ภาษีร้านรับซื้อของเก่า …เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ประกอบการร้านรับซื้อของเก่าจำนวนมาก มีแบบขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงินลงทุนด้วย เช่น กลุ่มที่มีเงินทุนเยอะก็จะมีสถานที่รับซื้อที่แน่นอนเป็นหลักแหล่ง ส่วนใหญ่จะมีหน้าร้านรับซื้อชัดเจนและเป็นในรูปแบบบริษัท ส่วนอีกกลุ่มเป็นผู้ที่มีเงินทุนไม่เยอะไม่มีสถานที่รับซื้อเป็นหลักแหล่ง ไม่มีหน้าร้าน
ดังนั้น ตามกฎหมายหากธุรกิจร้านรับซื้อของเก่ามีรายได้ ก็มีหน้าที่ต้องเสียภาษี ซึ่งขั้นตอนวิธีการ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับ ภาษีร้านรับซื้อของเก่า จะมีอะไรบ้าง ลองมาค้นหาคำตอบที่จะกล่าวต่อไปนี้ได้เลย
เปิดร้านรับซื้อของเก่า…ต้องเสีย ภาษีร้านรับซื้อของเก่า อะไรบ้าง
เจ้าของธุรกิจรับซื้อของเก่ามีความจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับการรับซื้อของเก่าให้ดีเสียก่อน ไม่ว่าจะเป็นการรับซื้อของเก่าจากวัสดุที่ใช้แล้ว นำมาคัดแยก รวมถึงการจัดหมวดหมู่ของเก่า แต่มีอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจรับซื้อของเก่าต้องทราบ และดำเนินการก่อนเปิดธุรกิจ คือ เงินลงทุน สถานที่ อุปกรณ์ หากจะเปิดแบบมีผู้ดูแลธุรกิจเพียงคนเดียว ให้เลือกการเสียภาษีแบบบุคคลธรรมดาจะดีกว่า แต่ถ้าหากมีผู้ร่วมหุ้นหลายคนอยากเปิดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ มีการขยายสาขา แนวโน้มว่ามีรายจ่ายเยอะ ควรเลือกจดทะเบียนแบบนิติบุคคล
นอกจากที่กล่าวมาแล้วมีใครทราบบ้างว่าการเปิดธุรกิจรับซื้อของเก่าจะมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องภาษีร้านรับซื้อของเก่าอย่างไรบ้าง
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หากเจ้าของร้านรับซื้อของเก่ามีรายได้จากการรับซื้อของเก่า และเป็นผู้ประกอบการเพียงคนเดียวให้ถือเป็นผู้มีเงินได้แบบบุคคลธรรมดา จึงจำเป็นต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร โดยทำการหักค่าใช้จ่ายแบบเหมารวมได้ถึง 60% และการเสียภาษีร้านรับซื้อของเก่าจะต้องจ่าย 2 รอบด้วยกัน คือ
-แบบ ภ.ง.ด.90 สำหรับผู้ที่มีเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม ของปีภาษี สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มีนาคม ของปีถัดไป
-แบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับผู้ที่มีเงินได้ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน สามารถยื่นภาษีได้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-กันยายน ของปีถัดไป
ภาษีเงินได้นิติบุคคล
เมื่อเจ้าของร้านขายของเก่าจัดตั้งบริษัทและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ภาษีร้านรับซื้อของเก่าที่เจ้าของร้านขายของเก่าต้องรู้จักและทำความเข้าใจคือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นภาษีบริษัทที่คำนวณจากกำไรสุทธิที่บริษัทนิติบุคคลมีหน้าที่ต้องจ่ายหากเข้าเกณฑ์กำหนด ซึ่งวิธีการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลคือ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) = กำไรสุทธิ
จากนั้นนำกำไรสุทธิที่ได้มาเปรียบเทียบอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 20%
ทั้งนี้ กิจการมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีนิติบุคคล 2 รอบ ซึ่งประกอบด้วย ภ.ง.ด.50 และ ภ.ง.ด.51 ลักษณะการใช้งานต่างกันคือ
– ภ.ง.ด.51 สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี
– ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี (สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ แนวทางวางแผนภาษี “นิติบุคคล”)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
สำหรับเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้านต่อปีไม่ว่าจะเป็นแบบบุคคลธรรมดาหรือแบบนิติบุคคลก็ตาม จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีกด้วย ซึ่งเจ้าของร้านรับซื้อของเก่าจะต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วัน นับตั้งแต่ที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท
หลังจากนั้นหากเจ้าของร้านรับซื้อของเก่ามีการขายสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อย่าลืมว่าต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าทุกครั้ง (สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ใบกำกับภาษี แบบเต็มรูป VS อย่างย่อ ใช้หักภาษีต่างกันอย่างไร)
ภาษีหัก ณ ที่จ่าย
หากร้านรับซื้อของเก่ามีการว่าจ้างพนักงาน หรือมีการเช่าสถานที่เพื่อเปิดกิจการ ก็ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ ซึ่งถือเป็นภาษีร้านรับซื้อของเก่า เช่น หากร้านรับซื้อของเก่ามีการจ่ายเงินเดือนหรือโบนัส ให้แก่พนักงาน ทางร้านจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ โดยนำส่งด้วยแบบ ภ.ง.ด.3 หรือ ภ.ง.ด. 53 เพื่อนำส่งกรมสรรพากร ภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป
นอกจากนี้ถ้าทางร้านรับซื้อของเก่ามีการเช่าสถานที่เพื่อใช้ประกอบกิจการ ผู้เช่าในนามนิติบุคคล เมื่อจ่ายค่าเช่าแล้ว จำเป็นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ด้วยเช่นกัน หรือสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย คืออะไร ทำไมก่อนจดบริษัทไม่เคยเจอ
แค่รู้ภาษีร้านรับซื้อของเก่าเบื้องต้น ขั้นตอนถัดไปก็สบายหายห่วง
ดังที่กล่าวมาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า การเสียภาษีร้านรับซื้อของเก่านั้น เป็นการเสียภาษีขั้นพื้นฐานที่เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่ทราบดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเปิดเป็นร้านรับซื้อของเก่าในนามบุคคลธรรมดา หรือจดทะเบียนแบบนิติบุคคล การเสียภาษีมีความแตกต่างกันพอสมควรในเรื่องของอัตราภาษี หากเป็นบุคคลธรรมดาจะเสียภาษีสูงสุด 35% ส่วนนิติบุคคลจะเสียภาษีสูงสุดที่ 20%
ด้วยเหตุนี้กิจการจำเป็นต้องพิจารณาภาษีร้านรับซื้อของเก่าของตนเอง ว่าตอนนี้เสียภาษีอยู่กี่เปอร์เซ็นต์ ถึงเวลาที่ควรจดบริษัทเป็นนิติบุคคลแล้วหรือยัง