ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

เปิด 5 ช่องทาง! จดทะเบียนแฟรนไชส์ ที่เจ้าของธุรกิจต้องทำ

จดทะเบียนแฟรนไชส์

จดทะเบียนแฟรนไชส์ …เรามักเห็นธุรกิจค้าขายที่ชื่อร้านเดียวกัน ขายเหมือนกัน รูปแบบร้านก็ยังเหมือนกัน กระจายอยู่ทุกพื้นที่ตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ อย่างเช่น ชานมไข่มุก ลูกชิ้นปลาทอด วาฟเฟิล ชาชัก ก๋วยเตี๋ยว เครป kfc เซเว่น อเมซอน เป็นต้น 

โดยส่วนใหญ่จะเป็นการซื้อแฟรนไชส์จากเจ้าของธุรกิจผู้ริเริ่มอาชีพต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเจ้าของธุรกิจจะต้องมีการ จดทะเบียนแฟรนไชส์ ด้วย เพื่อให้การดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ของตนเองถูกต้องตามกฎหมาย และเป็นการรักษาสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง 

ดังนั้น ในมุมของเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ เมื่อดำเนินกิจการมาจนประสบความสำเร็จ และต้องการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ซื้อ จะต้องดำเนินการจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับแฟรนไชส์ของตนเองดังนี้

1.จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ

การจดทะเบียนแฟรนไชส์สำหรับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ จำเป็นต้องทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการเป็นอันดับแรก เพราะเมื่อใดที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ได้ทำสัญญาแฟรนไชส์กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ จะทำให้เครื่องหมายการค้าและบริการนี้ถูกซื้อไปโดยผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยอยู่ภายใต้การบริหารระบบแฟรนไชส์เจ้าของธุรกิจ แต่ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์ไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ก่อนล่วงหน้า อาจทำให้มีผู้ลอกเลียนแบบและนำไปจดทะเบียนก่อนเจ้าของแฟรนไชส์ตัวจริงได้ 

ดังนั้น เจ้าของแฟรนไชส์จะต้องทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการไว้ก่อน โดยแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

1.เครื่องหมายการค้า คือสินค้าที่จับต้องได้ เป็นสิ่งของที่มีตัวตน 

2.เครื่องหมายบริการ คือเครื่องหมายใช้กับธุรกิจบริการ เช่น สัญลักษณ์ของสายการบิน เป็นต้น 

เมื่อจดทะเบียนสัญลักษณ์สินค้าต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะให้เป็นเครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายบริการ หรือถ้าหากให้ทำหน้าที่ทั้งสองอย่าง ต้องจดเป็น 2 ใบ คือคำขอเครื่องหมายการค้า และอีกคำขอเป็นเครื่องหมายบริการ 

โดยเจ้าของแฟรนไชส์ต้องใช้บริการตรวจค้นเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ ก่อนยื่นคำขอจดทะเบียน โดยนำรูปเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการที่จะจดทะเบียน ไปติดต่อขอตรวจค้นที่ศูนย์บริการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ หรือทางอินเตอร์เน็ต

 

2.จดสัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและบริการ

สัญญาอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ คือ สัญญาเป็นหนังสือที่เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ ตามที่จดทะเบียนเอาไว้ (เจ้าของแฟรนไชส์) และอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการ สำหรับสินค้าและบริการที่ได้จดทะเบียนไว้ทั้งหมดหรือบางอย่างก็ได้ โดยคำขอจดทะเบียนนี้ต้องแสดงรายละเอียดที่สำคัญคือ

2.1 เงื่อนไขหรือข้อกำหนดระหว่างเจ้าของเครื่องหมายการค้าและบริการนั้นๆ และผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตที่ทำให้เจ้าของเครื่องหมายบริการนั้น จะสามารถควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการของผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตได้อย่างแท้จริง

2.2 สินค้าและบริการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและบริการนั้น ซึ่งผู้ซื้อแฟรนไชส์อาจสั่งซื้อที่อื่น หรือจากเจ้าของแฟรนไชส์ แล้วแต่ว่าทั้ง 2 จะตกลงกัน โดยแบ่งประเภทออกมาว่าเป็นสินค้าและบริการอะไรบ้าง

