ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

จ่ายค่าเช่าร้านขายเครื่องประดับ ยังต้องเสีย ภาษีค่าเช่า อีกหรือ ?

ภาษีค่าเช่า

ภาษีค่าเช่า …ธุรกิจค้าขายทุกประเภทที่มีหน้าร้าน ไม่ว่าจะเป็นขายอาหาร เสื้อผ้า เครื่องประดับ และอื่นๆ หากมีหน้าร้านหรือต้องตั้งแผงตามตลาดต่างๆ มักทราบดีว่า หากตนเองไม่ใช่เจ้าของพื้นที่ จะต้องเสียค่าเช่าสถานที่ขายสินค้าให้กับเจ้าของพื้นที่      

และหากจะกล่าวถึงร้านขายเครื่องประดับซึ่งมีหลายขนาด ตั้งแต่ขนาดเล็ก ใช้แค่แผงวางเครื่องประดับขนาด 1×1, 2×2 เมตร เรื่อยไปถึงร้านขายเครื่องประดับราคาแพง ใช้พื้นที่ใหญ่โตมีความปลอดภัยสูง หากไม่ใช่เจ้าของพื้นที่เอง ย่อมต้องเสียค่าเช่าสูงทั้งสิ้น 

โดยค่าเช่าที่เจ้าของร้านขายเครื่องประดับจ่ายให้กับผู้ให้เช่า จะมีความเกี่ยวข้องกับ ภาษีค่าเช่า ด้วยคือ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย และภาษีอากรแสตมป์ ดังนี้

– ในกรณีที่ผู้เช่าสถานที่ขายเรื่องประดับจดบริษัทเป็นนิติบุคคล จ่ายค่าเช่าให้กับผู้ให้เช่าที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้ ต้องคำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3%-5% ของค่าเช่า  

– สัญญาเช่าอสังหาริมทรัพย์ต้องปิดอากรแสตมป์ในอัตรา 1 บาท ต่อมูลค่าเช่าตามสัญญา ทุกจำนวน 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท 

ทั้งนี้ ภาษีค่าเช่า ยังมีความเกี่ยวข้องกับภาษีอื่นๆ อีกหรือไม่ และภาษีดังที่กล่าวไปแล้ว จะต้องปฏิบัติอย่างไร ไปเจาะลึกพร้อมกัน

ทำความเข้าใจภาษีค่าเช่า

ค่าเช่าสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า เช่น บ้าน ตึก แพขายของ เป็น ภาษีค่าเช่า ที่จัดอยู่เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 5 หรือมาตรา 40(5) คือเงินได้พึงประเมินในรูปของค่าเช่าทรัพย์สินทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ และรวมถึงรายได้จากการผิดสัญญาเช่าซื้อของผู้เช่า หรือผิดสัญญาซื้อขายเงินผ่อนด้วย   

โดยภาษีค่าเช่าลักษณะนี้ จะเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่าในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามประเภทอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าได้ดังนี้

– บ้าน อาคาร ตึก โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง แพ            หักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง   

– ที่ดินที่ใช้ในการเกษตร                                       หักค่าใช้จ่าย 20% หรือหักตามจริง

– ที่ดินที่ไม่ได้ใช้ในการเกษตร                               หักค่าใช้จ่าย 15% หรือหักตามจริง

– ค่าเช่ายานพาหนะ                                             หักแบบเหมา 30% หรือหักตามจริง

– ค่าเช่าทรัพย์สินอื่นๆ นอกเหนือจากนี้                   หักแบบเหมา 10% หรือหักตามจริง

 ทั้งนี้ หากเจ้าของธุรกิจขายเครื่องประดับ มีความจำเป็นต้องเช่าพื้นที่ในการประกอบกิจการค้าขายของตนเอง ผู้เช่ามีหน้าที่จ่ายค่าเช่า แต่ภาระการเสียภาษีค่าเช่า ในส่วนของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะเป็นหน้าที่ของผู้ให้เช่า ซึ่งหักค่าใช้จ่ายได้ 30% หรือหักตามจริง

ค่าเช่าร้าน กับ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย”  

ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เป็นภาษีค่าเช่าที่เกี่ยวข้องกับผู้เช่าที่จดทะเบียนนิติบุคคลเท่านั้น ที่สามารถหักภาษี ณ ที่จ่ายได้ โดยหลักการของภาษีหัก ณ ที่จ่ายค่าเช่าคือ 

1.ค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 5% หากเป็นการส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าให้กับผู้เช่า โดยผู้เช่าต้องดูแลทรัพย์สินที่เช่าเสมือนเป็นทรัพย์สินของตนเอง ทั้งบำรุงรักษาและการซ่อมแซม รวมถึงผู้เช่าเป็นคนถือกุญแจ จะนับเป็นค่าเช่าอสังหาริมทรัพย์ 

