ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

เปิดคลินิกทันตกรรม… ต้องขอใบอนุญาตด้วยหรือ?

ขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม

คลินิกทันตกรรม เป็นอีกหนึ่งธุรกิจในสายงานของผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งมีทั้งผู้เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดาและที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลให้ความสนใจ แต่ก่อนที่จะเปิดคลินิกได้นั้นเจ้าของคลินิกจะต้องจัดเตรียมสถานพยาบาล หรือคลินิกทันตกรรมของตนเองให้ถูกต้องตรงตามมาตรฐานคลินิกทันตกรรมตั้งแต่ก่อนขอใบอนุญาต เพื่อให้การขอใบอนุญาตเปิดคลินิกผ่านเร็วขึ้น (สามารถอ่านเพิ่มเติมจากบทความ “ไม่อยากพลาด…วางแผนให้ดีก่อนเปิดคลินิกทันตกรรม”)

และนอกจากนี้ หากพบว่าคลินิกดำเนินกิจการโดยไม่มีใบอนุญาตเปิดคลินิก จะถือว่ามีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น ทันตแพทย์เจ้าของคลินิกทันตกรรม หรือผู้ประกอบการทั่วไปที่ต้องการเปิดคลินิกทันตกรรม ต้องเข้าใจกฎเกณฑ์ข้อกำหนดของการทำคลินิกทันตกรรม และขั้นตอนการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกเสียก่อน ดังนี้

 

เงื่อนไขการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม

การขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม หากเจ้าของคลินิกเป็นบุคคลทั่วไป จำเป็นจะต้องมีหุ้นส่วนที่เป็นทันตแพทย์ มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม จึงทำให้ส่วนใหญ่นิยมจดทะเบียนบริษัทนิติบุคคล เพื่อขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรมให้ผ่านง่ายขึ้น และสามารถดำเนินกิจการได้ โดยมีเงื่อนไขหลักๆ ในการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม เช่น

– คลินิกทันตกรรม จะต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม

– คลินิกทันตกรรมเฉพาะทาง ต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมที่ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติจากทันตแพทยสภาในสาขานั้น

และมีข้อกำหนดในการตั้งชื่อคลินิกทันตกรรม ดังนี้

1.คำนำหน้าชื่อ หรือต่อท้ายชื่อคลินิก ต้องประกอบด้วยประเภทและลักษณะของคลินิกที่ขออนุญาต เช่น อมรเทพคลินิกเวชกรรม หรือคลินิกเวชกรรมอมรเทพ

2.ต้องไม่ใช้คำ หรือข้อความที่มีลักษณะชักชวนหรือโอ้อวดเกินจริง หรืออาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการ

3.ไม่สื่อความหมายหรืออ้างอิงสถาบันพระมหากษัตริย์ เว้นแต่ได้รับพระบรมราชานุญาต หรือพระราชานุญาต

4.คลินิกที่ตั้งภายในอำเภอหรือเขต หรือจังหวัดเดียวกัน จะต้องไม่ใช้ชื่อซ้ำกัน ยกเว้น

4.1 ผู้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลเดียวกัน

4.2 มีหนังสือยินยอมจากผู้ได้รับอนุญาตเดิมให้ใช้ชื่อซ้ำกันได้ แต่ต้องมีอักษรหรือหมายเลขเรียงลำดับ หรือที่ตั้งสถานที่ ต่อท้ายชื่อคลินิก เช่น คลินิกเวชกรรมอมรเทพ สาขาบางซื่อ หรือคลินิกเวชกรรมอมรเทพ สาขา 2  

ขั้นตอนการขอเปิดคลินิกทันตกรรม

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการยื่นขอเปิดคลินิกแบ่งเป็น 2 แห่ง คือ คลินิกตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นที่สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะกระทรวงสาธารณสุข ส่วนคลินิกที่มีที่ตั้งในส่วนภูมิภาค สามารถยื่นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้นๆ ได้

และมีขั้นตอนการขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรม หรือสถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยค้างคืน (คลินิก) แบ่งเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้

1.ผู้ขอรับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล

ให้ใช้แบบฟอร์มในการกรอก คือ ส.พ.1  ส.พ.2  ส.พ.5 สำหรับกรอกข้อมูลในส่วนของการขอรับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล พร้อมเอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่ต้องใช้ประกอบดังนี้

1.1 เอกสารส่วนบุคคล ที่ใช้ในการขอใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล แบ่งเป็นสำหรับผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลดังนี้

– บุคคลธรรมดา ให้เตรียมสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และใบรับรองแพทย์

