ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

แผนธุรกิจการทำ บัญชีคลินิกรักษาสัตว์ และขายอาหารสัตว์

บัญชีคลินิกรักษาสัตว์

บัญชีคลินิกรักษาสัตว์ …จากเดิมคนไทยนิยมการอยู่อาศัยเป็นครอบครัวขนาดใหญ่เปลี่ยนมาเป็นครอบครัวที่มีขนาดเล็ก มีการอยู่เป็นโสดเพิ่มมากขึ้น และแต่งงานช้าลง มีลูกช้าหรือไม่มีลูกเลย ทำให้การเลี้ยงสัตว์นั้นมีบทบาทเพิ่มขึ้นเพื่อเป็นเพื่อนคลายเหงา เป็นเสมือนหนึ่งในสมาชิกของครอบครัว ดังนั้นสัตว์เลี้ยงจึงมาเติมเต็มความเป็นครอบครัวที่สมบูรณ์ให้กับคนยุคนี้

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ในปัจจุบันมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสัตว์เลี้ยงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการให้บริการต่างๆ เกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงเกิดขึ้นมากมาย เช่น โรงพยาบาลสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ ร้านจำหน่ายอาหารสัตว์ สินค้า และอุปกรณ์ (Pet Shop) ตลอดจนถึงการให้บริการอาบน้ำตัดขน (Pet Grooming) สปาสัตว์ 

จะเห็นได้ว่ามูลค่าของตลาดในธุรกิจสัตว์เลี้ยงทวีสูงขึ้น จึงทำให้มีผู้คนจำนวนไม่น้อยคิดที่จะมาเปิดคลินิกรักษาสัตว์ ทั้งนี้เจ้าของกิจการคลินิกรักษาสัตว์จำเป็นต้องทราบปัจจัยอะไรบ้าง ที่ต้องคำนึงถึงหากจะเปิดคลินิกเป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน รวมถึง บัญชีคลินิกรักษาสัตว์ ว่ามีองค์ประกอบอย่างไรบ้างสามารถอธิบายได้ดังต่อไปนี้

 

รู้หลักทาง บัญชีคลินิกรักษาสัตว์

สำหรับการทำธุรกิจคลินิกรักษาสัตว์ จำเป็นต้องมีการวางแผนการทำบัญชีคลินิกรักษาสัตว์ เพราะจะช่วยเตรียมความพร้อมและสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ ทำให้สามารถตรวจสอบรายรับ-รายจ่าย และสถานะทางการเงินว่ามีความเป็นไปได้ตามแผนดำเนินการที่ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณา ได้แก่ การประมาณการ การลงทุน ฯลฯ อีกทั้งยังช่วยในการประเมินความเสี่ยงของธุรกิจ และโอกาสในการต่อยอดต่อไปได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้  

1.บัญชีต้นทุนคลินิกรักษาสัตว์ 

ต้นทุนค่าแรง เป็นรายจ่ายของคลินิกที่จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่เป็นค่าตอบแทนในการปฏิบัติงาน รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ที่จ่ายให้ในรูปของตัวเงิน ได้แก่ เงินเดือน ค่าจ้าง เงินประจำตำแหน่ง ค่าตอบแทนปฏิบัติงานนอกเวลางาน ค่ารักษาพยาบาล  ค่าประกันสังคม 

ต้นทุนค่าวัสดุ เป็นค่าใช้จ่ายวัสดุสิ้นเปลืองทุกประเภทที่ใช้ในการดำเนินงาน ได้แก่ ค่ายา ค่าเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องเอกซเรย์ อุปกรณ์ผ่าตัด เครื่องอัลตราซาวนด์ เครื่องมือวัดชีพจร กรงสำหรับใส่สัตว์ โต๊ะตรวจ วัสดุเชื้อเพลิง ค่าซ่อมแซมเครื่องมือต่างๆ ค่าไฟฟ้า โดยเฉพาะจากการใช้เครื่องปรับอากาศ ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้าไม่ทำแผนควบคุมไว้ตั้งแต่ต้นก็มักจะประสบปัญหารู้ตัวอีกทีค่าใช้จ่ายเหล่านี้ก็พุ่งสูงเกินจะควบคุมได้

ต้นทุนการลงทุน เป็นต้นทุนทางด้านก่อสร้างอาคาร ประกอบด้วย ระบบไฟฟ้า ระบบประปา ตกแต่งภายใน ค่าเสื่อมราคาสิ่งก่อสร้าง โดยคิดค่าเสื่อมราคาแบบเส้นตรง หากเป็นระบบเช่าก็ต้องเอาค่าเช่ามาลงเป็นค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นการซื้ออาคารซึ่งจะต้องผ่อนเป็นระยะยาว ก็ต้องมั่นใจว่าจะมีรายได้เข้ามาอย่างสม่ำเสมอหรือไม่ ซึ่งการกู้เงินจากธนาคารในปัจจุบันมีรายละเอียดเพิ่มเติมเพิ่มขึ้น เพราะไม่ใช่แค่เงินที่ธนาคารให้มา ยังต้องมีค่าทำประกันต่างๆ ที่ต้องเสียเพิ่ม ต้องวางอนาคตให้ยาวๆ     