2.จ้างรับเหมาหรือบริการ หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ถ้ายืมสถานที่ไม่มีสิทธิ์ในการถือกุญแจ เช่น เช่าสถานที่เพื่อจัดงานต่างๆ ชั่วคราว จะถือว่าอยู่ในกลุ่มของจ้างรับเหมาหรือบริการ  

ดังนั้น ภาษีหัก ณ ที่จ่าย สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่เป็นผู้เช่าร้านขายเครื่องประดับ เมื่อจ่ายเงินค่าเช่าต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3%-5% ของเงินที่จ่าย (ตามเงื่อนไขด้านบน) ไม่ว่าผู้รับเงินจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล แต่ถ้าหากผู้เช่าต้องจ่ายค่าบริการ หรือค่าส่วนกลางอื่นๆ ในสถานที่เช่าด้วย จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา 3% ส่วนกรณีที่ผู้ให้เช่าพื้นที่ขายเครื่องประดับ เรียกเก็บเงินประกันหรือเงินมัดจำจากผู้เช่า กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกำหนดให้ผู้จ่ายเงินไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย และไม่ถือเป็นรายได้ของผู้ให้เช่า

โดยหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ผู้เช่ามีหน้าที่ต้องออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย ให้แก่ผู้ให้เช่า พร้อมนำเงินที่หักไว้ส่งให้สรรพากรภายในวันที่ 7-15 ของทุกเดือน หากผู้เช่าไม่ออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้ผู้เช่า จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท  

สัญญาเช่าต้องติดอากรแสตมป์ 

ภาษีค่าเช่าที่เกี่ยวข้องกับอากรแสตมป์ จะใช้ในกรณีที่มีการทำสัญญาเช่า กล่าวคือเมื่อเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า หรือผู้ให้เช่าสถานที่ขายเครื่องประดับ ได้มีการทำสัญญาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ตามหลักการแล้ว

ผู้ให้เช่ามีหน้าที่ต้องติดอากรแสตมป์ ในอัตรา 1 บาท ต่อมูลค่าสัญญาเช่าทุก 1,000 บาท หรือเศษของ 1,000 บาท และผู้เช่าเป็นผู้ขีดฆ่าแสตมป์” ตลอดอายุสัญญา 

แต่ถ้าหากไม่ได้กำหนดอายุสัญญาให้ถือว่ามีระยะเวลา 3 ปี กระทั่งเมื่อครบกำหนดแล้วยังมีการเช่าต่อไป จะถือว่าเป็นการทำสัญญาใหม่ และต้องเสียอากรแสตมป์สำหรับสัญญาภายใน 30 วัน 

ทั้งนี้ ผู้ให้เช่ากับผู้เช่าสามารถตกลงกันได้ว่า ใครจะเป็นผู้เสียภาษีค่าเช่าในส่วนของอากรแสตมป์ ซึ่งหากไม่ได้ทำการตกลงกันไว้ก็จะเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดดังที่กล่าวไปแล้วนั่นเอง หรือในสัญญาเช่าระบุให้ผู้เช่าเป็นผู้จ่ายภาษีเงินได้แทนผู้ให้เช่า ผู้ให้เช่าต้องนำเงินค่าภาษีที่ผู้เช่าออกแทนให้มาถือเป็นเงินได้พึงประเมินของผู้ให้เช่าด้วย  

ที่สำคัญคือไม่ควรหลีกเลี่ยงการติดอากรแสตมป์ เพราะจะมีผลกับเงินในกระเป๋าไม่น้อย โดยต้องเสียเงินเพิ่มนอกเหนือจากค่าอากรแสตมป์ที่ต้องเสีย นับจากวันทำสัญญาเช่าซึ่งไม่สามารถนำมาติดทีหลังได้ เช่น ปิดอากรแสตมป์หลัง 15 วัน แต่ไม่เกิน 90 วัน เสียเงินเพิ่ม 2 เท่า เกิน 90 วัน เสียเงินเพิ่ม 5 เท่า แต่ถ้าหากปล่อยให้ล่วงเลยจนกรมสรรพากรตรวจสอบพบ จะต้องเสียเงินเพิ่มถึง 6 เท่า  

 

สรุป

ภาษีค่าเช่าหลักๆ จะเกี่ยวข้องกับ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” คือ ผู้เช่าในนามนิติบุคคลเท่านั้นที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายค่าเช่าไว้ 3%-5% ของค่าเช่า ตามเงื่อนที่ได้กล่าวไปแล้ว และ “อากรแสตมป์” ในกรณีที่มีการทำสัญญา ผู้เช่าควรตกลงกับผู้ให้เช่าว่าใครจะเป็นผู้เสียภาษีอากรแสตมป์ ในอัตรา 1 บาท ต่อมูลค่าสัญญาเช่าทุก 1,000 บาทนี้ หรือหากไม่ได้มีการตกลงกัน ตามกฎหมายให้ผู้ให้เช่าเป็นผู้เสียอากรแสตมป์ และผู้เช่าเป็นผู้ขีดฆ่าแสตมป์