– นิติบุคคล ให้เตรียมเอกสารจดทะเบียนนิติบุคคล และวัตถุประสงค์ สำเนาบัตรประชาชนผู้มีอำนาจลงนาม สำเนาทะเบียนบ้านผู้มีอำนาจลงนาม และใบรับรองแพทย์ผู้มีอำนาจลงนาม และประทับตราบริษัทที่ลายเซ็นผู้ขอรับอนุญาตในแบบฟอร์มยื่นคำขอ

1.2 เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ที่ใช้ในการขอใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ทั้งสำหรับผู้เสียภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลมีดังนี้

– กรณีเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง : สำเนาสัญญาซื้อขาย สำเนาโฉนด

– กรณีเช่า : สำเนาสัญญาเช่า สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน และเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่า

– กรณียินยอมให้เช่าพื้นที่ : หนังสือยินยอมจากเจ้าของอาคาร สำเนาบัตรประชาชนและเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ของเจ้าของ

– สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งคลินิก ควรเป็นสถานที่ตั้งที่ขอเอกสารได้ เช่น มีตัวของโฉนด ทะเบียนบ้าน

1.3 แผนผังภายในคลินิก

1.4 แผนที่ในการเดินทางไปคลินิก

2.ผู้ขอรับใบอนุญาตในการดำเนินการสถานพยาบาล

แบบฟอร์ม ส.พ.18, ส.พ.6 ใช้สำหรับกรอกข้อมูลในส่วนของการขอรับใบอนุญาตในการดำเนินการสถานพยาบาล พร้อมเอกสารหลักฐานอื่นๆ ที่ต้องใช้ประกอบดังนี้

2.1 สำเนาบัตรประชาชน

2.2 สำเนาทะเบียนบ้าน

2.3 ใบรับรองแพทย์

2.4 สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ / ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ

2.5 สำเนาวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติ หรือหนังสือรับรอง (กรณีคลินิกเฉพาะทาง)

2.6 รูปถ่ายขนาด 2.5 x 3 ซม. จำนวน 3 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี

2.7 รูปถ่ายขนาด 8 x 13 ซม. จำนวน 1 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี

3.ผู้ประกอบวิชาชีพร่วม

ผู้ประกอบวิชาชีพร่วม คือ ผู้ประกอบวิชาชีพ วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งที่ให้บริการในสถานพยาบาลนั้น ตามลักษณะการให้บริการของคลินิก โดยใช้แบบฟอร์มที่ต้องกรอก ส.พ.6 (ไม่ต้องมาแสดงตัว) และเอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ดังนี้

3.1 สำเนาบัตรประชาชน

3.2 สำเนาทะเบียนบ้าน

3.3 สำเนาใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ / ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ

3.4 สำเนาวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติ หรือหนังสือรับรอง (กรณีคลินิกเฉพาะทาง)

3.5 รูปถ่ายขนาด 8 x 13 ซม. จำนวน 1 รูป ถ่ายไว้ไม่เกิน 1 ปี

ทั้งนี้ หากผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการและดำเนินการเป็นบุคคลเดียวกัน เอกสารข้อ 2.1 – 2.3 ใช้เพียงชุดเดียว และการยื่นขอเปิดคลินิก ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ สามารถเขียนใบมอบอำนาจพร้อมแนบสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบ / ผู้รับมอบอำนาจ แต่ผู้ขอรับใบอนุญาตดำเนินการต้องมาแสดงตัวด้วย

รวมถึงกรณีคลินิกทันตกรรมที่มีที่ตั้งในเขตกรุงเทพฯ ถ้ามีเครื่องเอกซเรย์ ต้องติดต่อกองรังสีและเครื่องมือแพทย์ โทร.0-2951-0000 ต่อ 99647

 

ยังไม่จบ! เปิดคลินิกแล้ว ต้องรอเจ้าหน้าที่เข้าตรวจด้วย

หลังจากยื่นขอใบอนุญาตเปิดคลินิกทันตกรรมแล้ว ผู้ยื่นขอเปิดคลินิกจะได้รับเอกสารที่เกี่ยวข้องกลับไปด้วยดังนี้

– ใบนัดตรวจ

– แบบแสดงรูปถ่ายและรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ประกอบวิชาชีพ หรือผู้ประกอบโรคศิลปะในคลินิก

– ใบสมัครเข้ารับบริการเก็บขนและกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อ

– คำประกาศสิทธิของผู้ป่วย

– ป้ายสอบถามค่ารักษาพยาบาล

– บันทึกการตรวจมาตรฐานตามประเภทของคลินิก

จากนั้นต้องรอเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานพยาบาลอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจเอกสารหลักฐาน พร้อมตรวจความถูกต้องครบถ้วนของแบบฟอร์ม และตรวจสอบข้อมูลการดำเนินการและข้อมูลการปฏิบัติงานของผู้ขอรับใบอนุญาตดำเนินการ และผู้ประกอบวิชาชีพร่วม