2.3 ผู้ขอจดทะเบียนเป็นผู้ได้รับอนุญาตมีสิทธิ์ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการนั้นแต่ผู้เดียว หรือเจ้าของเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการ อาจอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายเหล่านั้นอีกได้

 

3.จดทะเบียนแฟรนไชส์

การทำธุรกิจแฟรนไชส์ในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดว่า ต้องจดทะเบียนแฟรนไชส์ แต่เจ้าของแฟรนไชส์กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ตกลงทำสัญญาลงนามกันไว้ทั้ง 2 ฝ่าย และปฏิบัติต่อกันเหมือนสัญญาต่างตอบแทน เจ้าของแฟรนไชส์มีหน้าที่สอนการทำธุรกิจให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์จ่ายเงินให้เป็นค่าแฟรนไชส์ หรือเรียกว่าค่าธรรมเนียม  

ผู้ที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ จะต้องขึ้นทะเบียนการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ และให้ข้อมูลทำตามแบบฟอร์มที่กำหนดไว้ เช่น ชื่อ ประเภท ที่ตั้ง หลักฐานผลกำไรการประกอบการ สัญญาแฟรนไซส์ และเอกสารอื่นๆ ตามที่กำหนด เป็นต้น 

 

4.จดทะเบียนพาณิชย์

การจดทะเบียนแฟรนไชส์ ในส่วนของการจดทะเบียนพาณิชย์ สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์ จะต้องอยู่ในลักษณะที่ทำหรือขายเป็นประจำ มีที่ตั้งร้านเป็นหลักแหล่งถาวร ซึ่งสามารถขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ 

4.1 ในเขตกรุงเทพมหานคร    

– สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร รับจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร

– ฝ่ายปกครอง สำนักงานเขตทุกแห่ง รับจดทะเบียนพาณิชย์สำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่ของเขตนั้น

4.2 ในภูมิภาค ยื่นจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่ เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยา รับจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบธุรกิจที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในท้องที่เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล หรือเมืองพัทยาแล้วแต่กรณี สามารถอ่านข้อมูลการขอจดทะเบียนพาณิชย์ได้ที่บทความ “ทำไมต้องจด ทะเบียนพาณิชย์ และใครบ้างที่ต้องจด”

 

5.จดทะเบียนนิติบุคคล

ในกรณีที่เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มีการขยายธุรกิจแบบรวดเร็ว ทำให้รายรับรายจ่ายมีเข้าออกจำนวนมาก การดำเนินกิจการในรูปแบบบุคคลธรรมดาอาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้ซื้อแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้การควบคุมการเงินและภาษียากยิ่งขึ้น 

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องตัดสินใจจดบริษัทเป็นนิติบุคคลคล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และให้งานบัญชีเข้าระบบตามกฎหมายกำหนด จะง่ายต่อการการดำเนินกิจการและมีผลทางภาษีในทางที่ดีขึ้นอีกด้วย (ศึกษาแนวทางการจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลได้ที่บทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”)   

 

สรุป

สุดท้ายคือ เจ้าของแฟรนไชส์ต้องจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการก่อน เพราะถ้าไม่มีเครื่องหมายการค้า จะไม่สามารถขายแฟรนไชส์ได้ และเมื่อมีผู้ซื้อแฟรนไชส์ในบางแฟรนไชส์ต้องมีการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการของแฟรนไชส์ด้วย  

โดยเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มีหน้าที่ต้องจัดการให้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการขายแฟรนไชส์ให้กับผู้ซื้อที่สนใจ นอกจากจะถูกกฎหมายแล้ว ยังเพื่อป้องกันการขโมยไอเดียไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการแทน ทำให้เจ้าของแฟรนไชส์เกิดความเสียหายได้ 

นอกจากธุรกิจแฟรนไชส์ จะต้องจดทะเบียนแฟรนไชส์หลายประเภทแล้ว เจ้าของธุรกิจยังมีความจำเป็นที่จะต้องจดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคลด้วย เนื่องจากจะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ และสามารถวางแผนรายรับรายจ่ายได้อย่างเป็นระบบมากกว่า รวมถึงภาษีที่ต้องเสียก็จะน้อยลงด้วยนั่นเอง