ภาษีร้านขายของชำ …เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วตลอดเวลา จึงทำให้คนในสังคมต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ความเป็นไปในปัจจุบัน และการดำรงชีวิตในตอนนี้เป็นช่วงเวลาที่มีการแข่งขันและเร่งรีบของคนเมืองทั่วไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ด้านนี้ ทำให้พื้นที่ต่างๆ มีการพัฒนามากขึ้น
อย่างเช่นร้านขายของชำที่เป็นระบบการบริหารร้านแบบเก่าๆ ก็ควรปรับเปลี่ยนให้ตรงยุคตรงสมัย ซึ่งในอดีตจะเป็นการซื้อมาขายไปไม่ค่อยลงรายละเอียดมากนัก แต่ถ้าหากเจ้าของร้านชำคำนึงถึงในเรื่องภาษี ที่เจ้าของร้านอาจจะมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว จึงมองข้ามผ่านไป แต่จริงๆ แล้วเรื่องภาษีเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก บางทีเจ้าของร้านอาจจะโดนเรียก ภาษีร้านขายของชำ ย้อนหลังเป็นจำนวนมหาศาลก็เป็นได้
ดังนั้นเจ้าของร้านขายของชำควรเริ่มรัดเข็มขัดเรื่องภาษีไว้แต่เนิ่นๆ ดีกว่าสายเกินแก้ แล้วเจ้าของกิจการต้องรู้เกี่ยวกับ ภาษีร้านขายของชำ อย่างไรบ้าง ลองมาค้นหาคำตอบได้ดังนี้
ร้านชำเล็กๆ รายได้เท่าไหร่ถึงเสีย ภาษีร้านขายของชำ
ร้านค้าปลีกดั้งเดิมหรือร้านขายของชำในปัจจุบันมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ สาเหตุอาจเกิดจากสื่อออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น แต่ร้านที่ยังคงอยู่ก็ยังต้องเรียนรู้ถึงกลไกลภาษีร้านขายของชำขนาดเล็ก ซึ่งตามกฎหมายกำหนดว่า เมื่อผู้มีรายได้ที่ไม่ใช่ค่าจ้างหรือเงินเดือน มีเฉพาะเงินประเภทอื่น เช่น เงินจากการขายของ หากเกิน 60,000 บาท จะต้องยื่นภาษี แต่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี แต่หากรายได้สุทธิหลังจากหักค่าลดหย่อนต่างๆ แล้วเกิน 150,000 บาท จะต้องเสียภาษี
โดยร้านขายของชำจัดอยู่เงินได้พึงประเมินมาตรา 40(8) การเสียภาษีจะแบ่งเป็น 2 แบบ สามารถอธิบายได้ดังนี้
แบบเหมา 60% (เป็นการเลือกหักต้นทุน) วิธีนี้ไม่จำเป็นต้องทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อยื่นภาษี และไม่ต้องเก็บเอกสารประกอบเพื่อใช้ยื่นภาษี เพราะไม่ต้องพิสูจน์รายได้ ซึ่งเหมาะกับเจ้าของร้านขายของชำที่มีต้นทุนน้อยกว่า 60% และมีกำไรมากถึง 40%
แบบหักค่าใช้จ่ายตามจริง จะเหมาะกับเจ้าของร้านขายของชำที่มีต้นทุนสูง และมีกำไรน้อยกว่า 40% โดยจะต้องทำบันทึกรายรับ-รายจ่ายและกำไรทุกเดือน เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการคำนวณยื่นภาษี และต้องเก็บเอกสารทุกใบที่มีข้อมูลระบุชัดเจนและถูกต้องตามที่กรมสรรพากรกำหนดให้ครบ
และนำมาคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามสูตร คือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) x อัตราภาษี = ภาษีที่ต้องจ่าย ซึ่งสามารถเปรียบเทียบอัตราภาษีได้จากด้านล่างนี้
อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามอัตราภาษีก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได ดังนี้
เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท (ได้รับการยกเว้นภาษี)
เงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาท (อัตราภาษี 5%)
เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท (อัตราภาษี 10%)
เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท (อัตราภาษี 15%)
เงินได้สุทธิ 750,001 – 1 ล้านบาท (อัตราภาษี 20%)
หมายเหตุ : เงินได้สุทธิเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 150,000 บาท ยังคงได้รับยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ.2551
พอทราบหลักการเบื้องต้นแล้วว่าควรยื่นแบบในอัตราภาษีที่เท่าไหร่ เจ้าของร้านขายของชำลองคำนวณดูกันได้ ไม่ว่าจะเสียหรือไม่เสียภาษีร้านขายของชำก็ตาม เจ้าของร้านขายของชำควรยื่นแบบให้ถูกต้องเพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากกรมสรรพากร
ภาษีนิติบุคคลกับร้านขายของชำ
เมื่อเจ้าของร้านขายของชำมีการขยายธุรกิจใหญ่ขึ้นอยากจัดตั้งเป็นบริษัทและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ภาษีร้านขายของชำที่เจ้าของร้านขายของชำต้องรู้จักและทำความเข้าใจ คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีบริษัทที่คำนวณจากกำไรสุทธิที่นิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายหากเข้าเกณฑ์กำหนด ซึ่งวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ จากนั้นนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 20%
ทั้งนี้ เจ้าของร้านขายของชำมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีนิติบุคคล 2 รอบ ซึ่งประกอบด้วย ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 ลักษณะการเสียภาษีต่างกัน คือ ภ.ง.ด.51 สำหรับครึ่งปีแรก โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
และ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี สามารถศึกษาหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ แนวทางวางแผนภาษี “นิติบุคคล”
รายได้ถึงเป้า..ภาษีมูลค่าเพิ่มถามหา
สำหรับร้านขายของชำที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี จำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายใน 30 วัน หลังจากมียอดขายเกิน 1.8 ล้านบาท และนำยอดขายในแต่ละเดือน ยื่นแบบ ภ.พ.30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หากยื่นออนไลน์สามารถยื่นได้อีก 8 วัน คือภายในวันที่ 23 ของทุกเดือน
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
หากร้านขายของชำในนามนิติบุคคลมีการว่าจ้างพนักงาน หรือมีการเช่าสถานที่เพื่อเปิดกิจการ ก็ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งถือเป็นภาษีร้านขายของชำ เช่น หากร้านขายของชำมีการจ่ายเงินเดือนหรือโบนัสให้แก่พนักงาน ทางร้านจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โดยนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด. 53 แก่กรมสรรพากร ภายในวันที่ 7ของเดือนถัดไป
นอกจากนี้ถ้าทางเจ้าของร้านขายของชำในนามนิติบุคคลมีการเช่าสถานที่เพื่อใช้ประกอบกิจการ เมื่อจ่ายค่าเช่าแล้ว จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วยเช่นกัน
กล่าวโดยสรุป หากเจ้าของร้านขายของชำมีความรู้ทางด้านภาษีแล้ว ไม่ว่าจะเป็นภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และภาษีหัก ณ ที่จ่าย ซึ่งเป็นภาษีหลักๆ ที่เจ้าของร้านขายของชำต้องได้พบเจอแน่นอน หากเจ้าของร้านขายของชำมีความรู้เรื่องภาษีเหล่านี้จะห่างไกลการโดนตรวจสอบจากกรมสรรพากรชัวร์
แต่ถ้าหากเจ้าของร้านขายของชำจะขยับขยายกิจการและอยากจดเป็นบริษัทก็สามารถหาสำนักงานบัญชีที่สามารถให้ข้อมูลได้ครบวงจร เหมือนเป็นเพื่อนคู่คิดไปกับกิจการของเรา ก็จะเป็นประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว