เพราะว่าธุรกิจร้านทองเป็นธุรกิจที่มีรายได้สูงมาก ด้วยเหตุนี้จึงมี ภาษีร้านทอง เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหลายเรื่อง เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีอากรแสตมป์ ภาษีป้าย ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เมื่อผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี และอาจต้องพิจารณาตัดสินใจจดทะเบียนนิติบุคคล เพื่อให้ช่วยประหยัดภาษีได้เพิ่มขึ้น
ดังนั้น ใครที่กำลังจะทำธุรกิจร้านทอง หรือที่ทำอยู่ในรูปแบบบุคคลธรรมดา ต้องวางแผนภาษีร้านทองไว้ให้ดี เพื่อให้การประกอบกิจการถูกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
วางแผน…รายได้ของกิจการร้านทอง
รายได้หลักส่วนใหญ่ของกิจการร้านทอง จะมาจากการขายทองคำรูปพรรณ ทองคำแท่ง แต่กิจการร้านทองอาจทำธุรกิจอื่นร่วมด้วย เช่น การรับขายฝาก การขายเครื่องประดับ การขายสินค้าอื่น การให้บริการ เป็นต้น ซึ่งรายได้แต่ละช่องทางสามารถอธิบายเพิ่มเติมได้ดังนี้
1.ขายทองรูปพรรณ ทองรูปพรรณที่ร้านทองขายมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ทองรูปพรรณใหม่ จะขายให้กับลูกค้าทั่วไปที่มาซื้อทอง และทองรูปพรรณเก่า ซึ่งปกติจะขายให้กับผู้ค้าส่งทองคำ หรือผู้ผลิต
2.ขายทองคำแท่ง ซึ่งร้านทองจะมีช่องทางการขายทองคำแท่งอยู่หลายรูปแบบ เช่น ขายหน้าร้าน ขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันการขายทองคำแห่งทางออนไลน์ กำลังได้รับความนิยมอย่างมาก และมีอัตราการเติบโตอยู่ตลอด
3.ขายฝากทองรูปพรรณ เป็นการขายทองรูปพรรณโดยมีข้อตกลงว่าผู้ขายมีสิทธิ์ไถ่ทองคืนได้ภายในกำหนดเวลาตามสัญญา ซึ่งปกติร้านทองจะกำหนดช่วงเวลาขายฝากเป็นรายเดือน หรือในระยะสั้น โดยจะบวกค่าตอบแทนที่คำนวณตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาขายฝาก
4.ขายสินค้าอื่น ปกติแล้วร้านทองจะมีการขายสินค้าอื่นร่วมอยู่ในร้านอยู่แล้ว เช่น ทองหุ้ม (ทองไมครอน) อัญมณี เครื่องประดับ วัตถุมงคล เป็นต้น
5.ให้บริการ โดยทั่วไปร้านทองจะมีการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับการประกอบการร้านทอง เช่น รับซ่อมทอง ซ่อมเครื่องประดับ การใส่กรอบพระ รับจองวัตถุมงคลชุบทอง ฝังพลอย รมดำ เชื่อม ตัด ต่อ เป็นต้น
โดยรายได้จากทุกช่องทางทั้งหมดนี้ ผู้ประกอบการร้านทองมีหน้าที่ต้องเสียภาษีร้านทอง
วางแผน… รายจ่ายของกิจการร้านทอง
ตามหลักการสำหรับการเสียภาษีร้านทอง สำหรับร้านทองในนามบุคคลธรรมดา สามารถหักแบบเหมาหรือถ้ามีรายจ่ายสูงก็เลือกหักตามจริงได้ ส่วนนิติบุคคลค่าใช้จ่ายของกิจการสามารถนำมาหักภาษีได้ ซึ่งค่าใช้จ่ายใดบ้างที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ เพื่อใช้วางแผนภาษีร้านทองแต่เนิ่นๆ ดังนี้
1.ค่าซื้อสินค้า เช่น ทองรูปพรรณ ทองรูปพรรณเก่า ทองคำแท่ง สินค้าอื่น (ถ้ามี)
2.ค่าจ้างช่างทำทอง ร้านทองอาจมีการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น ซ่อมทอง ชุบทอง เป็นต้น ซึ่งทำให้มีรายจ่าย ค่าจ้างช่างทำทองด้วย
3.ดอกเบี้ยจ่าย ร้านทองอาจมีการกู้ยืมเงินมาเป็นทุนหมุนเวียนในกิจการ ซึ่งอาจทำให้มีดอกเบี้ยจ่าย
4.รายจ่ายในการดำเนินงาน นอกจากรายจ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการแล้ว ร้านทองยังมีรายจ่ายในการดำเนินการ เช่น เงินเดือน พนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าขนส่ง ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าพาหนะ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา เป็นต้น
วางแผน… ภาษีเงินได้
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
เงินได้จากการขายทองรูปพรรณ และทองคำแท่ง ถือเป็นรายได้พึงประเมินประเภทที่ 8 (40(8)) ซึ่งประกอบด้วยการขายทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง รับขายฝากทอง ขายสินค้าอื่น ให้บริการ แต่ถ้าร้านทองมีรายได้ประเภทอื่น ต้องนำเงินได้ทุกประเภทมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย
โดยสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% และหักค่าใช้จ่ายตามจริง โดยมีเงื่อนไขคือ
– เป็นค่าใช้จ่ายตามปกติที่ความเกี่ยวข้องกับกิจการ
– มีจำนวนที่สมควรและเหมาะสมต่อกิจการ
– ไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม
– ต้องมีหลักฐานการจ่าย
สูตรการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “เจาะลึก! วางแผน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา”
2.ภาษีเงินได้นิติบุคคล
สำหรับร้านทองที่จดทะเบียนนิติบุคคล จะคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกำไรสุทธิ โดยนำรายได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นค่าทอง ค่ากำเหน็จ ค่าดอกเบี้ย เป็นต้น หักด้วยค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งอาจจะต้องจ้างทำบัญชี และส่งสำนักงานบัญชีรับตรวจสอบบัญชีด้วย จะถูกต้องครบถ้วนกว่า
วิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล จะใช้สูตรคือ
(รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ
แล้วนำกำไรสุทธิที่ได้มาคิดภาษีเปรียบเทียบตามอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”
วางแผน… ภาษีมูลค่าเพิ่ม
กิจการร้านทองที่มีเงินได้จากการขายสินค้า หรือให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีเงินได้เกิน 1.8 ล้านบาท ที่กรมสรรพากร
หลังจากนั้นร้านทองต้องนำราคาขายทองรูปพรรณรวมกำเหน็จ หักออกด้วยราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศกำหนด ผลลัพธ์ส่วนต่างให้นำมาคิดภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ก็จะได้เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มของทองรูปพรรณที่ขาย ส่วนทองคำแท่งได้รับยกเว้นไม่ต้องเสีย VAT (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มจากบทความ “ภาษีมูลค่าเพิ่มร้านทอง”)
วางแผน… ภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีร้านทอง ที่เกี่ยวข้องนอกจากนี้คือ “ภาษีธุรกิจเฉพาะ” ซึ่งหากกิจการร้านทองได้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ เช่น การรับจำนำ การให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ โดยคำนวณภาษีได้ดังนี้
1.การรับจำนำ เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับ ค่าธรรมเนียม หรือรายได้จากการขายของที่หลุดจำนำ ในอัตราร้อยละ 2.75 โดยเอารายรับ x 2.75% = SBT
2.การให้กู้ยืมเงิน เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจากดอกเบี้ยรับในอัตราร้อยละ 3.3 โดยเอารายรับ x 3.3% = SBT
วางแผน… อากรแสตมป์
หากกิจการร้านทองมีการทำตราสารที่ต้องเสียอากร เช่น การให้เช่า การรับจ้าง การให้กู้ยืมเงิน เป็นต้น ซึ่งต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
– การให้เช่าที่ดิน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น ผู้ให้เช่ามีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ของทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท ของค่าเช่าหรือเงินกินเปล่า หรือทั้งสองอย่างรวมกันตลอดอายุการเช่า
– การจ้างทำของ ผู้รับจ้างมีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ของทุกจำนวนเงิน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาทของค่าจ้างที่กำหนดไว้
– การให้กู้ยืมเงิน ผู้ให้กู้มีหน้าที่เสียค่าอากรแสตมป์ 1 บาท ของทุกจำนวนเงิน 2,000 บาท หรือเศษของ 2,000 บาท ของยอดเงินที่ให้ก็ยืม ถ้าคำนวณแล้วเกิน 10,000 บาท ให้เสีย 10,000 บาท
วางแผน… ภาษีป้าย
ในกรณีที่ร้านทองมีการทำป้ายร้านทองหน้าร้าน จะต้องมีหน้าที่เสียภาษีป้ายในอัตราภาษีตามที่กฎหมายกำหนดดังนี้
1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน
1.1 ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม.
1.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 1.1 อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น
2.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
2.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 2.1 อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
3.1 ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
3.2 ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ 3.1 อัตราภาษีป้าย 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
ดังนั้น กิจการร้านทองที่เสียภาษีเงินได้ในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จำเป็นต้องจัดการวางแผนภาษีร้านทองไว้ก่อนถึงช่วงยื่นภาษี เพื่อให้สามารถยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง และยังช่วยประหยัดภาษีได้อีกด้วย