ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ ทุกการทำธุรกรรมก็ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการทำธุรกรรมผ่านระบบ E-PAYMENT เป็นระบบที่สามารถโอนเงิน ชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านสมาร์ทโฟน ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเครดิตโดยมีระบบอินเตอร์เน็ตเป็นผู้ช่วยที่สำคัญ
โดยพ่อค้าแม่ค้าธุรกิจค้าขายนิยมใช้เป็นอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจทันตกรรม ทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกรักษาฟันก็เลือกนำระบบ E-PAYMENT มาใช้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้เข้ารับบริการ แต่ที่สำคัญคือจะต้องระวังเรื่อง ภาษี E-PAYMENT ด้วย
เนื่องจากส่วนใหญ่ทันแพทย์ที่เปิดคลินิกทันตกรรม จะเลือกเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา ซึ่งไม่ต้องมีการจัดทำบัญชีตามกฎหมายกำหนด เพื่อส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงอาจทำให้คุณหมอยื่นภาษีตกหล่นไม่ครบถ้วนตามรายได้ที่แท้จริงที่ได้รับ และทำให้สรรพากรสามารถตรวจสอบพบความผิดปกติได้ หากมีเงินโอนเข้าบัญชีถึงเงื่อนไขที่กำหนด เนื่องจากมีกฎหมายกำหนดให้ทางธนาคารต้องส่งข้อมูลให้ทางสรรพากรนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ หากคลินิกทันตกรรมแห่งใดที่มีการใช้ระบบ E-PAYMENT อยู่ หรือกำลังจะนำมาใช้ ต้องทำความเข้าใจเรื่องของกฎหมาย E-PAYMENT ให้ดี เงื่อนไขต่างๆ และวิธีการแก้ปัญหาหากคลินิกของตนเองเข้าเงื่อนไข เพื่อไม่ให้ถูกภาษีย้อนหลังดังนี้
ภาษี E-PAYMENT คืออะไร
ภาษี E-PAYMENT เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับระบบภาษี และเอกสารธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำส่งเงินภาษี การยื่นรายการ หรือเอกสารที่เกี่ยวข้องกับภาษีอากร ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 48) พ.ศ. 2562
โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ อย่าง Payment Gateway, e-Wallet เช่น ทรูมันนี่ เอ็มเพย์ แรบบิทไลน์ เพย์ มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงินที่ถึงเงื่อนไขให้กับสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี โดยข้อมูลจะถูกส่งแยกเป็นรายสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ได้รวมข้อมูลหรือเชื่อมโยงกัน
เงื่อนไขแบบไหนที่ถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร
ภาษี E-PAYMENT สำหรับทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกทันตกรรม ทั้งที่เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา และที่จดทะเบียนนิติบุคคล จะต้องถูกส่งข้อมูลธุรกรรมให้กับสรรพากร เมื่อมียอดเงินเข้าบัญชีถึงเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1.มีเงินเข้าบัญชีหรือมีการรับฝากเงินเป็นจำนวน 3,000 ครั้งต่อปี โดยไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่าไร
2.มีเงินเข้าบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมีจำนวนเงินที่เข้าบัญชีรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี โดยต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 อย่าง จึงจะถูกส่งข้อมูลธุรกรรมให้กับสรรพากร
โดยนับรวมเป็นรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ ซึ่งรายการฝากและโอนเงินเข้าบัญชีที่นับเป็นเงินเข้าบัญชี ประกอบด้วย
– ยอดเงินฝากเข้าบัญชีทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์หรือตู้ฝากเงิน
– ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชี ทั้ง Auto Transfer / Online / iBanking
– ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชีจากเครื่องรูดบัตร โดยนับตามจำนวนครั้งที่รูด แม้ธนาคารจะโอนยอดครั้งเดียวหลังสิ้นวัน
– ยอดเงินฝากเช็คเข้าบัญชี
– ยอดเงินเข้าบัญชีจากดอกเบี้ย
– ยอดเงินเข้าบัญชีจากเงินปันผล
สรรพากรจะได้รับข้อมูลอะไรบ้างจากสถาบันทางการเงินต่างๆ
ในกรณีที่ทันตแพทย์เปิดคลินิกโดยเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และที่เปิดคลินิกทันตกรรมแบบจดทะเบียนนิติบุคคล เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล หากมีเงินฝากหรือรับโอนเงินเข้าบัญชีถึงเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ทางสรรพากรจะได้รับข้อมูลต่างๆ ที่สถาบันส่งให้ดังนี้
1.เลขประจำตัวประชาชน / เลขนิติบุคคล
2.ชื่อ-นามสกุล เจ้าของบัญชี / ชื่อนิติบุคคล
3.จำนวนครั้งของการฝากหรือรับโอนเงินต่อปี
4.ยอดรวมของการฝากหรือรับโอนเงินต่อปี
5.เลขที่บัญชีที่มีการฝากหรือรับโอนเงิน
ตัวอย่างการนับธุรกรรมทางการเงินที่ฝาก/โอนเข้าบัญชี
ตามเงื่อนไขที่ว่า 1) มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี 2) มีเงินเข้าบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมีจำนวนเงินที่เข้าบัญชีรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี ทางสถาบันการเงินจะต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรนั้น สามารถยกตัวอย่างให้เห็นชัดเจนได้ดังนี้
ตาราง ตัวอย่างเงินฝาก/โอนเข้าบัญชีแบบไหนที่ถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร
ต้องทำอย่างไรเมื่อทำธุรกรรมถึงเกณฑ์ ถูกส่งข้อมูลให้สรรพากร
เมื่อพบว่าตนเองเข้าเงื่อนไขต้องถูกส่งข้อมูลการเงินให้กับสรรพากร โดยเฉพาะทันตแพทย์ที่เปิดคลินิกและเสียภาษีรูปแบบบุคคลธรรมดา ควรวางแผนภาษีให้ดีก่อนยื่นภาษี เพราะมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะยื่นแบบฯ ภาษีผิดพลาด ไม่ตรงกับข้อมูลที่สถาบันการเงินส่งให้กับสรรพากรได้
ดังนั้น ทันตแพทย์เจ้าของบัญชีควรวางแผนภาษีให้ดี ทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้ชัดเจน จดบันทึกรายรับและรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงทุกครั้ง เพื่อป้องกันความผิดพลาดเมื่อถึงเวลายื่นภาษี และยังสามารถทำให้ทราบสถานะทางการเงินที่แท้จริงของธุรกิจคลินิกทันตกรรมของตนเองได้ด้วย (สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับรายจ่ายได้จากบทความ “หลักการทำ บัญชีรายรับรายจ่าย ที่ถูกต้อง”)
สำหรับคลินิกทันตกรรมที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย อาจจดเฉพาะรายการที่เป็นเงินสด ส่วนรายการที่เป็นการโอนเงินผ่านระบบ E-PAYMENT สามารถเรียกดูรายการเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง แล้วจึงนำมาบันทึกยอดเงินรายรับและรายจ่ายในแต่ละวันได้
นอกจากนี้ต้องจัดเตรียมเอกสาร หลักฐานการรับโอนเงินให้ชัดเจน ในกรณีที่คลินิกทันตกรรมเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง รวมถึงคลินิกทันตกรรมที่จดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล จะต้องเก็บเอกสารการค้าและธุรกรรมการเงินที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน รวบรวมเอกสารดังกล่าวเพื่อใช้สิทธิหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริงตอนยื่นภาษี จะช่วยทำให้การยื่นภาษีถูกต้องตรงกับข้อมูลที่แท้จริง
แต่ถ้าหากมีรายได้สูงจนเริ่มมีภาระในเรื่องของเอกสาร การทำบัญชีรายรับรายจ่าย สำหรับคลินิก
ทันตกรรมที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา อาจควรพิจารณาเรื่องการจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อให้งานบัญชีเข้าระบบ ความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นก็จะลดลง
สรุป
การที่สถาบันการเงินส่งข้อมูลยอดเงินเข้าบัญชีให้แก่สรรพากร ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่เข้าเงื่อนไขจะต้องเสียภาษีทั้งหมด เพราะบางรายการก็เกิดจากการโอนเงื่อนไขอื่นๆ เช่น โอนเพื่อฝากเงินทำบุญ หรือโอนเพื่อคืนเงินกู้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ทางสรรพากรไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ แต่ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย
ดังนั้น หากคลินิกทันตกรรมได้ยื่นภาษีถูกต้องอยู่แล้ว ภาษี E-PAYMENT ก็จะไม่ส่งผลกระทบกับการทำธุรกิจทันตกรรมแต่อย่างใด ส่วนคุณหมอที่เพิ่งเปิดคลินิกเป็นของตนเอง ควรแยกบัญชีธนาคารที่ใช้ส่วนตัวกับใช้เพื่อธุรกิจทันตกรรมเป็นคนละบัญชี และเริ่มต้นยื่นภาษีให้ถูกต้องตั้งแต่แรก แม้ว่าบัญชีธนาคารของคลินิกจะมีธุรกรรมที่เข้าเงื่อนไขต้องถูกส่งข้อมูลให้กับสรรพากรหรือไม่ก็ตาม