ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร ไม่จำเป็นจริงหรือ

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร เป็นคำถามที่ผู้เริ่มต้นธุรกิจขนส่งมักสงสัยอยู่ตลอด ซึ่งตามความหมายของคำว่าการขนส่งก็คือ การขนคนหรือขนของส่งจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง ซึ่งจะต้องประกอบธุรกิจขนส่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม และถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% จากผู้ว่าจ้างที่เป็นนิติบุคคล ไม่ว่ากิจการขนส่งจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม

และนอกจากนี้ธุรกิจขนส่งยังมีภาษีที่เกี่ยวข้องอีกหลายประเด็น ทั้งที่ทำธุรกิจในนามบุคคลธรรมดาและที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จึงต้องศึกษาข้อมูลให้ดีเพื่อป้องกันปัญหาถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ซึ่งสามารถแยกย่อยภาษีที่เกี่ยวข้องได้ดังนี้

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร …ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร บ้างนั้น ตามที่ได้เกริ่นไปบ้างแล้วคือเรื่องของ “ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)” ซึ่งธุรกิจขนส่งเป็นธุรกิจที่ได้รับยกเว้น VAT และไม่มีสิทธิ์จด VAT แม้ว่าจะต้องการจด VAT ก็ตาม แต่ในบางกรณีถ้าหากมีบริการหรือขายสินค้าร่วมด้วย จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม  โดยแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

1.ธุรกิจขนส่งปกติ ขนส่งจากจุด A ไปจุด B จะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

2.ธุรกิจขนส่งที่มีบริการพ่วงด้วย จะไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น รถโม่ปูนผสมคอนกรีต รถห้องเย็น เพราะรถขนส่งไม่สามารถวิ่งไปเฉยๆ จากจุด A ไปจุด B ได้ ต้องมีการเปิดเครื่องโม่ปูนอยู่ตลอด หรือรถห้องเย็นต้องเปิดแอร์ทำความเย็นตลอดการขนส่ง การแพ็กของ การเช่าพื้นที่ จึงถือเป็นขนส่งที่พ่วงบริการ

หรือในกรณีที่มีการขายสินค้าเข้าไปด้วย ในส่วนของขนส่งจะได้ยกเว้น VAT แต่ในส่วนของบริการหรือขายสินค้าพ่วงด้วย ถ้ามีรายได้ในส่วนนี้เกิน 1.8 ล้านบาท เจ้าของธุรกิจขนส่งมีหน้าที่ต้องไปขอจดทะเบียน VAT ด้วย

ทั้งนี้ ธุรกิจขนส่งที่มีบริการพ่วงด้วย ตามกฎหมายบังคับให้ผู้มีรายได้จากการประกอบธุรกิจในส่วนของบริการและการขายเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยให้ยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท และนำส่งให้กรมสรรพากรทุกๆ เดือน นับตั้งแต่วันที่ยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นต้นไป

และที่สำคัญจะต้องไปขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่งกักรมการขนส่งทางบก เพื่อขออนุญาตทำธุรกิจขนส่งด้วย จึงจะได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติ ไม่ต้องนำค่าขนส่งในรวมในราคาสินค้า

         

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร …ภาษีหัก ณ ที่จ่าย

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร ต่อไปคือ “ภาษีหัก ณ ที่จ่าย” เป็นภาษีสำหรับธุรกิจขนส่งที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล โดยผู้ว่าจ้างงานหรือกิจการที่เป็นผู้จ่ายเงิน จะต้องเป็นคนหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ส่วนหนึ่งก่อนจ่ายเงินให้กับผู้รับจ้าง พร้อมออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ตามอัตราที่กฎหมายกำหนด

โดยหักภาษี ณ ที่จ่าย แตกต่างกันตามประเภทเงินที่จ่าย ดังนี้

– หากบริษัทขนส่งมีการจ้างรถมาร่วมวิ่งด้วย บริษัทไม่มีรถขนส่งของตนเอง บริษัทขนส่งผู้ว่าจ้างต้องจ่ายค่าจ้างให้กับรถร่วม ไม่ว่าจะเป็นรถร่วมในนามบุคคลธรรมดาหรือรถร่วมนิติบุคคล จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% แต่ถ้าเป็นการเช่ารถเพื่อใช้ในกิจการถือเป็นค่าเช่าให้หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

