ตามกฎหมายได้กำหนดว่า ใครที่เป็นเจ้าของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง มีหน้าที่ต้องเสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งปกติจะมีจดหมายแจ้งประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ส่งไปให้เจ้าของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกปีอยู่แล้ว
รวมถึงธุรกิจที่ใช้ประโยชน์ทางการค้าจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อย่างเช่น โรงแรม รีสอร์ต จะถือเป็นที่ดินในกลุ่มพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม คือทำประโยชน์ด้านพาณิชยกรรม ก็ต้องเสีย ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในกลุ่มประเภทที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนด ในอัตราภาษี 0.3-0.7% เช่นกัน
โดยผู้ประกอบกิจการโรงแรม รีสอร์ต โดยเฉพาะมือใหม่ อย่าเพิ่งวางใจ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่เคยจ่ายไปอาจสูงกว่าเดิม
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คืออะไร
ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น กับที่ดินที่ใช้อย่างต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยแยกลักษณะของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 2 ประเภท คือ
1.โรงเรือน เช่น โรงแรม รีสอร์ต โรงพยาบาล โรงเรียน อพาร์ตเมนต์ คอนโดมิเนียม หอหัก บ้าน ตึกแถว อาคาร ร้านค้า สำนักงาน ธนาคาร เป็นต้น
2.สิ่งปลูกสร้างอื่นๆ หมายถึง สิ่งปลูกสร้างอื่นที่ก่อสร้างติดที่ดินถาวร เช่น สะพาน ท่าเรือ คานเรือ อ่างเก็บน้ำ ถังเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างติดที่ดินถาวร
ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หมายถึง ที่ดินที่ใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอื่น และบริเวณต่อเนื่องซึ่งใช้ด้วยกันกับโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างนั้น โดยหมายรวมถึงทางน้ำ บ่อน้ำ สระน้ำด้วย
ใครต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
สำหรับผู้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง เช่น ตึก อาคาร คอนโดมิเนียม หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นที่ใช้หาผลประโยชน์โดยใช้เป็นสถานประกอบการพาณิชย์ต่างๆ ให้เช่า หรือผู้อื่นอยู่อาศัย เช่น โรงแรม รีสอร์ต หอพัก จะต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างด้วย
เว้นแต่ว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เจ้าของเป็นคนละคนกัน ให้เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประจำปี
เนื่องจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีการนำมาใช้ประโยชน์หลายรูปแบบ ทั้งเพื่ออยู่อาศัยและเพื่อการพาณิชย์อย่างเช่นโรงแรม จึงทำให้ที่ดินแต่ละประเภทจะต้องเสียภาษีตามลักษณะการใช้ประโยชน์ที่ต่างกัน ดังนี้
1.การประกอบเกษตรกรรม อัตราภาษีที่จัดเก็บ ร้อยละ 0.01-0.1
2.ที่อยู่อาศัย อัตราภาษีที่จัดเก็บ ร้อยละ 0.02-0.1 แยกย่อยได้คือ
– ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา อัตราภาษีที่จัดเก็บ ร้อยละ 0.03-0.1
– สิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน อัตราภาษีที่จัดเก็บ ร้อยละ 0.02-0.1
– ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เป็นที่อยู่อาศัยกรณีอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวไปแล้ว อัตราภาษีที่จัดเก็บ ร้อยละ 0.02-0.1
3.การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 อัตราภาษีที่จัดเก็บ ร้อยละ 0.3-0.7
4.ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่า หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามควรแก่สภาพ อัตราภาษีที่จัดเก็บ ร้อยละ 0.3-0.7
หลักการคำนวณภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างธุรกิจโรงแรม
จากอัตราภาษีที่ดินและสิ่งที่ปลูกสร้างสำหรับผู้ประกอบกิจการโรงแรม รีสอร์ต ไม่ว่าจะเป็นในนามบุคคล หรือนิติบุคคล จัดอยู่ในกลุ่มการใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 อัตราภาษีที่จัดเก็บคือร้อยละ 0.3-0.7
โดยวิธีการคำนวณภาษี จะคำนวณจากมูลค่าของฐานภาษี (ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากกรมธนารักษ์) ตามสูตร ดังนี้
มูลค่าของฐานภาษี x อัตราภาษี = ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
มูลค่าฐานภาษี (ล้านบาท) | อัตราภาษี | ล้านละ (บาท) |
0-50 | 0.3% | 3,000 |
50-200 | 0.4% | 4,000 |
200-1,000 | 0.5% | 5,000 |
1,000-5,000 | 0.6% | 6,000 |
5,000 ขึ้นไป | 0.7% | 7,000 |
ตัวอย่างการคำนวณภาษี
สมมุติเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโรงแรมมีมูลค่า ดังนี้
– ที่ดิน มูลค่า 5,000,000 บาท
– สิ่งปลูกสร้าง (หักค่าเสื่อมแล้ว) 2,0000,000 บาท
– รวมมูลค่า 7,000,000 บาท
– เมื่อเทียบกับตารางจะอยู่ในช่วง 0-50 ล้านบาท
ดังนั้น ภาษีที่ต้องเสียคือ 7,000,000 x 0.3% = 21,000 บาท
ระยะเวลายื่นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
สำหรับผู้ประกอบการโรงแรมที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำเป็นต้องเป็นผู้ที่ครอบครองหรือใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ในวันที่ 1 มกราคมของปีภาษีนั้น เช่น ซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2564 ต้องเสียภาษีในปี พ.ศ.2565 เนื่องจากถือว่าได้ครอบครองในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2565
โดยผู้ที่เข้าข่ายต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีแบบประเมินภาษีที่ต้องเสีย ส่งเป็นเอกสารมาให้ที่บ้านภายในเดือนกุมภาพันธ์ของแต่ละปี ซึ่งในแบบประเมินภาษีจะประกอบด้วย
– รายการที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง
– ราคาประเมินทุนทรัพย์
– อัตราภาษี
– จำนวนภาษีที่ต้องชำระ
และผู้ได้รับสามารถนำใบประเมินไปยื่นเสียภาษีภายในวันที่ 30 เมษายนของปีนั้น โดยไม่ต้องยื่นเอกสารหรือกรอกข้อมูลอะไรอีก ณ สถานที่ชำระภาษีในพื้นที่ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตั้งอยู่ ดังนี้
– เทศบาล ให้ชำระที่สำนักงานเทศบาล
– อบต. ให้ชำระที่สำนักงานองค์การบริหารส่วนตำบล
– กรุงเทพฯ ให้ชำระที่สำนักงานเขต
– เมืองพัทยา ให้ชำระที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา
ทั้งนี้ ยังมีภาษีอื่นๆ ที่ผู้ประกอบการโรงแรมในนามนิติบุคคล มีหน้าที่ต้องเสียภาษีและต้องทำบัญชีให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมส่งให้สำนักงานบัญชีที่รับตรวจสอบบัญชีเซ็นรับรองข้อมูล ก่อนส่งให้กรมสรรพากร โดยศึกษาข้อมูลภาษีที่เกี่ยวข้องได้จากบทความ “เตรียมพร้อมเมื่อกิจการต้องเสีย ภาษีโรงแรม”