จึงจะนัดวันตรวจคลินิก โดยคลินิกจะต้องเสร็จเรียบร้อยพร้อมให้เจ้าหน้าที่เข้าตรวจ หากไม่สะดวกให้เข้าตรวจตามนัด ให้ยื่นขอถอนเรื่องและรับเอกสารเดิมคืน และยื่นเรื่องเพื่อเปิดคลินิกใหม่อีกครั้ง ซึ่งผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการและผู้ดำเนินการ ต้องอยู่ในวันที่เจ้าหน้าที่มาตรวจ แต่ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการสามารถทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นอยู่แทนตัวได้ในกรณีติดภารกิจ

ทั้งนี้ ผู้ยื่นขอใบอนุญาตเปิดคลินิกยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใดๆ จนกว่าจะมีหนังสือแจ้งให้มารับใบอนุญาตฯ โดยต้องเตรียมเอกสารหลักๆ ดังนี้

– ถ่ายรูปป้ายชื่อคลินิก พร้อมเลขที่ใบอนุญาตที่เห็นได้ชัดเจน

– เอกสารหลักฐานเพิ่มเติม ตามที่เจ้าหน้าที่ที่ไปตรวจคลินิกได้แจ้งไว้

– หนังสือมอบอำนาจพร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้มอบและผู้รับมอบ กรณีไม่ได้มารับด้วยตัวเอง

– ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล จำนวน 1,000 บาท

– ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาลจำนวน 250 บาท

 

ได้ใบอนุญาตเปิดคลินิกแล้ว อย่าลืมชำระเงินประจำปี

เมื่อขอใบอนุญาตเปิดคลินิกผ่านเรียบร้อยแล้ว เจ้าของคลินิกมีหน้าที่ต้องชำระเงินประจำปี โดยแบ่งได้ดังนี้

1.ค่าธรรมเนียมประจำปี เป็นการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการสถานพยาบาล โดยชำระทุกปีช่วงเดือนตุลาคม – ธันวาคม จำนวน 500 บาท แต่ถ้าหากเกินกำหนดต้องจ่ายค่าปรับเดือนละ 25 บาท

เอกสารที่ใช้ยื่น ได้แก่ แบฟอร์มชำระค่าธรรมเนียม สมุดทะเบียนสถานพยาบาล (ส.พ.8) แบบรายงานประจำปี (ส.พ.23) แบบประเมินมาตรฐานกาปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยสถานพยาบาลในคลินิกโดยตนเอง

2.ต่ออายุใบอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล จะต้องต่ออายุทุก 2 ปี โดยใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินปีที่ 2 นับแต่ปีที่ออกใบอนุญาต และเสียค่าธรรมเนียม 250 บาท

เอกสารที่ใช้ยื่น ได้แก่ แบบฟอร์มขอต่ออายุใบอนุญาต (ส.พ.20) ใบอนุญาตให้ดำเนินกาสถานพยาบาลฉบับจริง (ส.พ.19) ใบรับรองแพทย์ สมุทรทะเบียน สถานพยาบาล (ส.พ.8)

3.การต่ออายุใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล ให้ต่ออายุทุก 10 ปี โดยใช้ได้จนถึงวันสิ้นปีปฏิทินของปีที่ 10 นับแต่ปีที่ออกใบอนุญาต และเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท

เอกสารที่ใช้ยื่น ได้แก่ แบบฟอร์มขอต่ออายุใบอนุญาต (ส.พ.11) ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลฉบับจริง (ส.พ.7) สำเนาบัตรประชาชนผู้ประกอบกิจการ สำเนาทะเบียนบ้านที่ตั้งคลินิก ใบรับรอแพทย์

ทั้งนี้ หากไม่สามารถมายื่นด้วยตนเองได้ ให้ทำหนังสือมอบอำนาจ พร้อมสำเนาบัตรปะชาชนผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบอำนาจ

 

สรุป

แม้ว่าธุรกิจทันตกรรม หรือการเปิดคลินิกทันตกรรม จะเป็นที่นิยมทั้งจากทันตแพทย์เองและผู้ประกอบการทั่วไป แต่จงอย่าลืมว่าต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เข้ารับบริการด้วย ดังนั้น กฎระเบียบและเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดขึ้น เจ้าของคลินิกต้องให้ความใส่ใจ และต้องทำตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัดนะคะ