ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

จำเป็นด้วยหรือ?…ต้องขออนุญาตและ จดทะเบียนเพิ่มสาขาโรงงานผลิต สินค้า

จดทะเบียนเพิ่มสาขาโรงงานผลิต

จดทะเบียนเพิ่มสาขาโรงงานผลิต …เมื่อผู้ประกอบการทำธุรกิจที่เกี่ยวกับการรับจ้างผลิตสินค้า หรือผลิตสินค้าเพื่อขายส่ง ซึ่งต้องมีโรงงานผลิตแบบเป็นเรื่องเป็นราว จึงควรทราบถึงรายละเอียดต่างๆ รวมถึงข้อบทกฎหมายในการดำเนินธุรกิจนั้นๆ เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการขออนุญาตเปิดโรงงานหรือการขยับขยายเพิ่มสาขาโรงงาน 

แล้วหลักการขออนุญาตจดทะเบียนโรงงาน และขั้นตอนการ จดทะเบียนเพิ่มสาขาโรงงานผลิต มีอะไรบ้างลองมาติดตามอ่านกันได้ดังนี้ 

หลักการขออนุญาตตั้งโรงงานการผลิต

การขออนุญาตจัดตั้งโรงงานการผลิต ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ.2535 คือการสร้างอาคาร สถานที่ หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักร ที่มีกำลังรวมตั้งแต่ 5 แรงม้าขึ้นไป หรือใช้แรงงานตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป ไว้สำหรับการผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ปรับปรุง  แปรสภาพ เก็บรักษา 

ทั้งนี้ผู้ประกอบกิจการต้องทำก่อนยื่นใบขออนุญาตตั้งโรงงาน คือ ต้องเลือกทำเลให้เหมาะสมและไม่ผิดกฎหมาย ให้ยื่นคำขอทั่วไปเพื่อรับความคิดเห็นจากชุมชนโดยรอบโรงงานที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการก่อตั้งโรงงาน และสุดท้ายโรงงานประเภทที่ 3 บางประเภท จำเป็นต้องทำรายงายวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมก่อน ถึงจะสามารถดำเนินขั้นตอนการตั้งโรงงานต่อไปได้ โดยประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งตามกฎหมายได้แบ่งโรงงานออกเป็น 3  ประเภทด้วยกัน ดังนี้

โรงงานประเภทที่ 1 เป็นโรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักร 5 – 20 แรงม้า ซึ่งโรงงานจำพวกนี้ไม่ต้องยื่นขออนุญาต สามารถประกอบกิจการโรงงานได้ทันที โดยไม่ต้องแจ้งหรือขออนุญาตต่อทางราชการ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี เช่น โรงงานทำน้ำตาลสด โรงงานผลิตขนมจีน โรงงานผลิตถุงเท้า เป็นต้น  ซึ่งโรงงานเหล่านี้ไม่ก่อปัญหาทางด้านมลพิษ จึงได้รับการยกเว้น

โรงงานประเภทที่ 2 เป็นโรงงานที่มีแรงม้าของเครื่องจักรมากกว่า 20 แรงม้า แต่ไม่เกิน 50 แรงม้า ซึ่งไม่ต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน สามารถตั้งโรงงานได้ทันที แต่เมื่อจะเริ่มประกอบกิจการโรงงานต้องแจ้ง ให้ผู้อนุญาตทราบก่อน เมื่อได้รับใบแจ้งแล้วจึงจะประกอบกิจการโรงงานได้ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศของรัฐมนตรีที่ออกตามกฎกระทรวง

โรงงานประเภทที่ 3 เป็นโรงงานที่มีแรงม้ารวมของเครื่องจักรมากกว่า 50 แรงม้า และมีจำนวนคนงานมากกว่า 50 คน และเป็นโรงงานอุตสาหกรรมที่มีมลภาวะ ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องได้รับใบอนุญาตก่อนถึงจะประกอบกิจการโรงงานได้ และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวงและประกาศของรัฐมนตรี 

เอกสารประกอบการขออนุญาตตั้งโรงงาน สำหรับเจ้าของกิจการที่จะตั้งโรงงานประเภทที่ 3 มีดังนี้

1.คำขออนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

2.หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล ใช้สำเนาไม่เกิน 3 เดือน 

3.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน (สำหรับบุคคลธรรมดา)

4.หนังสือมอบอำนาจ

5.สำเนาโฉนดที่ดิน หรือออกเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ใช้ที่ดิน

