สรรพากรเรียกพบ รู้ได้ยังไงว่ามีรายได้ …. คงไม่ใช่เรื่องปกติแน่หากทาง สรรพากรเรียกพบ ทำเอาผู้ถูกเรียกถึงกับกุมขมับกันเลยทีเดียว ว่าเราไปทำผิดอะไร หรือมีข้อสงสัยอะไร หรือแค่อาจจะเชิญไปเป็นพยานให้ข้อมูลเพิ่มเติมในบ้างเรื่องก็ได้ ดังนั้น เมื่อถูกเรียกพบต้องไปพบตามวันนัดหมายที่กำหนด เตรียมข้อมูล เอกสารต่างๆ ให้พร้อม
ถ้าหากเป็นการเรียกพบเพื่อชี้แจงเรื่องเงินได้ เช่น ขอพบเรื่องรายได้ที่ยื่นภาษีบุคคลธรรมดาขาดไป หรือตรวจสอบพบว่ามีรายได้แต่ไม่ได้ยื่นภาษี คำถามที่ตามมาคือ แล้วสรรพากร รู้ได้อย่างไรว่ามีรายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทางกรมสรรพากรสามารถตรวจสอบรายได้ได้หลายวิธีด้วยกัน
พนักงานประจำ
สำหรับพนักงานประจำที่ทางบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนผ่านธนาคาร นอกจากเราจะต้องเป็นคนนำข้อมูลจากใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย) ซึ่งเป็นใบแจ้งรายได้ทั้งปีของเรา ที่ทางบริษัทออกให้ไปยื่นภาษีเงินได้แล้ว ทางบริษัทก็จะมีเอกสารชี้แจงเงินได้ของเราส่งทางกรมสรรพากรด้วยอีกทางหนึ่ง (ภงด.1, ภงด.1ก) จึงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับสรรพากรในการตรวจสอบ
สถาบันการเงิน ผ่านระบบ E-PAYMENT
E-PAYMENT เป็นระบบที่สามารถโอนเงิน ชำระเงินผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านสมาร์ทโฟน และทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบัตรเครดิต โดยรายได้จากการฝากหรือโอนเงินเข้าบัญชี ไม่ว่าจะผ่านช่องทางสมาร์ทโฟน บัตรเครดิต หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลให้สรรพากร ซึ่งได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารภาครัฐ รวมถึงผู้ให้บริการด้านการเงินอื่นๆ อย่าง Payment Gateway, e-Wallet เช่น ทรูมันนี่ เอ็มเพย์ แรบบิทไลน์ เพย์ มีหน้าที่ต้องรายงานธุรกรรมการฝากหรือรับโอนเงิน ทั้งที่เสียภาษีแบบบุคคลธรรมดา และที่จดทะเบียนนิติบุคคล หากถึงเงื่อนไขจะต้องส่งข้อมูลให้กับสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษี ดังนี้
1.มีเงินเข้าบัญชี 3,000 ครั้งต่อปี โดยไม่ดูจำนวนเงินว่าแต่ละครั้งจะมีมูลค่าเท่าไร
2.มีเงินเข้าบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี และมีจำนวนเงินที่เข้าบัญชีรวมเกิน 2 ล้านบาทต่อปี โดยต้องเข้าเงื่อนไขทั้ง 2 อย่าง จึงจะถูกส่งข้อมูลธุรกรรมให้กับสรรพากร
โดยนับรวมเป็นรายปี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 ธันวาคม ของปีนั้นๆ ซึ่งรายการฝากและโอนเงินเข้าบัญชีที่นับเป็นเงินเข้าบัญชี ประกอบด้วย ยอดเงินฝากเข้าบัญชีทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นเคาน์เตอร์หรือตู้ฝากเงิน ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชี ทั้ง Auto Transfer / Online / iBanking ยอดรับโอนเงินเข้าบัญชีจากเครื่องรูดบัตร โดยนับตามจำนวนครั้งที่รูด ยอดเงินฝากเช็คเข้าบัญชี ยอดเงินเข้าบัญชีจากดอกเบี้ย ยอดเงินเข้าบัญชีจากเงินปันผล
