโรงสีข้าวและโรงเลื่อยที่ใช้เครื่องจักร

1.2 ธุรกิจขายสินค้าอย่างเดียวหรือหลายอย่างที่ขายได้ 20 บาทขึ้นไปต่อวัน หรือมีสต็อกสินค้าไว้ขายรวมมูลค่าทั้งหมดเป็นเงิน 500 บาทขึ้นไป

1.3 นายหน้าหรือตัวแทนขายที่ทำการเกี่ยวกับสินค้าอย่างเดียวหรือหลายอย่าง และสินค้านั้นมีมูลค่ารวมทั้งหมดในวันหนึ่งวันใดเป็นเงิน 20 บาทขึ้นไป

1.4 ธุรกิจหัตถกรรมหรืออุตสาหกรรมอย่างเดียวหรือหลายอย่าง ที่ขายสินค้าที่ผลิตวันหนึ่งวันใดได้ 20 บาทขึ้นไป หรือวันหนึ่งวันใดมีสินค้าที่ผลิตรวมมูลค่าทั้งหมด 500 บาทขึ้นไป

1.5 ธุรกิจขนส่งทางทะเล ขนส่งโดยเรือกลไฟหรือเรือยนต์ประจำทาง รถไฟ รถราง รถยนต์ประจำทาง การขายทอดตลาด การรับแลกเปลี่ยน หรือซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การซื้อหรือขายตั๋วเงิน การธนาคาร การโพยก๊วน การทำโรงรับจำนำและการทำโรงแรม การรับซื้อขายที่ดิน การให้กู้ยืมเงิน 1.6 ธุรกิจขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต แผ่นซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผ่นวีดิทัศน์ระบบดิจิตอลเฉพาะที่เกี่ยวกับบันเทิง

1.7 ธุรกิจให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต

1.8 ธุรกิจขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี

1.9 ธุรกิจให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงคาราโอเกะ

1.10 ธุรกิจให้บริการเครื่องเล่มเกม

1.11 ธุรกิจให้บริการตู้เพลง

1.12 ธุรกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลักและงานหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกและค้าส่งงาช้างและผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

1.13 ธุรกิจซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
1.14 ธุรกิจบริการอินเตอร์เน็ต
1.15 ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย

1.16 ธุรกิจบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต

2.ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด ที่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ประกอบด้วย

2.1 ธุรกิจขาย ให้เช่า ผลิต หรือรับจ้างผลิต ผ่านซีดี แถบบันทึก วีดิทัศน์ แผ่นวีดิทัศน์ ดีวีดี หรือแผนวีดิทัศน์ระบบดิจิทัล เฉพาะที่เกี่ยวกับการบันเทิง 2.2 ธุรกิจขายอัญมณี หรือเครื่องประดับซึ่งประดับด้วยอัญมณี

2.3 ธุรกิจซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

2.4 ธุรกิจบริการอินเตอร์เน็ต

2.5 ธุรกิจให้เช่าพื้นที่ของเครื่องคอมพิวเตอร์แม่ข่าย

2.6 ธุรกิจบริการเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

2.7 ธุรกิจการให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อใช้อินเตอร์เน็ต
2.8 ธุรกิจการให้บริการฟังเพลงและร้องเพลงโดยคาราโอเกะ

2.9 ธุรกิจการให้บริการเครื่องเล่นเกม

2.10 ธุรกิจการให้บริการตู้เพลง

2.11 ธุรกิจโรงงานแปรสภาพ แกะสลัก และการทำหัตถกรรมจากงาช้าง การค้าปลีกการค้าส่งงาช้า และผลิตภัณฑ์จากงาช้าง

ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจเป็นคนต่างด้าว หรือนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่มาตั้งสำนักงานสาขาในประเทศไทย จะต้องตรวจสอบด้วยว่ากิจการค้าที่ดำเนินการนั้น ต้องได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 หรือไม่

หากเป็นกิจการค้าที่ต้องได้รับอนุญาต ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการค้าก่อนยื่นจดทะเบียนพาณิชย์

 

ธุรกิจใดบ้างที่ได้รับ “ยกเว้น” จดทะเบียนพาณิชย์ 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ประกอบด้วย

1.ธุรกิจค้าเร่ แผงลอย

2.ธุรกิจเพื่อการบำรุงศาสนาหรือเพื่อการกุศล

3.ธุรกิจของนิติบุคคลที่มีพระราชบัญญัติ หรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น

4.ธุรกิจของกระทรวง ทบวง กรม

5.ธุรกิจของมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์

6.ธุรกิจของกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตาม ปว.141 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2515

 

วิธีการจดทะเบียนพาณิชย์    

ตั้งแต่วันที่เริ่มประกอบกิจการ เจ้าของกิจการมีหน้าที่ต้องไปขอจดทะเบียนพาณิชย์ต่อนายทะเบียนภายใน 30 วัน โดยมีวิธีการจดทะเบียนพาณิชย์ดังนี้