6.แบบแปลนแผนผังอาคารโรงงาน ที่ลงนามรับรองความปลอดภัยโดยวิศวกร

7.แผนผังแสดงการติดตั้งเครื่องจักร ที่ลงนามรับรองความปลอดภัยโดยวิศวกร

8.สำเนาหนังสืออนุญาตก่อสร้าง

9.ขั้นตอนการผลิตโดยละเอียด

10.เอกสารอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่กำหนด 

ขั้นตอนการ จดทะเบียนเพิ่มสาขาโรงงานผลิต 

หลังจากขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าที่เหมาะกับธุรกิจผลิตสินค้าขายส่งของตนเอง หรือรับจ้างผลิตสินค้าเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ ผู้ประกอบการจะต้องทำการจดทะเบียนเพิ่มสาขาโรงงานผลิต โดยยื่นเอกสารขอจด 2 สถานที่ด้วยกัน คือ กรมสรรพากร  ก่อนวันเปิดสถานประกอบการเพิ่มไม่น้อยกว่า 15 วัน และที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยจะต้องเตรียมเอกสารประกอบการขอจดทะเบียนเพิ่มสาขา ดังนี้

1.จดทะเบียนเพิ่มสาขาที่ กรมสรรพากร

– แบบ ภ.พ. 09 จำนวน 5 ชุด

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ จำนวน 1 ชุด

– สำเนาทะเบียนบ้านกรรมการผู้มีอำนาจ จำนวน 1 ชุด

– แผนที่ตั้งสาขาบริษัทที่เพิ่มใหม่ 1 ชุด

– สำเนาสัญญาซื้อขาย 1 ชุด (กรณีซื้อสำนักงาน)

– สำเนาสัญญาเช่า 1 ชุด (กรณีเช่าสำนักงาน)

– หนังสือยินยอมให้ใช้สถานประกอบการ 1 ชุด

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนเจ้าบ้าน/ผู้ให้เช่าผู้มีอำนาจ จำนวน 1 ชุด

– สำเนาทะเบียนบ้านเจ้าบ้าน/ผู้ให้เช่า จำนวน 1 ชุด

– รูปถ่ายบริษัท 3 รูป

– รูประยะไกลให้เห็นป้ายชื่อบริษัทและป้ายบ้านเลขที่ในรูปเดียวกัน

– รูปถ่ายระยะไกลให้เห็นทั้งตัวอาคาร

– รูปถ่ายภายในอาคาร

– สำเนาหนังสือรับรองบริษัท (ฉบับปัจจุบัน ไม่เกิน 6 เดือน) จำนวน 1 ชุด

– หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

2.จดทะเบียนสาขาเพิ่มที่ “กรมพัฒนาธุรกิจการค้า”

– แบบ บอจ.1

– หนังสือรับรองการจดทะเบียน

– แบบ บอจ.4

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนกรรมการผู้มีอำนาจ

– หนังสือมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

– สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ (กรณีผู้ประกอบการไม่สามารถไปขอจดทะเบียนเพิ่มสาขาเองได้)

เมื่อมีการเพิ่มกำลังการผลิต จำเป็นต้องเพิ่มโรงงานมากกว่า 1 แห่ง ซึ่งถ้าหากดำเนินการเปิดโรงงานโดยไม่แจ้งเพิ่มสาขาล่วงหน้า ก็จะมีค่าปรับไม่เกิน 5,000 บาท และยังส่งผลเสียต่อการนำรายจ่ายไปใช้ประโยชน์ทางภาษีอีกด้วย 

อย่างเช่น ในใบกำกับภาษีต้องมีการระบุสาขาที่ใช้ใบกำกับภาษีซื้อ หากระบุไม่ตรงสาขาที่ต้องเคลมภาษีซื้อ ทางสรรพากรอาจตีเป็นภาษีซื้อต้องห้าม รวมถึงทำให้เกิดเป็นช่องโหว่ให้สรรพากรพบความผิดปกติ เรื่องการเพิ่มสถานประกอบการโดยไม่แจ้งล่วงหน้า และหากตรวจสอบเจอในภายหลังอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ โดยสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ เมื่อไหร่ที่กิจการควรจดทะเบียนเพิ่มสาขาและต้องทำอย่างไร

 

กล่าวโดยสรุป ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นตั้งแต่เริ่มการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิต หรือการจดทะเบียนเพิ่มสาขาโรงงานผลิต ซึ่งเมื่อไหร่ที่มีการเปิดโรงงาน กำลังการผลิตถือว่าเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าเกิดวันใดวันหนึ่งโรงงานจำเป็นต้องรองรับการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น การขยายเพิ่มสาขาโรงงานก็จำเป็นต้องทำ 

ดังนั้นผู้ประกอบการควรคำนึงถึงปัจจัยหลายๆ อย่าง รวมถึงขั้นตอนการเตรียมเอกสารและการยื่นเอกสารมีขั้นตอนที่มีความซับซ้อนอยู่มาก ซึ่งหากมองว่าการขออนุญาตตั้งโรงงานผลิต หรือการเพิ่มสาขาโรงงานมีความยุ่งยากไม่อยากลงมือทำเอง สามารถว่าจ้างสำนักงานบัญชีมืออาชีพเข้ามาให้ความช่วยเหลือได้เช่นกัน