อย่างไรก็ตามแม้ว่าสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลยอดเงินเข้าบัญชีให้แก่สรรพากร แต่ข้อมูลเหล่านี้ทางสรรพากรไม่สามารถนำมาเก็บภาษีได้ ต้องนำไปประมวลผลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ ด้วย (อ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ภาษี E-PAYMENT ได้จากบทความ “ทางออก…คลินิกหมอฟัน รู้ทัน! ภาษี E-PAYMENT”)
ใช้ระบบ Big Data & Data Analytics
สรรพากรใช้ระบบ Big Data & Data Analytics เพื่อคัดกรองว่า ผู้ประกอบการใดบ้างจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหลีกเลี่ยงภาษี และกลุ่มใดจัดอยู่ในกลุ่มดี ยกตัวอย่างกรณีดังที่มีผู้ค้าออนไลน์โพสต์ผ่านเฟชบุ๊กของตนเอง ถึงเรื่องราวการถูกกรมสรรพากรส่งจดหมายแจ้งยื่นภาษีย้อนหลังปี พ.ศ.2563 ยอดรวมกว่า 90,000 บาท นั่นก็มาจากระบบนี้นั่นเอง
หรือตัวอย่างของการใช้ระบบ Data Analytic เช่น สรรพากรเชื่อมข้อมูลกับการไฟฟ้า การประปา ซึ่งหากพบว่าการใช้ไฟฟ้ากับการใช้น้ำประปาของเราใกล้เคียงกับคนที่ทำธุรกิจแบบเดียวกับเรา แต่เขาแจ้งรายได้สูงกว่า สรรพากรก็อาจสงสัยว่าเราแจ้งรายได้ไม่ครบถ้วนได้
ใช้ www.rd.go.th
โดยทางสรรพากรได้เปิดเมนู “การแจ้งเบาะแส/ข้อมูลแหล่งภาษี” ไว้เพื่อให้ประชาชนช่วยกันตรวจสอบกิจการหรือธุรกิจที่เสียภาษีไม่ถูกต้อง
สุ่มตรวจ
โดยการสุ่มตรวจจากหน้าเว็บต่างๆ เช่น facebook ที่มีการโพสต์โชว์เงินโอนเข้า รายได้จากการขายสินค้าจำนวนมาก สรรพากรจะสุ่มตรวจบุคคลเหล่านี้ว่ามีรายได้แล้วได้มีการยื่นแบบฯ เสียภาษีบ้างหรือไม่ หากพบว่าไม่มีการยื่นแบบฯ หรือเสียภาษีเลย อาจถูกเรียกพบได้
ดึงข้อมูลจากเว็บต่างๆ หรือ Web Scraping
สรรพากรนำเทคโนโลยีดึงข้อมูลจากเว็บเพจต่างๆ หรือ Web Scraping เข้ามาช่วยตรวจสอบกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ ทั้งในรูปแบบที่ค้าขายปกติ และรูปแบบไลฟ์สดเพื่อขายสินค้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น สรรพากรจะดึงข้อมูล ราคา และจำนวนสินค้าที่ขายได้ตามเว็บ e-commerce ทั้งหลาย เช่น Shopee, Lazada
หรือรู้ข้อมูลของผู้จ่ายเงินได้ให้เรา อย่างเช่น เราขายของผ่านเว็บ e-commerce เช่น Shopee, Lazada ทางเว็บ e-commerce จะหักค่าบริการในอัตราที่กำหนดจากยอดขายของเรา เช่น 20% หรือ 30% ของยอดขาย พร้อมกันนั้นทางเว็บ e-commerce ก็จะส่งใบกำกับภาษีให้กับเราและส่งให้สรรพากรด้วย
ได้รับเป็นเงินสด ไม่ผ่านธนาคาร สรรพากร รู้ได้ยังไงว่ามีรายได้
ในกรณีที่เราได้รับเงินค่าจ้างเป็นเงินสดไม่ผ่านธนาคาร หรือรายได้จากช่องทางอื่นๆ ทางกรมสรรพากรก็ยังสามารถตรวจสอบได้ว่าเรามีรายได้ ซึ่งทางเว็บไซต์ iTAX ได้ให้ข้อมูลไว้ว่า
- หากเราได้รับเงินค่าจ้างโดยทางบริษัทผู้ว่าจ้างได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย เมื่อทางบริษัทผู้ว่าจ้างได้ทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องนำส่งเงินภาษีที่หักให้แก่กรมสรรพากร รวมถึงแจ้งข้อมูลของเรา (ในฐานะผู้ได้รับเงิน) ทั้งชื่อ เลขบัตรประชาชน/ เลขทะเบียนนิติบุคคล ไปในแบบที่นำส่งภาษีที่หักไว้ดังกล่าวด้วย นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทางสรรพากรทราบรายได้ของเรา