1.เอกสารที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์

– เตรียมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของธุรกิจ

– เตรียมแบบคำขอจดทะเบียนพาณิชย์ แบบ ทพ. ซึ่งสามารถขอได้จากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตทุกเขต เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และเมืองพัทยา

– แผนที่แสดงสถานที่ตั้งร้าน

– หากเป็นนิติบุคคลให้เตรียมหนังสือรับรองบริษัท

– ค่าธรรมเนียมจดทะเบียนพาณิชย์ จำนวน 50 บาท

– หนังสือยินยอมให้ใช้สถานที่ หรือสัญญาเช่า (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของเจ้าของกรรมสิทธิ์ (กรณีเจ้าของธุรกิจไม่ใช่เจ้าของสถานที่)

2.สถานที่จดทะเบียน

สามารถยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่สำนักงานเขต สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง เทศบาล อบต. ที่ธุรกิจของเจ้าของธุรกิจตั้งอยู่เท่านั้น โดยสามารถแยกย่อยได้ดังนี้

2.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่  

– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

– ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง รับจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ของเขตนั้น

2.2 ในภูมิภาค ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา รับจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยาแล้วแต่กรณี

   

หน้าที่ความรับผิดชอบหลังจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว

หลังจากที่ผู้ประกอบธุรกิจได้จดทะเบียนพาณิชย์แล้ว จะต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ

– ต้องแสดงใบทะเบียนพาณิชย์หรือใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ไว้ ณ สำนักงานในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย

– ต้องจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบธุรกิจไว้หน้าสำนักงานแห่งใหญ่ และสำนักงานสาขาโดยเปิดเผยภายในเวลา 30 วันนับแต่วันที่จดทะเบียนพาณิชย์ ป้ายชื่อให้เขียนเป็นอักษรไทย อ่านง่ายและชัดเจน จะมีอักษร ต่างประเทศในป้ายชื่อด้วยก็ได้ และจะต้องตรงกับชื่อที่จดทะเบียนไว้ หากเป็นสำนักงานสาขาจะต้องมีคำว่า “สาขา” ไว้ด้วย

– ต้องยื่นคำขอใบแทนใบทะเบียนพาณิชย์ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สูญหาย หรือชำรุด

– ต้องไปให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายการจดทะเบียนตามคำสั่งของนายทะเบียน

– ต้องอำนวยความสะดวกแก่นายทะเบียน และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งเข้าทำการตรวจสอบในสำนักงานของผู้ประกอบกิจการ

 

จดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ไม่จดทะเบียนพาณิชย์ได้หรือไม่

ตามหลักการแล้วการจด “ทะเบียนพาณิชย์” เป็นการจดทะเบียนเพื่อยืนยันว่ากำลังดำเนินธุรกิจอยู่ มีการค้าขายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังมีความเป็นอิสระในการประกอบธุรกิจและการทำบัญชีรายรับรายจ่าย ซึ่งจะแตกต่างกับการจด “ทะเบียนนิติบุคคล” ที่จะต้องมีข้อกำหนดเงื่อนไขในการดำเนินกิจการ และเรื่องของการทำบัญชีภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อยื่นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่ได้มีการจดทะเบียนนิติบุคคลแล้ว ก็ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ ยกเว้นนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ต้องจดทะเบียนพาณิชย์ด้วย

ในทางกลับกัน หากค้าขายหรือบริการอยู่ในประเภทและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แต่ไม่ได้จดทะเบียนพาณิชย์ จะมีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท และปรับอีกวันละ 100 บาท จนกว่าจะมีการจดทะเบียนพาณิชย์ให้เสร็จเรียบร้อย    

ด้วยเหตุนี้ เจ้าของธุรกิจค้าขายและบริการตามที่กฎหมายกำหนด จึงควรเตรียมเอกสารให้พร้อม ครบถ้วน แล้วยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ตามสถานที่ดังที่กล่าวไปแล้ว โดยไม่สามารถยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ทางออนไลน์ได้

ดังนั้น ในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีเวลา อีกทั้งอาจยังสับสนเรื่องเอกสารที่ใช้จดทะเบียนพาณิชย์ รู้หรือไม่ว่าสำนักงานบัญชีที่รับจดทะเบียนนิติบุคคล ยังมีบริการรับจดทะเบียนพาณิชย์ด้วยเช่นกัน ซึ่งสามารถขอคำปรึกษาและให้สำนักงานบัญชีจดทะเบียนพาณิชย์ให้ได้

นอกจากจะเป็นการยืนยันว่าธุรกิจของคุณถูกต้องตามกฎหมาย มีความน่าเชื่อถือในการซื้อขายกับลูกค้า ไม่มีภาระในการทำบัญชี และยื่นส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว ยังมีความเป็นอิสระในการประกอบธุรกิจได้อย่างเต็มที่ หมดห่วงเรื่องการถูกตรวจสอบย้อนหลังอีกด้วย