พร้อมออกหนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย (50 ทวิ) ให้กับผู้รับจ้าง เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีการจ้างงานขนส่งจริง ส่วนผู้รับจ้างก็ต้องนำไปยื่นภาษีสิ้นปีด้วย      

– ขนส่งปกติจากจุด A ไปจุด B บริษัทขนส่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายจากผู้ว่าจ้าง 1% ทุกครั้งที่มีการจ่ายเงินตั้งแต่ 1,000 บาท ขึ้นไป

– ขนส่งที่พ่วงบริการ บริษัทขนส่งจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%   

– ธุรกิจที่เป็นแฟรนไชส์ให้กับธุรกิจขนส่ง เช่น Kerry Express , J&T Express , Flash Express หากขนส่งจากจุด A ไปจุด B เท่านั้น แฟรนไชส์ผู้รับเงินถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% แต่กรณีที่เป็นการเก็บเงินปลายทาง แฟรนไชส์ผู้รับเงินจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3%  

 

ธุรกิจขนส่งเสียภาษีอะไร …ภาษีเงินได้

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

รายได้จากการขนส่งเป็นเงินได้ประเภท 8 มาตรา 40(8) สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบ คือเหมาจ่าย 60% หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายตามจริง ซึ่งหากเลือกหักตามจริงจะต้องมีเอกสารในการจ่ายที่พิสูจน์ผู้รับเงินได้ เช่น แนบสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับเงินและเซ็นรับเงินไว้ พร้อมกับเก็บไว้เพื่อเป็นหลักฐานด้วย

ทั้งนี้ วิธีคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้นำค่าใช้จ่ายตามจริงมาหักออกจากรายได้ที่ได้รับเข้ามาทั้งหมด กำไรที่เหลือให้นำมาหักลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท และลดหย่อนอื่นๆ (ถ้ามี) เช่น ค่าสงเคราะห์บุตร บิดามารดา บริจาค ดอกเบี้ยกู้บ้าน เป็นต้น เมื่อหักค่าใช้จ่าย ลดหย่อนต่างๆ แล้ว เหลือเท่าไร ให้นำไปเปรียบเทียบตารางภาษีก้าวหน้า

และเมื่อคำนวณแล้วพบว่าไม่เสียภาษี เจ้าของธุรกิจขนส่งสามารถขอเงินภาษีถูกหัก ณ ที่จ่ายที่ผู้ว่าจ้างหักไว้ก่อนหน้านี้คืนได้หรือหากคำนวณแล้วต้องเสียภาษี ก็สามารถนำภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ได้เคยถูกผู้ว่าจ้างหักไว้มาหักลบกับจำนวนภาษีที่ต้องเสียได้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

กิจการที่จดบริษัทเป็นนิติบุคคล ต้องมีการทำบัญชีและยื่นภาษีสิ้นปี ด้วยแบบ ภ.ง.ด.50 ซึ่งกิจการจะต้องมีการจ้างนักบัญชีเพื่อทำบัญชี งบการเงิน โดยเอกสารที่ต้องใช้ในการทำบัญชีธุรกิจขนส่งนิติบุคคล ประกอบด้วย

– ฝั่งรายรับ ได้แก่ ใบเสร็จรับเงินค่าขนส่ง หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย เอกสารด้านรายจ่าย Statement

– ฝั่งรายจ่าย ได้แก่ เอกสารที่จ่ายเป็นค่าน้ำมัน ทางด่วน ค่าซ่อมแซมรถ ค่าประกันรถที่นำมาวิ่งงาน ค่ารถร่วม (ถ้ามี)

และรวบรวมเอกสารทั้งหมดเพื่อส่งนักบัญชีลงข้อมูล พร้อมกับนำส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกเดือน ตลอดจนปิดงบการเงินรายปีส่งให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบ และส่งงบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและกรมสรรพากร (สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”)

 

สรุป

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เจ้าของธุรกิจขนส่งจะต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการขนส่งกับกรมการขนส่งทางบก จึงจะได้รับการยกเว้น VAT และถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 1% ในขณะที่ธุรกิจขนส่งพ่วงบริการจะได้รับยกเว้น VAT ในส่วนของค่าขนส่ง และถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 1% ส่วนค่าบริการจะยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ทั้งเจ้าของธุรกิจขนส่งในนามบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล