ภาษีร้านอาหาร …เจ้าของกิจการที่เปิดร้านอาหารแบบจริงจัง มีพื้นที่ให้นั่งรับประทานอาหารได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากจะต้องจดทะเบียนพาณิชย์แล้ว (อ่านวิธีการจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่นี่ “ขายอาหารต้อง… จดทะเบียนการค้าร้านอาหาร หรือไม่?”) ยังมีภาระทางด้านภาษีร้านอาหารที่เจ้าของกิจการต้องทำตามกฎหมายกำหนดด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงค่าปรับและภาษีย้อนหลังโดยไม่ทันตั้งตัว
ทั้งนี้ ภาษีร้านอาหาร สำหรับบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล จะมีทั้งที่เหมือนและแตกต่างกันบ้างตามรูปแบบของภาษีเงินได้ ซึ่งหากิจการเพิ่งเริ่มทำร้านอาหาร หรือกำลังคิดจะเปิดร้านอาหาร จำเป็นต้องเรียนรู้ ภาษีร้านอาหาร ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
ภาษีร้านอาหาร สำหรับบุคคลธรรมดา
ในกรณีที่เจ้าของกิจการร้านอาหารเลือกเสียภาษีในนามบุคคลธรรมดา จัดเป็นอาชีพเงินได้ประเภทที่ 8 หรือเงินได้ 40(8) หลักการเสียภาษีสำหรับธุรกิจกร้านอาหาร จะมี ภาษีร้านอาหาร ที่เกี่ยวข้องด้วยหลายประเด็น ซึ่งสามารถอธิบายได้ดังนี้
1.ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เป็นภาษีร้านอาหารที่เจ้าของกิจการร้านอาหารต้องยื่นภาษีเมื่อมีรายได้ 120,000 บาท/ปี แต่ไม่ต้องเสียภาษี กระทั่งเมื่อไหร่ที่มีรายได้เกิน 150,000 บาท/ปี จึงมีหน้าที่ต้องเสียภาษีด้วย โดยใช้วิธีการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามอัตราภาษีก้าวหน้าสูงสุด 35%
ช่วงเวลายื่นภาษีร้านอาหารปีละ 2 ครั้ง คือ
– ครั้งที่ 1 ยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.94) ช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน เป็นรายได้ 6 เดือนแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน โดยยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือยื่นออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th
– ครั้งที่ 2 ยื่นชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.90) ช่วงเดือนมกราคม – มีนาคม ของปีถัดไป นำรายได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – ธันวาคมมายื่นภาษี โดยนำภาษีที่จ่ายครั้งแรกมาหักออกจากภาษีที่คำนวณได้ในครั้งที่ 2 ซึ่งสามารถยื่นด้วยตัวเองที่สำนักงานสรรพากรทั่วประเทศ หรือยื่นออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน ที่เว็บไซต์ www.rd.go.th
2.ภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อใดที่เจ้าของกิจการร้านอาหารมีผลประกอบการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ภายใน 30 วัน และต้องเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากลูกค้า พร้อมทำการยื่นภาษีแบบ ภ.พ.30 ภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน (ข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่บทความ “จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนไหน และใครที่ควรจดบ้าง”)
3.ภาษีป้าย เป็นภาษีร้านอาหารที่กฎหมายกำหนดให้เจ้าของกิจการร้านอาหารจะต้องติดป้ายชื่อร้าน ดังนั้น ก็จะต้องเสียภาษีป้ายด้วย ซึ่งการติดป้ายชื่อร้าน ยี่ห้อ เครื่องหมายการค้า หรือการโฆษณาร้าน เป็นต้น จะต้องเสียภาษีตามพ.ร.บ.ภาษีป้าย พ.ศ.2510 โดยเก็บภาษีตามลักษณะป้าย ดังนี้
– ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยล้วน อัตราภาษีป้าย 5,10 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
– ป้ายที่มีอักษรภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น อัตราภาษีป้าย 26, 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
– ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ อัตราภาษีป้าย 50, 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.
