ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

หลักการขออนุญาตและ ภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง เพื่อจำหน่าย

ภาษีนำเข้าเครื่อสำอาง

หลักการเริ่มต้นทำธุรกิจเครื่องสำอาง แม้ว่าจะไม่ได้ผลิตเองในประเทศ แต่เลือกนำเครื่องสำอางเข้ามาจากต่างประเทศเพื่อจำหน่าย โดยนำเข้ามาด้วยขนส่งทางเรือ ทางรถไฟ ทางรถยนต์ คนเดินเข้ามา ทางเครื่องบิน ทางไปรษณีย์ ทางท่อขนส่งทางบก ทางสายส่งไฟฟ้า ทางเรือที่เข้าออกด่านศุลกากรทางบก เรือเล็กทางทะเลที่เข้าออกด่านศุลกากรทางทะเล ทางผู้โดยสารนำพาขึ้นอากาศยาน เป็นต้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องขอใบอนุญาตนำเข้าก่อน และ   เสีย ภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง ด้วย 

ดังนั้น ข้อควรปฏิบัติเมื่อต้องการจำหน่ายเครื่องสำอางนำเข้า กิจการต้องเริ่มด้วยการขออนุญาตนำเข้าจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และมีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนจาก อย. ก่อนนำเครื่องสำอางเข้ามาในประเทศ พร้อมกันนี้ระหว่างดำเนินการนำเข้าเครื่องสำอาง ให้กิจการทำการเสีย ภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง ให้ครบทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบรรทัดถัดไป

หลักการขออนุญาตนำเข้าเครื่องสำอาง

เนื่องจากเครื่องสำอางทุกชนิด เป็นเครื่องสำอางควบคุมตามกฎหมายศุลกากร ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม “ของต้องกำกัด” คือต้องได้รับอนุญาตจากหน่วยงานที่รับผิดชอบก่อนการนำเข้าหรือส่งออกเครื่องสำอาง โดยผู้ประกอบการในนามบุคคลธรรมดาที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไป หรือบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลในประเทศไทยเท่านั้น เมื่อทำธุรกิจนำเข้าเครื่องสำอางเพื่อจำหน่าย จะต้องทำการยื่นเรื่องขออนุญาตนำเข้าต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และต้องมีใบสำคัญการขึ้นทะเบียนจาก อย. ก่อนการนำเข้าและเสีย ภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง  

โดยรายละเอียดที่ใช้ยื่นขออนุญาตนำเข้าเครื่องสำอางมีดังนี้

1.แบบแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการนำเข้าเครื่องสำอางควบคุม (สอค.2) และแนบท้าย 1 ชุด

2.ตัวอย่างเครื่องสำอาง 1 ชิ้น

3.เอกสารแจ้งสูตรส่วนผสมของเครื่องสำอางที่ขอนำเข้า (ต้นฉบับ) จากผู้ผลิตในประเทศ จำนวน 1ชุด

ระบุรายละเอียดดังนี้

3.1 แจ้งรายละเอียดส่วนผสมครบถ้วนและถูกต้อง และต้องลงนามจากกรรมการซึ่งมีอำนาจลงนามของบริษัท

3.2 ให้แจ้งปริมาณและหน้าที่ (Purpose of use) ของสารแต่ละตัวในสูตรอย่างชัดเจน

3.3 สีที่ใช้ในเครื่องสำอาง ให้แจ้ง Color Index (CI. No.) และปริมาณของสีทุกตัว

4.หนังสือรับรองการขาย (Certificate of Free Sale) หรือ หนังสือรับรองผู้ผลิต (Certificate of Manufacturer) (ต้นฉบับ) 1 ชุด และต้องผ่านการรับรองจากสถานทูตไทยในประเทศนั้นๆ

5.สำเนาหนังสือมอบอำนาจ 1 ชุด พร้อมเอกสารแนบ คือ

5.1 สำเนาหนังสือการจดทะเบียนนิติบุคคลหรือสำเนารับรองบริษัท

5.2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ

5.3 สำเนาบัตรประจำตัวผู้รับมอบอำนาจ

โดยจะต้องยื่นแจ้งขอนำเข้าเครื่องสำอางชนิดละ 1 คำขอ ด้วยตนเองที่สำนักงาน หรือยื่นผ่านทางออนไลน์ที่เว็บไซต์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เมื่อได้ใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว พร้อมขึ้นทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากร 

แต่ถ้าหากนำเข้ามาจำหน่ายโดยไม่ขออนุญาต ผู้ฝ่าฝืนจะต้องมีความผิดตามพระราชบัญญัติ เครื่องสำอาง พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติ ศุลกากร พ.ศ.2560 ข้อหานำเข้าของต้องกำกัดสินค้าจะถูกยึดเป็นของแผ่นดิน และผู้นำเข้าต้องดำเนินการขอระงับคดีกับกรมศุลกากร

ภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง ต้องเสียเท่าไร

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เครื่องสำอางจัดอยู่ในกลุ่ม “ของต้องกำกัด” คือของที่ต้องมีใบอนุญาตนำเข้า เช่น ยาและอาหารเสริม เครื่องสำอาง สัตว์เลี้ยง อาวุธปืน พืช อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดรน ดังนั้น จึงเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง และยิ่งเป็นเครื่องสำอางที่มีการนำเข้ามาเพื่อการค้าด้วยแล้ว ผู้ประกอบการก็ต้องเสียภาษีนำเข้าเครื่องสำอางเช่นกัน

โดยภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง จะคำนวณค่าภาษีตามพิกัดของอัตราศุลกากร ราคาสินค้า และสภาพสินค้าที่อยู่ในความรับผิดชอบที่ต้องเสียภาษี และอัตราภาษีอากรนำเข้าเครื่องสำอางคือ 30% แต่ในบางกรณีที่มีการนำเข้าเครื่องสำอางสำเร็จรูปรายการละไม่เกิน 6 ชิ้น ให้ถือว่าเป็นการนำเข้ามาในประเทศที่อยู่ในอำนาจของ *พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านนำเข้า ที่จะพิจารณาให้นำเข้าได้ โดยไม่ต้องแจ้งการนำเข้าต่อ อย. 

*นายด่านศุลกากรเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ ด่านนำเข้าตามประกาศกระทรวงสาธารณะสุข เรื่อง แต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2558 

หรือการนำเข้าเครื่องสำอางที่ไม่ใช่เพื่อการค้า เพียงแค่เป็นตัวอย่าง เพื่อใช้ส่วนตัว หรือเป็นของขวัญ ให้อยู่ในอำนาจของพนักงานเจ้าหน้าที่ อย. ที่จะพิจารณาให้นำเข้ามาในประเทศได้ตามระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา 

และเมื่อผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องสำอางได้รับอนุญาตให้นำเข้าได้จาก อย. แล้ว จะต้องชำระภาษีอากรดังนี้

1.อากรขาเข้าในอัตรา 30% ของราคา CIF (ราคาของ+ค่าขนส่ง+ค่าประกันภัย)   

2.ภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 7% ของราคา CIF + อากรขาเข้า

(อ่านวิธีคำนวณเพิ่มเติมที่บทความ “ธุรกิจขายสินค้าและบริการ ที่มีการนำเข้าส่งออก อย่าลืมเสีย ภาษีนำเข้าส่งออก)

ภาษีนำเข้าเครื่องสำอาง จากประเทศที่ทำ FTA เสียภาษีน้อยกว่า?

โดยปกติอัตราอากรขาเข้าเครื่องสำอาง คือ 30% แต่ถ้าหากผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องสำอางจากประเทศที่ทำ FTA (Free Trade Area) หรือเขตการค้าเสรีกับประเทศไทย จะทำให้การนำสินค้าจากประเทศนั้นๆ เข้ามาในประเทศไทย เสียภาษีน้อยกว่าปกติหรือภาษีเป็น 0% เลยก็ว่าได้ โดยผู้ประกอบการต้องทำหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (form E) ด้วย ซึ่งถือเป็นการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรในการนำเข้าภายใน FTA 

และสิทธิพิเศษทางภาษีนี้จะทำให้ต้นทุนสินค้านำเข้าของผู้ประกอบการที่นำเข้าเครื่องสำอางนั้นลดลงเป็นอย่างมาก โดยกลุ่มประเทศที่ทำ FTA กับประเทศไทย ประกอบด้วย 

1.ประเทศกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ ได้แก่ ประเทศบรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์

สิงคโปร์  เวียดนาม และไทย

2.เกาหลีใต้

3.จีน

4.ญี่ปุ่น

5.ออสเตรเลีย

6.นิวซีแลนด์

7.เปรู

8.ชิลี

9.อินเดีย 

ดังนั้น หากผู้ประกอบการธุรกิจจำหน่ายเครื่องสำอางนำเข้า เมื่อทำตามขั้นตอนต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้ ก็จะสามารถนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางต่างประเทศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้ปัญหาตามมา และไม่ต้องห่วงเรื่องการถูกสุ่มตรวจจับด้วย