ตามหาพ่อค้าแม่ค้า online ที่อยากสัมมนาภาษี-บัญชี

เข้าร่วมไขความลับเรื่อง ภาษี-บัญชี รู้ทันสรรพากรภายใน 1 วัน
  ในงานสัมมนา “รู้ ครบ จบหมด บัญชีภาษี ธุรกิจขายของ online”

ค่าสัมมนา
4,900 บาท

เกษตรกรต้องเสีย ภาษีธุรกิจเกษตร หรือไม่

ภาษีธุรกิจเกษตร

ประเทศไทยมีรากฐานทางด้านการเกษตรมาอย่างยาวนาน ซึ่งในอดีตเกษตรกรจะไม่มีต้นทุนทางการทำเกษตรมากนักและไม่มีการใช้สารเคมี แต่ในปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่มีการใช้สารเคมีกันอย่างแพร่หลาย เพื่อให้ได้ผลผลิตเป็นจำนวนมากในการแข่งขันกับตลาด จึงทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อนำผลผลิตออกขายพอหักต้นทุนจะได้กำไรเพียงเล็กน้อย แต่เกษตรกรยังคงเสีย ภาษีธุรกิจเกษตร เท่าเดิม

โดยปัจจุบันการเกษตรในประเทศไทย มีตัวบทกฎหมายทางด้านภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องหลายประการ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ดิน  ซึ่งเกษตรกรจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับ ภาษีธุรกิจเกษตร ให้มากขึ้น

ภาษีเงินได้เป็น ภาษีธุรกิจเกษตร ที่เกษตรกรต้องรู้

ภาษีเงินได้ เป็นภาษีที่ทางกรมสรรพากรประเมินและจัดเก็บ โดยสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 

ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรส่วนใหญ่ที่มีเงินได้จากการขายผลผลิตทางการเกษตร จำเป็นต้องเสียภาษีตามมาตรา 40(8) เงินได้จากธุรกิจการเกษตรที่ได้มาโดยมุ่งเน้นการค้าหรือหาผลกำไร ซึ่งเกษตรกรที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา สามารถคำนวณภาษีเงินได้เพื่อนำไปเสียภาษีเบื้องต้นโดยการนำเงินได้มาหักออกด้วยค่าใช้จ่าย ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายมี 2 วิธีด้วยกันคือ

1.การหักค่าใช้จ่ายตามจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งจะต้องมีการจัดทำบัญชีและเอกสารเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน

2.การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60 ของรายได้ทั้งหมดตลอดทั้งปี เมื่อหักแล้วจึงนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ตัวอย่างเช่น คุณบี ปลูกผักสลัดส่งขายรายได้ (มีเงินได้) ปีละ 1,000,000 บาท แต่มีต้นทุนในการผลิตจริง 800,000 บาท ซึ่งคุณบีสามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1 เลือกหักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริง 800,000 บาท แต่จะต้องทำบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายให้ครบถ้วน เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ายาสารเคมี ฯลฯ

วิธีที่ 2 เลือกหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาในอัตราร้อยละ 60 ซึ่งจะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้เพียง 600,000 บาท แต่สามารถลดภาระการทำบัญชีและเอกสารที่เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายลงได้

ภาษีเงินได้นิติบุคคล

สำหรับเกษตรกรที่ทำธุรกิจการเกษตรที่จดทะเบียนบริษัทเป็นนิติบุคคล ต้องมีหน้าที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยการเสียภาษีธุรกิจเกษตรมีดังนี้

1.คำนวณรายได้และรายจ่ายให้ใช้เกณฑ์สิทธิ โดยนำรายได้ที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีใด แม้ว่าจะยังไม่ได้รับชำระในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายได้ในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น และให้นำรายจ่ายที่เกี่ยวกับรายได้นั้น แม้ว่ายังไม่ได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น มารวมคำนวณเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชี 

2.ฐานภาษี ได้แก่ กำไรสุทธิซึ่งคำนวณได้จากรายได้จากกิจการ หรือเนื่องจากกิจการที่กระทำในรอบระยะเวลาบัญชีหักด้วยรายจ่ายตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ทวิ และมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ “แนวทางวางแผน ภาษีนิติบุคคล”

และการเสียภาษีธุรกิจเกษตรจะต้องจ่าย 2 ช่วง คือ    

– ภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด.51) สำหรับรอบครึ่งปี โดยต้องยื่นและชำระภาษีภายใน 2 เดือนนับจากวันสุดท้ายของ 6 เดือนแรกของรอบระยะเวลาบัญชี

– ภาษีสิ้นปี (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบสิ้นปี โดยต้องยื่นแบบและชำระภาษีภายใน 150 วันนับจากวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

ภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยปกติผู้ประกอบธุรกิจการเกษตร จะได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้ว โดยเป็นไปตามเงื่อนไข คือ 

1.การขายพืชผลทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น พืชผล กิ่ง ใบ  หน่อ หัว ฝัก เมล็ด หรือส่วนอื่นๆ ของพืช และวัตถุพลอยได้จากพืช ทั้งที่อยู่ในสภาพของสดหรือรักษาสภาพไว้เพื่อมิให้เสียเป็นการชั่วคราวในระหว่างขนส่งหรือเพื่อขาย

2.การขายข้าวสารหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการสีข้าว เช่น แกลบ รำ ไม่ว่าจะใส่ในบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบใดก็ตาม

3.ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรขนาดย่อมที่มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 1,800,000 บาท

ต่อปี 

แต่กรณีที่จะจด VAT นั้น จะเป็นธุรกิจเกษตรเพื่อการส่งออก ซึ่งจะได้ VAT 0% จากนั้นสามารถนำต้นทุนบางอย่างมาเครดิตภาษีซื้อ แล้วขอภาษีซื้อคืนเป็นเงินได้  

 

ภาษีที่ดินทางการเกษตร

เกษตรกรที่มีที่ดินเป็นผู้ครอบครองที่มีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ก็ตามรูปแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีหน้าที่เสียภาษีที่ดิน มีชื่ออยู่ในทะเบียนเอกสารสิทธิหรือปรากฏเข้าครอบครอง เจ้าของที่ดิน เช่น เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรที่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน หรือผู้ครอบครองและผู้ถือประโยชน์ในที่ดินของรัฐ เช่น เกษตรกรและผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรที่ใช้ที่ดินของรัฐ

กรณีได้ยกเว้นภาษีที่ดินทางการเกษตร คือ ถ้าที่ดินทางการเกษตรเป็นบุคคลธรรมดา ได้ใช้ที่ดินในการทำการเกษตรในเขตปกครองส่วนท้องถิ่นใด ให้ได้รับการยกเว้นภาษีถ้าราคาประเมินที่ดินไม่เกิน 50 ล้านบาทแรกต่อเขตปกครองนั้น หากมีส่วนเกินจึงค่อยนำมาคิดภาษี ดังรายละเอียดอัตราภาษีต่อไปนี้ 

อัตราภาษีธุรกิจเกษตรในส่วนที่ดินทำการเกษตรสำหรับบุคคลธรรมดา

0-75 ล้านบาท = 0.01% (ล้านละ 100 บาท) [ราคาประเมินที่ดิน 0-50 ล้านบาท ได้ยกเว้นภาษี] 

มากกว่า 75-100 ล้านบาท = 0.03% (ล้านละ 300 บาท)

มากกว่า 100-500 ล้านบาท = 0.05% (ล้านละ 500 บาท)

มากกว่า 500-1,000 ล้านบาท = 0.07% (ล้านละ 700 บาท)

1,000 ล้านบาทขึ้นไป = 0.10% (ล้านละ 1,000 บาท)

อัตราภาษีธุรกิจเกษตรในส่วนที่ดินทำการเกษตรสำหรับนิติบุคคล

0-75 ล้านบาท = 0.01% (ล้านละ 100 บาท)

มากกว่า 75-100 ล้านบาท = 0.03% (ล้านละ 300 บาท)

มากกว่า 100-500 ล้านบาท = 0.05% (ล้านละ 500 บาท)

มากกว่า 500-1,000 ล้านบาท = 0.07% (ล้านละ 700 บาท)

1,000 ล้านบาทขึ้นไป = 0.10% (ล้านละ 1,000 บาท)

 

ข้อสรุปเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเกษตร จะเห็นได้ว่าเกษตรกรจำเป็นต้องเสียภาษีในกลุ่มต่างๆ เช่น 

ภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีที่ดิน ทั้งแบบบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ก็จะมีกฎระเบียบอัตราภาษีที่กำหนดไว้ตามสัดส่วน 

ทั้งนี้เกษตรกรควรพิจารณาถึงรายได้และการเสียภาษีให้มีความสอดคล้องกัน และสิ่งสำคัญคือการลดต้นทุนของเกษตรกรเพื่อเพิ่มผลกำไรในการผลิตให้มากขึ้น จะช่วยบรรเทาภาระด้านค่าใช้จ่ายให้น้อยลง ด้วยเหตุนี้หากเกษตรกรท่านใดมีข้อสงสัยในด้านภาษีและการบัญชี สามารถปรึกษานักบัญชีได้เพื่อให้การดำเนินธุรกิจการเกษตรมีความถูกต้องและคล่องตัวยิ่งขึ้น