4.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง หากเจ้าของกิจการได้ทำการเช่าพื้นที่ร้านอาหาร ซึ่งปกติจะต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าของพื้นที่ในการจ่ายภาษีในส่วนนี้ แต่ส่วนใหญ่จะผลักภาระมาให้กับผู้เช่า ดังนั้น จะต้องทำการตกลงให้ชัดเจนกับเจ้าของพื้นที่ว่าภาษีในส่วนนี้ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ
โดยอัตราภาษีที่ต้องเสียหากเป็นที่ดินจะใช้การประเมินทุนทรัพย์สิน และสิ่งปลูกสร้างจะใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์สิ่งปลูกสร้าง ดังนี้
มูลค่า 0-50 ล้านบาท อัตราภาษี 0.30%
มูลค่า >50 – 200 ล้านบาท อัตราภาษี 0.40%
มูลค่า >200 – 1,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.50%
มูลค่า >1,000 – 5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.60%
มูลค่า >5,000 ล้านบาท อัตราภาษี 0.70%
ภาษีร้านอาหาร สำหรับนิติบุคคล
สำหรับเจ้าของกิจการร้านอาหารที่เลือกดำเนินธุรกิจ โดยจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล กฎหมายกำหนดให้ต้องทำบัญชีและภาษีจากผู้จัดทำบัญชีตามหลักการบัญชี และยื่นแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสามารถใช้บริการรับทำบัญชีจากสำนักงานบัญชีได้ เพื่อลดภาระในเรื่องของการทำบัญชีและภาษีส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยภาษีที่เกี่ยวข้องกับกิจการร้านอาหารในนามนิติบุคคล ประกอบด้วย
1.ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีร้านอาหารสำหรับเจ้าของกิจการร้านอาหารที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้ว กำไรจากการขายอาหาร จะถูกนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งมีหลักการคำนวณคือ รายได้ทั้งหมด – ค่าใช้จ่าย = กำไรสุทธิ
และนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบกับตารางภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับกิจการที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี และมีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท จะได้รับสิทธิภาษีอัตราของ SME ดังนี้
กำไร 300,000 บาทแรก = ยกเว้นภาษี
กำไร 300,001 – 3 ล้าน = ภาษี 15%
กำไรมากกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไป = ภาษี 20%
โดยยื่นแบบชำระภาษีปีละ 2 ครั้ง คือ
– ครั้งที่ 1 ยื่นแบบชำระภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) ต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ครั้งที่ 2 ยื่นแบบชำระภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) ต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี
2.ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ในกรณีที่ร้านอาหารมีการจ้างพนักงานรายวัน มีบริการส่งอาหารผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ เช่น LINE MAN , Grab Food เมื่อจ่ายค่าบริการให้กับบริษัทขนส่งดังกล่าว หรือมีการจ้างทำโฆษณาโปรโมทร้าน เป็นต้น
ร้านอาหารมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ตามอัตราที่กฎหมายกำหนดแตกต่างกันตามประเภทการให้บริการ ตั้งแต่ 1%-5% และหลังจากหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว จะต้องยื่น ภ.ง.ด.3 กับ ภ.ง.ด.53 แก่สรรพากร โดยมีความแตกต่างกันคือ
– ภ.ง.ด.53 เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายกับนิติบุคคล ทั้งบริษัทจำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัด ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล
– ภ.ง.ด.3 เป็นการหักภาษี ณ ที่จ่ายกับบุคคลธรรมดา เช่น มีการจ้างลูกจ้างรายวันหัก 3% แล้วนำส่ง ภ.ง.ด.3 ให้กับกรมรรพากรในเดือนถัด
สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากบทความ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร? ทำไมก่อนจดบริษัทไม่เคยเจอ”
ทั้งนี้ ภาษีร้านอาหารอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีป้าย และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเหมือนกับรูปแบบบุคคลธรรมดา
สรุป
จากภาษีร้านอาหารที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าร้านอาหารทั้ง 2 แบบ คือแบบบุคคลธรรมดาและแบบนิติบุคคล มีภาษีที่เกี่ยวข้องแทบจะเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการวางแผนภาษีของร้านอาหารเองว่า มีการจัดการรายรับรายจ่ายได้ครอบคลุมขนาดไหน สามารถวางแผนลดหย่อนภาษีได้มากน้อยเพียงใด
หากวางแผนแล้วเกิดความผิดพลาดบ่อย เนื่องจากเอกสารร่ายรับจ่ายจ่ายค่อนข้างสูง ทำให้ต้องเสียภาษีเพิ่ม หรือคำนวณภาษีร้านอาหารแล้วมีฐานภาษีสูงกว่า 20% ก็ควรจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้งานบัญชีและภาษีเข้าระบบที่กฎหมายกำหนด จะลดความผิดพลาดได้มากกว่า และวางแผนภาษีได้ดีกว่านั่นเอง