- กรณีที่ผู้จ่ายเงินให้แก่เรา ถูกสรรพากรตรวจสอบเอกสาร ผู้ประกอบการจะต้องมีการนำส่งรายการบันทึกค่าใช้จ่ายของบริษัทให้กรมสรรพากร ซึ่งในบันทึกนั้นจะต้องมีการระบุค่าใช้จ่ายต่างๆ ไว้โดยละเอียด ส่งพร้อมเอกสารที่ใช้เป็นหลักฐานถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง ประกอบด้วย
- เอกสารการรับเงินของผู้รับเงิน
- ใบกำกับภาษี หรือใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อบุคคลอื่น เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าโทรศัพท์ รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สามารถใช้เป็นหลักฐานได้ว่า กิจการนั้นๆ เป็นผู้จ่ายเงินจริง
- ใบสำคัญจ่าย (Payment Voucher) พร้อมหลักฐานการจ่ายเงิน เช่น หลักฐานการโอนเงิน, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนในกรณีที่จ่ายเป็นเงินสด
ดังนั้น ถึงแม้จะได้รับเป็นเงินสดและไม่ได้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ก็ยังมีโอกาสที่สรรพากรจะเห็นข้อมูลรายได้ของเราและสามารถทราบว่าเรามีรายได้นั่นเอง
โดยหลายคนอาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะถูกสรรพากรเรียกพบ และต้องเสียภาษีย้อนหลังแบบไม่รู้ตัว เนื่องจากไม่แน่ใจว่าได้เผลอทำอะไรผิดพลาดไปบ้าง วิธีทบทวนสิ่งที่ทำไปแล้ว สามารถทำได้โดยการประเมินเบื้องต้นตามช่องทางที่สรรพากรรู้รายได้ของเรา เช่น
แล้วกดประมวลผลเพื่อเช็กว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกสรรพากรเรียกพบหรือไม่ได้เลย ซึ่งใครที่อยากทดลองแบบประเมินสามารถกดเพิ่มเพื่อน แล้วโหลดแบบทดสอบไปใช้ได้ ฟรี!
สรุป
สรรพากรรู้ข้อมูลรายได้ของประชาชนไทยได้จากหลากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นผ่านข้อมูลที่ธนาคาร หรือสถาบันการเงินเป็นผู้ส่งให้ ใช้ระบบ Data analytics รู้ข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ที่มีผู้มาแจ้งเบาะแส เจ้าหน้าที่เข้าสุ่มตรวจสอบ ข้อมูลจาก Web Scraping หรือแม้แต่รับรู้รายได้ของเราผ่านทางลูกค้าหรือผู้จ่ายเงินให้เรา
ดังนั้น หากเราคิดว่าไม่อยากเสียภาษี และเลือกไม่ยื่นภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน และเมื่อเวลาผ่านไปและมีสรรพากรมาตรวจสอบ (สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้นานสุดถึง 10 ปี) นอกจากภาษีที่ต้องชำระ อาจจะมีภาระค่าปรับที่ทำให้เราต้องเสียมากกว่าค่าภาษีไปอีกเยอะ
วิธีป้องกันปัญหาไม่อยากให้สรรพากรเรียกพบที่ดีที่สุดคือ เข้าใจถึงเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา และวางแผนภาษีเพื่อให้ประหยัดภาษีได้อย่างถูกกฎหมาย และยื่นภาษีให้ถูกต้องครบถ้วนนั่นเองค่ะ (อ่านเพิ่มเติมบทความ “รู้ก่อนวางแผน ภาษีแม่ค้าออนไลน์ ยังไงให้เป๊ะ!“)