ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

ใบกำกับภาษี แบบเต็มรูป VS อย่างย่อ ใช้หักภาษีต่างกันอย่างไร

ใบกำกับภาษี

จากสถิติพบว่าธุรกิจที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล จะช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลง เพราะคำนวณภาษีจากกำไรสุทธิ หากกิจการมีต้นทุน ค่าใช้จ่ายสูงก็นำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ รวมถึงกิจการใดที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ก็สามารถนำภาษีซื้อไปหักกับ ใบกำกับภาษี ที่กิจการออกให้กับผู้ซื้อ (ภาษีขาย) ได้ หรือขอคืนภาษีซื้อได้ด้วย

ดังนั้น หากกิจการใดมีการจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ก็มีหน้าที่ต้องออก ใบกำกับภาษี ให้กับผู้ซื้อทุกครั้ง ตลอดจนเมื่อมีการซื้อของเข้าบริษัท ก็ต้องขอ ใบกำกับภาษี ทุกครั้งเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษี ซึ่งใบกำกับภาษีแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและใบกำกับภาษีอย่างย่อ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ต่างกันดังนี้

ใบกำกับภาษีคืออะไร จำเป็นต้องทำหรือไม่

ตามหลักการเมื่อผู้ประกอบการมีรายได้จากการประกอบธุรกิจเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี ต้องจดภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยยื่นจดไม่เกิน 30 วัน นับจากวันที่มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท

จากนั้นเมื่อมีการซื้อขายและบริการเกิดขึ้น ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องออกใบกำกับภาษี (TAX INVOICE) ให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในแต่ละครั้ง (อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มได้จากบทความ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตอนไหน และใครที่ควรจดบ้าง)

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะต้องยื่นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) แก่สรรพากรภายในวันที่ 15 ของทุกเดือน พร้อมกับเก็บเอกสารใบกำกับภาษี และรายงานภาษีซื้อ ภาษีขาย เอาไว้เป็นหลักฐาน

โดยส่วนใหญ่กิจการจะรวบรวมใบกำกับภาษีและเอกสารทางบัญชีส่งให้กับสำนักงานบัญชีที่รับทำบัญชี เป็นผู้ลงบันทึกรายการต่างๆ ให้ เพื่อความถูกต้องและสะดวกกว่าการทำบัญชีเอง

 

รูปแบบการจัดทำ “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป” และการนำไปใช้หักภาษี

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เป็นเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม จะต้องจัดทำทุกครั้งที่มีการซื้อขายหรือให้บริการ ยกเว้นผู้ประกอบการค้าปลีกมีสิทธิ์ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ซึ่งการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จำเป็นจะต้องมีความถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นใบกำกับภาษีนั้นจะไม่สามารถใช้ได้

โดยมีวิธีจัดทำและรายละเอียดที่จำเป็นต้องมีในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปดังนี้

1.วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

– รายการในใบกำกับภาษีให้ทำเป็นภาษีไทย หรือจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในฉบับเดียวกันก็ได้ ถ้าจะทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องขออนุญาตต่ออธิบดีกรมสรรพากร

– หน่วยเงินตราในใบกำกับภาษีต้องเป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค ถ้าจะจัดทำเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร

– ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้

– ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ต้องมีรายการครบถ้วน

– รายการในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จะต้องไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการขีด ฆ่า ขูด ลบ โดยยางลบ หรือใช้ยาหมึก ตกแต่ง ต่อเติม หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

2.รายละเอียด 13 ข้อที่ต้องมีในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

– ต้องมีคำว่า “ใบกำกับภาษี” ที่เห็นชัดเจน

– เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย

– เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ กรณีเป็นบุคคลธรรมดาให้ใช้เลขบัตรประจำตัวประชาชน หากไม่สะดวกระบุแค่ชื่อและที่อยู่ ไม่ต้องใส่เลขบัตรประจำตัวประชาชนได้

– ชื่อและที่อยู่ของผู้ขาย

– ชื่อและที่อยู่ของผู้ซื้อ

– ระบุสำนักงานใหญ่ หรือ “สาขาที่…” ของผู้ขาย

– ระบุสำนักงานใหญ่ หรือ “สาขาที่…” ของผู้ซื้อ

– วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี ให้ใช้ตัวเลขแทนการระบุชื่อเดือนได้ และใช้พุทธศักราชหรือคริสต์ศักราชได้

– เลขที่ของใบกำกับภาษี

– หมายเลขลำดับของเล่ม(ถ้ามี)

– ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ (ให้ระบุเฉพาะสินค้าหรือบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีเท่านั้น แต่ถ้ามีความจำเป็นต้องระบุสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้อง

เสียภาษีมูลค่าเพิ่มลงในใบกำกับภาษีด้วย ต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือแยกรายการแสดงให้เห็นชัดเจน

ว่าเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม)

– จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ต้องแยกแสดงจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน

– กรณีมีเอกสารอื่นประกอบชุดของใบกำกับภาษีจะต้องมีคำว่า “เอกสารออกเป็นชุด” และ “ต้นฉบับ” ในใบกำกับภาษี

         

รูปแบบการจัดทำ “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” และการนำไปใช้หักภาษี

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นเอกสารหลักฐานที่ผู้ประกอบการค้าปลีกที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านขาของชำ ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า โรงแรม โรงหนัง ซ่อมแซมทุกชนิด สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากกรมสรรพากร ส่วนกิจการที่ไม่มีลักษณะค้าปลีก ควรขออนุมัติจากสรรพากรในการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อเสียก่อน

โดยผู้ประกอบการต้องออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทุกครั้งที่มีการซื้อขายและบริการ และต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปทันทีเมื่อมีการร้องขอจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งมีวิธีจัดทำและรายละเอียดที่จำเป็นต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อดังนี้

 1.วิธีการจัดทำใบกำกับภาษีอย่างย่อ

เนื่องจากกฎหมายไม่ได้เคร่งครัดในเรื่องของการจัดทำรายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ เท่ากับการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เพราะภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อหรือเครดิตภาษีได้ แต่นำไปเป็นหลักฐานหักเป็นต้นทุนค่าใช้จ่าของกิจการได้

และกรณีที่มีรายการอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อ ก็สามารถทำได้ เช่น ใบกำกับภาษีอย่างย่อบางฉบับ นอกจากรายการตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว ยังมีรายการราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่มที่แยกออกจากกันก็สามารถมีได้

2.รายละเอียดที่จำเป็นที่ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อ

– มีคำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”

– ชื่อหรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ออกใบกำกับภาษี

– หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีและหมายเลขลำดับของเล่ม(ถ้ามี)

– ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือบริการ

– ต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

– วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

 

ลักษณะความแตกต่างระหว่าง “ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป” กับ “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
ต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการอย่างชัดเจน ไม่ต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
ต้องแสดงชื่อ ชนิด และประเภทสินค้าอย่างชัดเจน ชื่อ ชนิด และประเภทสินค้าสามารถแสดงเป็นรหัสได้
ต้องแสดงภาษีมูลค่าเพิ่มแยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน มีข้อความแสดงให้เห็นชัดเจนว่าราคาสินค้าหรือบริการนั้นมีการรวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภ.พ.30 ได้ ไม่สามารถนำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อนำส่ง ภ.พ.30 ได้

 

ข้อความใบกำกับภาษีจาง ออกใบแทนใบกำกับภาษีได้

ในกรณีที่ใบกำกับภาษีซื้อเป็นกระดาษความร้อน ซึ่งเก็บไว้นานข้อความจะจางหายไป จะถือว่าไม่มีใบกำกับภาษีซื้อหรือไม่อาจแสดงใบกำกับภาษีได้ว่ามีการชำระภาษีซื้อ ดังนั้น ก็ไม่สามารถนำมาขอคืนภาษีซื้อ หรือหักออกจากภาษีขายได้

หรือหากว่าได้ถ่ายสำเนาใบกำกับภาษีซื้อไว้ เอกสารดังกล่าวถือเป็นสำเนาใบกำกับภาษีซื้อ ไม่สามารถนำภาษีซื้อมาขอคืนหรือนำไปหักภาษีขายได้เช่นกัน ซึ่งวิธีแก้ไขให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางภาษีได้ ให้ใช้วิธีถ่ายสำเนาใบกำกับภาษีไว้ และในภาพถ่ายสำเนา หรือด้านหลังของภาพถ่ายสำเนาดังกล่าว ให้บันทึกรายการดังต่อไปนี้

1.ใบแทนออกให้ครั้งที่

2.วัน เดือน ปี ที่ออกใบแทน

3.คำอธิบายเล็กน้อย ถึงสาเหตุที่ออกใบแทน

4.ลงลายมือชื่อของผู้ออกใบแทน

เราอาจยิ้มร่าเมื่อเห็นกำไรจากการประกอบกิจการ และความเบิกบานอาจหมดไปเมื่อเห็นภาษีที่ต้องเสีย แต่ก็เป็นหน้าที่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่ดี ด้วยเหตุนี้การหาวิธีหักภาษีแบบถูกต้อง หนึ่งในนั้นคือการให้ความสำคัญในรายละเอียดของใบกำกับภาษี จะช่วยให้กลับมายิ้มเบิกกว้างได้อีกครั้งนั่นเอง