2.ประเภทของต้นทุนทางบัญชีคลินิกรักษาสัตว์

การทำบัญชีคลินิกรักษาสัตว์ ในส่วนของการจัดประเภทของต้นทุนเพื่อการวางแผน ควบคุม และตัดสินใจลงทุน ซึ่งต้นทุนที่ผู้ประกอบการคลินิกรักษาสัตว์ใช้ในการกำหนดต้นทุนนั้นอาจจะแตกต่างกันไป ดังนั้นต้นทุนที่ใช้ในการควบคุมตามวัตถุประสงค์สามารถจำแนกออกได้ดังนี้ 

ต้นทุนผันแปร เป็นต้นทุนที่มีต้นทุนรวมเปลี่ยนแปลงตามสัดส่วนของการเปลี่ยนแปลงในระดับปริมาณการผลิตในขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยจะคงที่ เท่ากันทุกๆ หน่วย โดยทั่วไปแล้วต้นทุนผันแปรสามารถที่จะควบคุมได้ 

ต้นทุนคงที่ เป็นต้นทุนที่มีพฤติกรรมคงที่ หมายถึงต้นทุนรวมที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง

ต้นทุนที่ควบคุมได้ เป็นต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่สามารถระบุได้ 

ต้นทุนที่ควบคุมไม่ได้ เป็นต้นทุนที่ไม่สามารถที่จะกำหนดต้นทุนให้เพิ่มหรือลดลงได้ เช่น การกู้ยืมเงินจากหุ้นส่วนคลินิก เป็นต้น

ดังนั้นการควบคุมหรือลดต้นทุนต้องใช้ระบบการบัญชีต้นทุนที่ค่อนข้างละเอียด โดยต้องรู้ว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นมาจากจุดไหน เพิ่มขึ้นเพราะอะไร และที่สำคัญเท่าๆ กันก็คือ ต้องรู้จำนวนต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง และจำนวนต้นทุนที่เหมาะสมที่ควรเกิดขึ้น ถ้าไม่มีข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าระบบบัญชีต้นทุนให้ผลดีต่อการควบคุมต้นทุนได้ 

3.การบันทึกข้อมูลรายรับรายจ่ายบัญชีคลินิกรักษาสัตว์

ตามหลักการทางบัญชี รายได้หรือรายรับสำหรับคลินิกรักษาสัตว์ สามารถแบ่งได้เป็น 2 กรณีด้วยกัน คือ กรณีรายรับที่เกิดจากการให้บริการรักษาสัตว์เลี้ยง และอีกกรณีเป็นรายรับจากการขายอาหารสัตว์ สินค้าให้กับสัตว์เลี้ยง 

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เจ้าของกิจการจะต้องนำมาบันทึกเป็นรายรับและรายจ่ายและทำบัญชี สามารถแบ่งออกได้ดังนี้

– รายได้หลัก เป็นรายรับจากการให้บริการรักษาสัตว์เลี้ยงภายในคลินิก เช่น ทำหมัน ผ่าตัด เย็บแผลทั่วไป ตรวจเพาะเชื้อ การตรวจคลื่นหัวใจ ตรวจตา เป็นต้น

– รายได้เสริม เป็นรายรับจากการจำหน่ายอุปกรณ์ดูแลรักษาสัตว์ต่างๆ เช่น ขนม อาบน้ำและตัดแต่งขน เชือกและอุปกรณ์ลากจูง ของเล่น ยา คอลล่า อาหารสัตว์ เป็นต้น 

– ค่าใช้จ่าย เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการโดยตรง และค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอื่นๆ เช่น ค่าจ้างสัตวแพทย์ปฏิบัติการ เงินเดือนผู้ช่วยสัตวแพทย์ สวัสดิการ ค่าเช่า ค่าซ่อมแซม บำรุงรักษา ค่าใช้จ่ายในด้านการตลาด ค่าส่งเสริมการขาย ค่าประกันภัย ค่าเสื่อมราคาทรัพย์สิน ดอกเบี้ยจ่าย ค่าที่ปรึกษา ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าขนส่ง เป็นต้น    

โดยทั้งหมดนี้หากคลินิกรักษาสัตว์เสียภาษีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา จะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามจริงเท่านั้น (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความ “เปิดข้อมูล ภาษีคลินิกรักษาสัตว์ ต้องเสียอะไรบ้าง”) จึงต้องเก็บเอกสาร ใบเสร็จต่างๆ ไว้ให้ครบถ้วน และควรลงบันทึกรายรับรายจ่ายทุกครั้ง เพื่อให้เป็นหลักฐานตอนยื่นภาษี ส่วนคลินิกรักษาสัตว์ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล กฎหมายกำหนดให้ทำบัญชีโดยนักบัญชีที่มีคุณสมบัติตรงตามที่กำหนด ซึ่งสามารถใช้บริการรับทำบัญชีจากสักงานบัญชีที่มีคุณภาพทั่วไปได้  

 

กล่าวโดยสรุป เมื่อคิดจะเปิดคลินิกรักษาสัตว์ ลำดับแรกๆ ที่ควรคำนึงถึงในการทำบัญชีคลินิกรักษาสัตว์คือ ต้นทุน ต้องทำแผนควบคุมให้อยู่เพื่อไม่ให้งบบานปลาย และในส่วนของการทำบัญชี ต้องใช้ข้อมูลที่เกิดขึ้นจริง มีความละเอียด เพื่อให้การยื่นภาษีถูกต้อง ไม่ต้องกลับมานั่งกังวลว่าจะถูกเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหรือไม่