ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

กิจการต้องรับมือกับ ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ อะไรบ้าง

ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์

ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นปัญหาใหญ่สำหรับเจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์เสมอมา เนื่องจากมีภาษีที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายอย่าง เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหัก ณ ที่จ่าย รวมถึงภาษีป้าย และหากเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ที่นำเข้าวัสดุอุปกรณ์ก็จะต้องมีภาษีศุลกากรเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ด้วยเหตุนี้ กิจการจำเป็นต้องศึกษาภาษีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับรูปแบบธุรกิจของตนเอง เพื่อให้ทำหน้าที่ผู้เสียภาษีได้อย่างถูกต้อง ไม่ส่งผลกระทบตามมาภายหลัง ดังนี้   

ภาษีเงินได้… ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

1.เจ้าของแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอว์) ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ในส่วนเจ้าของแฟรนไชส์ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะมีภาษีที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ประเภท คือ

– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 3 มาตรา 40(3) คือรายได้ในรูปของค่าลิขสิทธิ์ ค่าตอบแทนทรัพย์สินทางปัญญา หรือค่า Goodwill สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 50% แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักตามจริง

– เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) คือรายได้ที่นอกเหนือจากประเภทที่ 1-7 สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือหักตามจริง     

2.ผู้ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 8 มาตรา 40(8) คือรายได้ที่นอกเหนือจากประเภทที่ 1-7 สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือหักตามจริง    

โดยจะคำนวณเสียภาษีอัตราก้าวหน้าสูงสุด 35% และยื่นภาษีตามระยะเวลาที่กำหนดคือ 

– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(5) – (8) ให้นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายน ของปีภาษีนั้น มายื่นภาษีช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน ของปีที่มีเงินได้ หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตได้ภายในวันที่ 8 ตุลาคมของทุกปี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) สำหรับเงินได้ตามมาตรา 40(1) – (8) ให้นำรายได้ช่วงเดือนมกราคม – ธันวาคม ของปีภาษี ยื่นภาษีตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของปีภาษีถัดไป หรือยื่นผ่านอินเตอร์เน็ตภายในวันที่ 8 เมษายนของปีถัดไป  

 

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ เมื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะต้องมีการทำบัญชี งบการเงิน และตรวจสอบบัญชีตามที่กฎหมายกำหนด โดยนำรายรับและค่าตอบแทนจากสัญญาแฟรนไชส์ มารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีอัตราสูงสุด 20% ของกำไรสุทธิ พร้อมกับยื่นภาษี 2 ช่วงคือ

–  ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)… ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์

ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับเจ้าของแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซอร์) ที่มีผลประกอบการต่อปีเกิน 1.8  ล้านบาท มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนเป็นผู้ประกอบการภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และเรียกเก็บในอัตรา 7% จากผู้ซื้อแฟรนไชส์

ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) ที่มีผลประกอบการต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องมี้การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน แม้ว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์จะไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลก็ตาม โดยจะถูกเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากเจ้าของแฟรนไชส์ และเจ้าของแฟรนไชส์จะออกใบกำกับภาษีให้ 

จากนั้นผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่จดทะเบียนนิติบุคคลก็จะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อใช้สำหรับการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแต่ละเดือน รวมถึงต้องจัดทำบัญชี รายงานภาษีซื้อและรายงานสินค้าและวัตถุดิบด้วย

ทั้งนี้ เจ้าของแฟรนไชส์และผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะต้องนำส่งภาษี (ภ.พ.30) ที่เรียกเก็บมาแก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ซึ่งหากภาษีขายมากกว่าภาษีซื้อ กิจการจะต้องส่งเงินส่วนต่างค่าภาษีให้กับกรมสรรพากร แต่ถ้าภาษีซื้อมากกว่าภาษีขาย กิจการสามารถเลือกได้ว่าจะขอคืนหรือเก็บไว้หักยอดภาษีในครั้งต่อไปได้    

 

ภาษีศุลกากร… ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ 

ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับภาษีศุลกากร จะเกี่ยวข้องกับเจ้าของแฟรนไชส์ ในกรณีที่มีการนำวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือในการประกอบธุรกิจเข้ามาจากต่างประเทศ เจ้าของแฟรนไชส์มีหน้าที่ต้องยื่นใบขนสินค้าขาเข้า โดยการลงทะเบียนเป็นผู้ผ่านพิธีการศุลกากรทางอิเล็กทรอนิกส์ แบบไร้เอกสาร (Paperless) โดยลงทะเบียนเฉพาะครั้งแรกเท่านั้น   

 

ภาษีหัก ณ ที่จ่ายภาษีธุรกิจแฟรนไชส์

ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์ในส่วนของภาษีหัก ณ ที่จ่าย จะเกี่ยวข้องกับกิจการที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล โดยแบ่งเป็น 3 กรณี คือ

1.กรณีผู้ซื้อแฟรนไชส์จ่ายเงินตามสัญญาแฟรนไชส์ ให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ในนามนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ที่ไม่ได้ประกอบกิจการในประเทศไทย จะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของเงินได้

2.กรณีผู้ซื้อแฟรนไชส์จ่ายเงินตามสัญญาแฟรนไชส์ ให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ในนามนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในประเทศไทย จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%   

3.กรณีผู้ซื้อแฟรนไชส์จ่ายเงินตามสัญญาแฟรนไชส์ ให้มูลนิธิหรือสมาคมที่ประกอบกิจการซึ่งมีรายได้ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 3%   

 

ภาษีป้าย… ภาษีธุรกิจแฟรนไชส์

สำหรับผู้ซื้อแฟรนไชส์ที่ตั้งอยู่นอกห้างสรรพสินค้า และมีการแสดงชื่อ ยี่ห้อ ตราสัญลักษณ์ เครื่องหมายการค้าในเชิงพาณิชย์ จะต้องชำระภาษีป้ายให้กับสำนักงานเขต หรือเทศบาลทุกปี หรือผ่านธนาคารกรุงไทยดังนี้

– ป้ายที่ติดตั้งใหม่ ยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน

– ป้ายที่ชำระภาษีต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี

– ป้ายที่ชำระภาษีประจำปี และต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายให้แจ้งภายใน 15 วัน

– หากมีการยกเลิกใช้ป้าย เนื่องจากเลิกกิจการให้แจ้งภายในเดือนธันวาคมของทุกปี

โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องภาษีป้ายได้ที่นี่  “เคาะเงื่อนไข! ภาษีป้ายร้านเสริมสวย ที่ถูกลืม”   

 

สรุป

สิ่งที่สำคัญสำหรับภาษีธุรกิจแฟรนไชส์คือ จะต้องศึกษาข้อมูลภาษีตามประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการของตนเอง และมีหน้าที่เสียภาษีตามที่กฎหมายกำหนด มีการตรวจสอบและเก็บเอกสารไว้ด้วย อย่างเช่นภาษีศุลกากรที่มีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและได้ให้ใบกำกับภาษีมา 

เจ้าของแฟรนไชส์ ควรตรวจสอบข้อมูลใบกำกับภาษี ทั้งชื่อผู้ขาย ผู้ซื้อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเก็บเอกสารทางบัญชีไว้อย่างน้อย 10 ปี เผื่อกรมสรรพากรมีการเรียกตรวจสอบ